สถานที่ ที่ตั้งของภูมิปัญญา เลขที่ 85 หมู่ที่ 1 บ้านไชยนาม ต.ชัยนาม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

การทำลูกประคบสมุนไพร

ประวัติข้อมูลส่วนตัวของภูมิปัญญา

นางเพียงใจ ยาห้องกาศ ก่อนเกษียณอายุราชการได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยการพยาบาล สังกัดวิทยาลัยการสาธารณสุขสิริธร จังหวัดพิษณุโลก ระยะเวลาการปฏิบัติงานรวม 15 ปี ได้นำองค์ความรู้และทักษะวิชาชีพแพทย์แผนไทยที่ได้รับจากการศึกษามาใช้ในการปฏิบัติงานโดยเป็นผู้ช่วยสอน วิทยากรรองในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะในศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยให้กับนักศึกษา ผู้อบรมการแพทย์แผนไทยตลอดจนการออกไปให้ความรู้ การบริการวิชาการให้กับประชาชนทั่วไปผู้ประกอบการอาชีพอิสระ กลุ่มผู้สูงอายุ สามารถเพิ่มรายได้เป็นอาชีพเสริมในครัวเรือน เช่น การทำลูกประคบสมุนไพร,ยาดมโบราณ,การทำผลิตภัณฑ์ผงพอกหน้า,แชมพูสมุนไพร,การนวดไทย เป็นต้น

ประวัติความเป็นมาของภูมิปัญญา

ลูกประคบสมุนไพร คือ ผ้าที่ใช้สมุนไพรหลายอย่างมาห่อรวมกัน นำมานึ่งให้ร้อน เป็นวิธีการ บำบัดรักษาของการแพทย์แผนโบราณ แล้วประคบบริเวณที่เจ็บปวด เคล็ดขัดยอก โดยอาศัยความร้อนและ คุณสมบัติสมุนไพร ทำให้อาการดีขึ้น คนไทยนิยมใช้ “ลูกประคบสมุนไพร” รักษากันมาแต่โบราณจนถึง ปัจจุบัน โดยมักใช้รักษาควบคู่กับการนวดไทย คือ หลังจากนวดเสร็จแล้วจึงประคบนาบไปตามร่างกาย ผล ของความร้อนที่ได้จากการประคบ ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว และตัวยาสมุนไพรร้อนๆ ซึมผ่านชั้น ผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยทำให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดการเกร็งตัวของ กล้ามเนื้อ ลดปวด ช่วยลดการบวมที่เกิดจาการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ และช่วยเพิ่มการ ไหลเวียนของโลหิต

วัตถุดิบและอุปกรณ์

มีผ้าดิบสำหรับห่อลูกประคบ,เชือกด้าย,ไพลเหลือง,ขมิ้นชัน,ตะไคร้,ผิวมะกรูด,ใบมะขาม,ใบส้มป่อย, เกลือแกง,การบูร

วิธีทำ

นำสมุนไพรแต่ละชนิดมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกพอแหลกใส่เกลือ พิมเสน การบูร คลุกเคล้าให้เข้ากัน แบ่งเป็น 2-3 ส่วน นำมาวางตรงกลางของผ้าที่เตรียมไว้ เริ่มต้นจับมุมผ้าที่ละ 2 มุม ขึ้นมาทบกัน จับจนครบทั้ง 4 มุม ให้รวบมุมผ้าที่ละมุม อีกครั้งหนึ่งจนครบอีกทั้ง 4 มุม แต่งชายผ้าให้เรียบร้อย ซ้อนกันเป็นชายเดียวจากนั้นค่อยๆ จัดแต่งลูกประคบให้เป็นรูปทรงกลม มัดด้วยเชือกที่ทำเป็นห่วงคล้อง แล้วมัดปมให้แน่น การทำด้ามจับ โดยการจับชายผ้าที่เหลือมาซ้อนกันให้เรียบร้อย เสร็จแล้วพับเข้าหากันเพื่อเก็บซ่อนชายผ้าทั้งสองด้าน แล้วให้พับปลายลงมากะประมาณความยาวก้านให้สวยงาม ม้วนทบด้ามให้เรียบร้อย ใช้ปลายเชือกเส้นเดิมผูกแบบเงื่อนตายให้แน่น อีกครั้งหนึ่ง ซ่อนปลายเชือกไว้ในซอกผ้าตรงรอยพับที่เป็นด้ามจับ เพื่อให้ลูกประคบมีความแข็งแรงสวยงาม คงทนต่อการใช้งาน

ปัจจุบันศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังทอง ได้ประสานส่งเสริมสนับสนุน ให้เป็นวิทยากร ด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจการทำลูกประคบสมุนไพร และเพื่อต้องการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สืบทอดต่อไป

ผู้ให้ข้อมูล : นางเพียงใจ ยาห้องกาศ

ผู้เรียบเรียง : นางธนิดา พรมช่วย

ผู้ถ่ายภาพประกอบ : นางธนิดา พรมช่วย