หน่วยที่ 4

Google Forms

สร้างไฟล์แบบสอบถามและแบบทดสอบ

Google Forms เป็นอีกหนึ่งในการบริการเกี่ยวกับงานเอกสาร ที่สร้างแบบสอบถามที่สามารถกำหนดเอง เลือกคำถามได้หลากหลายประเภท สามารถลากและวางเพื่อจัดเรียงคำถามและปรับแต่งค่าได้ง่ายเหมือนการวางรายการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ในสเปรดชีต (Google Sheets) และวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันทีใน ท่านสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น การทำแบบทดสอบ และแบบฟอร์มเพื่อขอเก็บข้อมูลประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

การเริ่มใช้งาน Google sheets

เมื่อท่านสร้างไฟล์ Google Forms โดยเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งจาก วิธีการเข้าใช้งาน ที่ท่านได้เรียนรู้มาเรียบร้อยแล้วนั้นจะพบกับหน้าเอกสารที่ท่านสามารถสร้างแบบฟอร์ม เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลต่างๆ โดยท่านสามารถพิมพ์คำถามที่ท่านต้องการเก็บข้อมูลลงในแบบฟอร์ม ไม่จำกัดจำนวนข้อ และสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายประเภท

โดย Google Forms ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการจัดการศึกษา

มักใช้ในการสร้างแบบฟอร์มเพื่อขอเก็บข้อมูลและการสร้างแบบทดสอบเพื่อเก็บคะแนน

การใช้งาน Google Forms เพื่อใช้เก็บข้อมูล

เมื่อท่านเพิ่มชื่อไฟล์ด้านบนเรียบร้อยแล้ว ท่านสามารถพิมพ์ชื่อแบบสอบถามด้านล่างและคำอธิบายเพื่อบอกเหตุผลในการสร้างแบบฟอร์มนี้ หลังจากนั้นให้เริ่มพิมพ์คำถามที่ต้องการเก็บข้อมูล โดยท่านสามารถเพิ่มคำอธิบายเพื่อความชัดเจนของคำถามได้ด้วยการกด จุดสามจุด ที่มุมล่างขวาของคำถาม หากคำถามนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ให้ท่านเลื่อนเปิดช่อง "จำเป็น" ให้จุดวงกลมย้ายไปอยู่ด้านขวาด้วย

จากรูปภาพด้านบน รูปแบบการตอบคำถาม เป็นแบบหลายตัวเลือก แต่ท่านต้องการให้ผู้ตอบพิมพ์ตอบสั้นๆ ท่านสามารถเปลี่ยนรูปแบบการตอบได้จากแถบตัวเลือกด้านข้าง หากต้องการเพิ่มข้อคำถามให้คลิกเครื่องหมาย +

หากท่านต้องการแบ่งการตอบคำถามเป็น 2 ส่วนเช่น ข้อมูลนักเรียน และ ข้อมูลผู้ปกครอง ท่านสามารถกดเลือกจากแถบเมนูด้านข้างรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้าสองอัน แล้วใส่หัวเรื่องในแต่ละส่วนได้ หลังจากนั้นจึงกดเครื่องหมาย + เพื่อสร้างคำถาม

ในส่วนของการตอบนั้นมีหลากหลายประเภท ท่านสามารถเลือกรูปแบบได้ตามความต้องการของคำตอบ และโดยส่วนใหญ่ รูปแบบการตอบที่มักใช้ในการจัดการศึกษาจะมีอยู่ 4 ประเภท คือ แบบคำตอบสั้น ๆ แบบหลายตัวเลือก แบบเลื่อนลง และแบบตารางตัวเลือกหลายข้อ

เมื่อมีการส่งข้อมูลกลับมา ท่านสามารถตรวจสอบได้จากแถบการตอบกลับ โดยท่านสามารถเลือกดูการเก็บคำตอบได้สามรูปแบบคือ ข้อมูลสรุป คำถาม และแยกรายการ

โดยข้อมูลสรุป จะเป็นการสรุปผลแบบรวม เช่น คำถามข้อที่ 1 มีใครตอบว่าอย่างไรบ้าง ข้อ 2 มีคนตอบว่าอย่างไรบ้าง สรุปครบทุกข้อในหน้าเดียว ส่วนสรุปแบบคำถาม เราจะต้องเลือกคำถามก่อนจึงจะสามารถเห็นคำตอบในแต่ละข้อได้

ส่วนการสรุปแบบสุดท้าย แยกคำตอบ หรือแยกเป็นรายบุคคล คือ ผู้ต้อบ 1 คน ตอบคำถามแต่ละข้อว่าอย่างไรบ้าง

การใช้งาน Google Forms เพื่อสร้างแบบทดสอบ

เมื่อเข้าสู่ Google Forms ให้ท่านพิมพ์ชื่อไฟล์ที่ท่านต้องการใช้เป็นแบบทดสอบ พิมพ์หัวข้อแบบทดสอบและคำอธิบายวิธีการสอบให้เรียบร้อย หลังจากนั้นให้คลิกที่รูป เฟือง เพื่อเข้าสู่การตั้งค่าแบบทดสอบ

ในแถบแบบทดสอบให้เลื่อนเปิด "ทำเป็นแบบทดสอบ" เพื่อตั้งค่าให้แบบฟอร์มนี้ กลายเป็นแบบทดสอบที่สามารถเก็บคะแนนได้ และท่านยังสามารถตั้งค่าได้อีกด้วยว่า หากผู้ตอบทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว สามารถดูคะแนนได้เลยหรือไม่ และ สามารถดูคำถามคำตอบที่ผู้ตอบ ตอบถูกหรือตอบผิด ท่านสามารถกำหนดได้จากการตั้งค่าในหน้านี้ แล้วกดบันทึก

ยังอยู่ในส่วนของการตั้งค่า(รูปเฟือง) ในแทบเมนู "ทั่วไป" ท่านสามารถกำหนดค่าต่างๆ ได้ คือ

  1. การรวบรวมอีเมล์ของผู้ตอบแบบทดสอบ

  2. การแจ้งอีเมล์คำตอบของผู้ทำแบบทดสอบให้แก่ผู้ที่ทำการทดสอบ

  3. การจำกัดจำนวนครั้งในการทำแบบทดสอบเพียง 1 ครั้ง

  4. การที่ผู้ตอบสามารถแก้ไขคำตอบ ดูแผนภูมิและดูข้อความการตอบกลับได้

ยังอยู่ในส่วนของการตั้งค่า(รูปเฟือง) ในแทบเมนู "'งานนำเสนอ" ท่านสามารถกำหนดค่าต่างๆ ได้ คือ

  1. แสดงแถบความคืบหน้าหากข้อสอบมีหลายส่วน

  2. สับเปลี่ยนลำดับของคำถาม คือการสุ่มลำดับของคำถาม

  3. แสดงลิงก์เพื่อส่งการตอบกลับอื่น (จะสามารถใช้ฟังก์ชั่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อท่านไม่ได้จำกัดให้ส่งคำตอบเพียง 1 ครั้ง) นั่นคือผู้ตอบสามารถกลับไปตอบใหม่ได้เรื่อยๆ

  4. ข้อความยืนยัน คือ การแสดงข้อความเมื่อผู้ตอบส่งคำตอบเรียบร้อยแล้ว

ต่อไปเป็นการสร้างคำถามในแบบทดสอบ โดยตัวเลือกในการสร้างคำตอบมีหลายรูปแบบ ท่านสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักทำเป็นแบบเลือกตอบเพื่อความสะดวกในการนับคะแนน เมื่อท่านกำหนดการตั้งค่าให้เป็นแบบทดสอบแล้ว ท่านสามารถพิมพ์คำถาม และคำตอบได้เลย

เมื่อพิมพ์คำถามและคำตอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการเฉลย โดยเริ่มจากการเปิดความจำเป็นในการตอบก่อน แล้วจึงคลิกที่ "เฉลยคำตอบ"

ให้เราเลือกคำตอบที่ถูกต้อง พร้อมทั้งใส่คะแนน และกด เสร็จสิ้น เป็นอันจบการทำข้อสอบข้อที่ 1

จะเห็นได้ว่า จะมีเครื่องหมายถูก ปรากฎขึ้นในคำตอบที่ถูก โดยที่ท่านสามารถสสุ่มคำตอบได้ โดยการกด จุดสามจุดมุมขวาล่างแล้วเลือก "สลับลำดับของตัวเลือก" ถ้าต้องการเพิ่มข้อให้กดเครื่องหมาย + ด้านข้าง

เมื่อทำข้อสอบจนครบ 10 ข้อแล้ว ท่านสามารถส่งที่อยู่เว็บไซต์ของแบบทดสอบได้โดยการ คัดลอกที่อยู่จากด้านบน ตั้งแต่ต้น จนถึงก่อนคำว่า /edit แล้วส่งต่อให้กับผู้ทำแบบทดสอบได้เลย

เมื่อผู้สอบทำแบบทดสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากการตั้งค่าด้านบน ทำให้ผู้ทดสอบสามารถดูคะแนนได้ทันที พร้อมทั้งรับทราบข้อที่ทำได้ถูกต้องและไม่ถูกต้อง

ในส่วนของผู้สร้างแบบทดสอบนั้น เมื่อได้รับคำตอบเรียบร้อยแล้ว สามารถดูคำตอบของผู้ทำแบบทดสอบได้จากแถบ "การตอบกลับ" โดยสามารถแยกดูได้เป็น 3 แบบ คือ แบบข้อมูลสรุป แบบคำถาม และแบบแยกรายการ

การดูข้อมูลการตอบกลับแบบข้อมูลสรุปนััน ท่านสามารถ เห็นค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน และช่วงคะแนนที่ผู้ตอบแบบทดสอบตอบ โดยสามารถดูได้ในแต่ละข้อว่า คำตอบแต่ละคำตอบมีผู้ตอบข้อนั้นกี่คน อย่างในรูปภาพด้านล่างข้อ 1 มีผู้ตอบคำตอบข้อที่ 2 = 1 คน และ เลือกตอบข้อที่ 3 = 1 คน

การดูข้อมูลการตอบกลับแบบคำถาม ท่านจะต้องเลือกคำถามที่ท่านต้องการรู้ทางด้านบนก่อน แล้วจึงจะเห็นว่า ในข้อนั้นๆ มีผู้ตอบถูกกี่คน และตอบผิดกี่คน เลือกคำตอบนั้น กี่คน

และการดูข้อมูลตอบกลับแบบสุดท้ายคือ แบบแยกรายการ จะเป็นการดูการตอบคำถามเป็นรายบุคคล ว่าผู้สอบนั้น ข้อที่ 1 เลือกคำตอบอะไร ข้อที่ 2 เลือกข้อไหน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า Google Forms นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยการจัดการศึกษาให้มีความทันสมัย เหมาะกับยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน