การเมือง

การปกครองไทย

คำอธิบายรายวิชา 

          ศึกษาความรู้พื้นฐานการเมืองการปกครอง วิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย ความเป็นมาและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน วิวัฒนาการการปกครองท้องถิ่นของไทย แนวคิดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ โครงสร้างและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันวิเคราะห์ความสัมพันธ์และปัญหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในปัจจุบัน

วิเคราะห์ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญในประเทศไทยที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยพร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเห็นคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดยใช้กระบวนการกลุ่ม กระบวนการทางเทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูล การศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ

          เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจภูมิหลังและพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของไทย องค์กรการปกครองท้องถิ่นในชุมชนของตน รู้จักแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาทางการเมืองของประเทศพร้อมเสนอแนวทางแก้ไข เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและตระหนักถึงความสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ผลการเรียนรู้

1. มีความรู้ความเข้าใจวิวัฒนาการทางการเมืองและการปกครองของประเทศไทย

2. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน

3. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา รูปแบบ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในปัจจุบัน

4. วิเคราะห์ความสัมพันธ์และปัญหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในปัจจุบัน

5. วิเคราะห์ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้

รวมทั้งหมด  5  ผลการเรียนรู้


หน่วยการเรียนรู้

หน่วยการเรียนรู้ที่  ๑  รูปแบบการปกครองของรัฐ

หน่วยการเรียนรู้ที่  ๒  วิวัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย

หน่วยการเรียนรู้ที่  ๓   รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร ๒๕๕๗

หน่วยการเรียนรู้ที่  ๔   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย

แนวความคิดทางการเมือง

คำว่า “ขวา” หรือ “ซ้าย” ในมุมมองของการเมืองและเศรษฐกิจนั้นปรากฏครั้งแรกในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสปี พ.ศ 2332 เป็นการแบ่งที่นั่งของบุคคลในสมัชชาแห่งชาติ (Assemblée Nationale) ฝ่ายที่สนับสนุนเจ้าและขุนนางนั่งฝั่งขวาและฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติหรือกลุ่มพ่อค้าและเศรษฐีใหม่นั่งฝั่งซ้ายของประธานที่ประชุม 

แนวคิดฝ่ายซ้าย (Left Wing) 

               โดยหลักแล้วก็คือ กลุ่มคนที่มีแนวคิดล้มล้างรูปแบบเก่า ต้องการการเปลี่ยนแปลงหัวสมัยใหม่ ต้องการให้สังคมมีความเท่าเทียมกันและปราศจากชนชั้น สำหรับแนวคิดของฝ่ายซ้าย ประกอบไปด้วย สังคมนิยม (Socialism), เสรีนิยม (Liberalism), อนาธิปไตย (การปกครองแบบไม่มีรัฐบาล: Anarchism) เป็นต้น โดยแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายจัด (Far Left) ก็คือแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) 

แนวคิดฝ่ายขวา (Right Wing)

                   โดยหลักแล้วก็คือ กลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม (Conservatism) คือ ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นในจารีตและประเพณีดั่งเดิม และต้องการให้สังคมมีชนชั้น สำหรับแนวคิดฝ่ายขวา ประกอบไปด้วย กษัตริย์นิยม (Royalism), สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy), ชาตินิยม (Nationalism), เผด็จการทหาร (Dictator) เป็นต้น โดยแนวคิดแบบฝ่ายขวาจัด (Far Right) ก็คือแนวคิดแบบฟาสซิสต์ (Fascism) ซึ่งเป็นการปกครองแบบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ เช่น ในนาซีเยอรมันของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และฟาสซิสต์อิตาลีของเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini)