ประวัติโรงเรียน

ประวัติโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่


    โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่เดิมเปิดเรียนอยู่ระหว่างวัดพระบาทกับวัดมิ่งเมือง (ปัจจุบันวัดทั้งสองได้ขยายเขตเป็นวัดเดียวกัน มีชื่อว่า วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร) ชื่อในสมัยนั้นคือ "โรงเรียนเทพวงศ์" ตามชื่อเจ้าผู้ครองนครแพร่ ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนประมาณก่อน พ.ศ. 2444 หลังจากเกิดกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ พ.ศ. 2445 โรงเรียนเทพวงศ์ได้รับการยกฐานะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดมีชื่อว่า "โรงเรียนตัวอย่างเมืองแพร่" รับนักเรียนได้ประมาณ 200 คน  

ต่อมาในสมัยของพระยานิกรกิตติการ (กั๊ก ศรีเพ็ญ) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่ใหม่ ..ณ..บริเวณตรงข้ามกับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ (คือสถานที่ตั้งโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่) โดยอาศัยแรงงานนักโทษกับช่างไม้พื้นเมืองก่อสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2454 โดยมีวัตถุประสงค์จะสร้างเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นเมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จในปี 2455 จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้รับพระราชทานนามตามใบบอกที่ 213 เลขที่รับ 169 ลงวันที่ 6/5/56 ว่า "โรงเรียนพิริยาลัย" ซึ่งคงอาศัยเค้านามเต็มจาก "เจ้าพิริยะเทพวงศ์" (เจ้าผู้ครองนครแพร่)  


  วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2455 โรงเรียนพิริยาลัยเริ่มเปิดสอน ในฐานะโรงเรียนประจำจังหวัดต่อมาเมืองแพร่ได้รับการยกฐานะเป็น "มณฑลมหาราษฎร์" โรงเรียนพิริยาลัยจังได้เปลี่ยนฐานะเป็นโรงเรียนประจำมณฑลไปด้วย จนเมื่อ พ.ศ. 2469 มณฑลได้ถูกยุบเป็นจังหวัด โรงเรียนพิริยาลัยจึงกลับมาเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดตามเดิม มีชื่อเรียนกในสมัยนั้นว่า "โรงเรียนประจำจังหวัดแพร่พิริยาลัย"


  ในปี พ.ศ. 2477 ทางราชการทหารได้อนุเคราะห์ไม้อาคารที่ทำงาน และบ้านพักจากตำบลเด่นชัยให้แก่โรงเรียน รวมกับเงินที่ได้รับเงินบริจาคสมทบอีกส่วนหนึ่งจากประชาชน นายคำรพ นุชนิยม ศึกษาธิการจังหวัดแพร่ ซึ่งดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในขณะนั้นด้วย ได้ซื้อที่นาติดถนน เพชรรัตน์ (ถนนยันตรกิจโกศล) เป็นที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ ่แล้วสร้างอาคารไม้สองชั้น จำนวน 10 ห้องเรียนขึ้น (ปัจจุบันได้รื้อถอนไปแล้ว) ณ บริเวณที่ตั้งอาคาร 2 (ไชยลังกา) และอาคาร 3 (นิกรกิตติการ) ขณะนี้

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2478 โรงเรียนประจำจังหวัดแพร่พิริยาลัย ได้ย้ายมาเปิดสอนในสถานที่แห่งใหม่ เป็นต้นมา มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6 และในปีนั้นได้เปิดสอบชั้นพาณิชยการปีที่ 5 ด้วย ต่อมาได้ขยายถึงพาณิชยการปีที่ 8  

พ.ศ. 2481 ยุบชันมัธยมพาณิชยการและประถมศึกษา มาเป็นสอนชั้น

พ.ศ. 2500 เปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2503-2505 ยุบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 คงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 หรือ ม.ศ. 1 (มัธยมศึกษาปีที่4) ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือ ม.ศ. 5 (มัธยมศึกษาปีที่ 8)

พ.ศ. 2511 โรงเรียนได้รับพิจารณาให้อยู่ในโครงการโรงเรียนมันธยมศึกษาในชนบท (คมช.)

พ.ศ. 2517 โรงเรียนได้รับพิจารณาให้เข้าอยู่ในโครงการพัฒนาโรงเรียนส่วนภูมิภาค กลุ่มที่ 2 (คมภ.)

พ.ศ. 2530 ได้รับงบประมาณสร้างอาคาร 4 (อาคารเฉลิมพระชนม์ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ)

 

  สถาบันแห่งนี้ได้ฝึกฝนอบรมเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถเป็นคนดีที่ทำประโยชน์แก่สังคม ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน จนเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป จึงทำให้ผู้ปกครองไว้วางใจและนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ได้สนองนโยบายด้านการศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พยายามเร่งรัดพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ จึงมีคติดพจน์ของโรงเรียนไว้ว่า "คุณธรรมเด่น เน้นการศึกษา อนามัยสมบูรณ์ เทิดทูญสถาบัน สัมพันธ์ชุมชน เพิ่มผลสิ่งแวดล้อม"


สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

  เครื่องหมายประจำโรงเรียน เป็นรูปรวงผึ้งติดกับกิ่งไม้ซึ่งมีใบไม้ 3 ใบ ต่อล่างของรวงผึ้ง มีพุทธศาสนสุภาษิตว่า "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ" หมายถึง คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

  รวงผึ้ง หมายถึง ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเราชาวพิริยาลัย ต่างก็มีความขยันขันแข็ง ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน

  ใบไม้ 3 ใบ หมายถึง ท่าทาง - วางตัว - หัวใจ กล่าวคือ ลูกพิริยาลัยทุกคน จะต้องเป็นบุคคลที่มีท่าทางองอาจ สง่างาม บ่งบอกถึงคุณลักษณะของผู้ดี วางตัวถูกกาลเทศะ รู้จักสิ่งใดควรหรือไม่ควร และทุ่มเทหัวใจหรือชีวิตจิตใจให้แก่การเรียนการงาน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความบริสุทธิ์ใจซึ่งกันและกัน

  สีประจำโรงเรียน คือ สีขาว - แดง

  สีขาว หมายถึง ความสะอาดบริสุทธิ์

  สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ องอาจ อดทน

  ปณิธานของโรงเรียน (Motto) "คุณธรรมเด่น เน้นวิชาการ ประสานสามัคคี" 

  อัตลักษณ์ (Identity) "สามัคคี มีความรู้ คู่คุณธรรม" 

  เอกลักษณ์ (Uniqueness) "ฉลาดสะสม นิยมสามัคคี"


ตราสัญลักษณ์