กศน.ตำบลชัยนาม
กศน.ตำบลชัยนาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านบึงพร้าว ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับประชาชนเพื่อประชาชนได้ใช้ในการแสวงหาความรู้เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ หลักการทำงาน กศน. ตำบล ยึดชุมชนเป็นฐานในการทำงานและการเรียนรู้ โดยใช้ต้นทุนของชุมชน เช่น อาคาร สถานที่ แหล่งวิทยาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี มีการประสานเครือข่ายในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในชุมชน/สังคม เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล ทั้งในฐานะผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา บูรณาการกระบวนการเรียนรู้ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน มีคณะกรรมการ กศน. ตำบล ที่เป็นคนในชุมชนให้การส่งเสริมสนับสนุน ติดตามดูแลและร่วมประเมินผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
เดิม กศน.ตำบลชัยนาม มีชื่อว่าศูนย์การเรียนชุมชนตำบลชัยนาม สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดพิษณุโลก กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2539 มีผู้ทำการสอน คือ นางปณิตา กล้าหาญ สถานที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนครั้งแรกคือ ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลชัยนาม ซึ่งนายสถิต มานักฆ้อง ครั้งก่อนเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลชัยนาม ได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ให้ใช้ชั่วคราว ทาง กศน.อำเภอวังทองได้เชิญนายอำเภอวังทอง คือนายเสรี เสือแสงทอง มาเป็นประธานทำพิธีเปิดอาคารที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2541 จึงใช้เป็นอาคารเรียนรู้ศูนย์การเรียนชุมชนตำบลชัยนาม และพอปี พ.ศ.2550 ผู้ใหญ่สถิต มานักฆ้อง ได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลชัยนามจนถึงปัจจุบัน อาคารที่ทางกำนันได้ให้ความอนุเคราะห์ได้มีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก สถานที่ดังกล่าวจึงคับแคบ ทาง กศน.อำเภอวังทอง จึงทำหนังสือถึงท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลชัยนาม เพื่อขออนุญาตใช้อาคารที่ทำการออมทรัพย์ของกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลชัยนาม(อยู่ด้านหลังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชัยนาม) เป็นสถานที่จัดกิจกรรรมการเรียนการสอน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบันและได้เปลี่ยนชื่อ จากศูนย์การเรียนชุมชนตำบลชัยนาม มาเป็นชื่อ กศน.ตำบลชัยนาม จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะอาคารของ กศน.ตำบลชัยนาม เป็นเอกเทศ ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตผสมไม้ชั้นเดียว ภายในประกอบด้วยศูนย์การเรียนรู้ 4 ศูนย์ ได้แก่
1) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ เป็นศูนย์กลางการส่งเสริม จัดกระบวนการการเรียนรู้ และหน่วยประสานงานแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียงภายในชุมชน ดำเนินงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาจักร (กอ.รมน.)
2) ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยบูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
3) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งบริหารจัดการฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับ กศน. และชุมชนเพื่อให้มีความรู้และรับรู้ที่เท่าทันปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคดิจิทัล
4) ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีคุณภาพที่สอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษา โดยยึดชุมชนเป็นฐานในการดำเนินงาน โดย กศน.ตำบลมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก
ผู้ให้ข้อมูล : นางธนิดา พรมช่วย
ผู้เรียบเรียง : นางธนิดา พรมช่วย
ผู้ถ่ายภาพประกอบ : นางธนิดา พรมช่วย