ชีวิตบนอวกาศ

เวลาที่เห็นภาพของนักบินอวกาศลอยตัวเบาเหินอยู่บนสถานีอวกาศ เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่ต่างกันว่า อยากจะลองขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักแบบนั้นบ้างจังเลย คงสนุกน่าดู แต่หากลองมาศึกษากันดูจริง ๆ แล้ว จะพบว่าการใช้ชีวิตอยู่บนยานอวกาศ หรือสถานีอวกาศนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะครับ เพราะนอกจากเราจะต้องปรับรูปแบบการใช้ชีวิตทุกอย่างแล้ว ร่างกายของเรายังมีการปรับเปลี่ยนอย่างไม่รู้ตัวด้วย แต่จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน

ร่างกายของคนเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนัก โดยเริ่มจากส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5.72 เซนติเมตร (2.25 นิ้ว) ส่วนเหลวต่าง ๆ ในร่างกายก็จะเคลื่อนตัวสู่ศีรษะมากกว่าตอนที่อยู่บนพื้นดิน ดังนั้นคุณอาจจะเห็นได้ว่ารูปร่างกับหน้าตาของนักบินอวกาศบิดเบี้ยว ผิดรูปไปจากเดิมเล็กน้อย จากผิวหนังที่เคยเหี่ยวย่นก็กลับเต่งตึง กล้ามเนื้อแขนขาเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด

สภาวะไร้น้ำหนักในห้วงอวกาศไม่ได้ทำให้ร่างกายทางกายภาพของเราเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกับระบบประสาททำงานผิดเพี้ยนด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบสมอง ประสาทการมองเห็น และการรับเสียง ทำให้นักบินอวกาศเกิดความสับสน เสียการทรงตัว คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากกินอาหาร โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการดังกล่าวในช่วง 2-3 วันแรก ดังนั้นทางองค์การนาซาจึงต้องติดยาไว้กับผิวหนังของนักบินอวกาศในระหว่างนี้ และถอดออกเมื่อร่างกายของพวกเขาสามารถปรับตัวได้แล้ว

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า การนอนหลับในห้วงอวกาศเป็นเรื่องง่าย เพราะบรรยากาศรอบตัวรายล้อมไปด้วยความมืดมิด แต่ในความเป็นจริงยากเกินกว่าใครจะจินตนาการได้ เพราะอย่าลืมว่าพวกเขาตกอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก ดังนั้นสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นแม้กระทั่งที่นอนก็ต้องมีสายระโยงระยางสำหรับผูกติดกับผนังของสถานีอวกาศด้วย โดยห้องนอนบนสถานีอวกาศนั้น แยกเป็น 2 ส่วนคือ ห้องนอนสำหรับนักบินอวกาศที่มาประจำการ กับแบบถุงนอนของนักบินอวกาศที่ขึ้นมาปฏิบัติภารกิจในช่วงสั้น ๆ

ห้องน้ำในสถานีอวกาศก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับห้องน้ำบนโลกทั่วไป เพียงแต่อาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของระบบกำจัดของเสีย โดยห้องน้ำของเหล่านักบินอวกาศจะมีท่อดูดของเสียไปกักเก็บไว้ในถังเก็บ โดยแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นอุจจาระก็จะส่งไปตาท่ออากาศก่อนจะปล่อยสู่ห้วงอวกาศทั้งนี้ภายในท่อก็จะมีฟิลเตอร์กรองอากาศ เพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่สำหรับปัสสาวะจะถูกแยกเอาไว้อีกส่วน ก่อนที่จะส่งไปยังถังเก็บ เพื่อกรองเป็นน้ำใช้ทั่วไปอีกครั้ง

เนื่องจากสภาวะไร้น้ำหนักในห้วงอวกาศมีผลให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายลีบเล็กลง เพราะไม่ต้องรับน้ำหนักกับสิ่งใดเลย ดังนั้นเหล่านักบินอวกาศจึง "จำเป็น" ต้องออกกำลังกาย เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อเอาไว้อยู่เสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยจะเน้นกล้ามเนื้อแขนกับขาเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วยังเป็นการกระตุ้นการสร้างมวลกระดูกพร้อมกับเรียกความแข็งแรงกลับมาด้วย

SPACEX - ISS Docking Simulator เกมจำลองขับยานอวกาศ ลงจอดสถานี ISS

เกมที่จะให้เราได้รับบทเป็นนักอวกาศที่กำลังขับขี่ยาน Dragon ของ SpaceX ที่กำลังควบคุมบังคับยานให้ลงจอดในสถานี ISS โดยตัวเกมจะมาพร้อมกับแผงควบคุม ซึ่งเราสามารถควบคุมยานได้อย่างอิสระ

ในเกมเราจะเห็นว่ามีปุ่มมากมายให้ลองเล่น โดยหลักๆ จะมีปุ่มบังคับ Roll, Pitch และ Yaw ที่จะปรับทิศของยานตามแกน X, Y และ Z ซึ่งจากที่ลองเล่น คิดว่าการขับยานอวกาศนี่มันไม่ง่ายเลย แถมนี่คือปรับมาเพื่อให้เล่นได้ง่าย ๆ แล้วด้วย ซึ่งของจริงแน่นอนว่าค่อนข้างยากกว่านี้พอสมควร บอกเลยว่าเป็นเกมที่น่าสนใจมากๆ

มาทดลองขับยานอวกาศ ลงจอดสถานี ISS กัน


ผลงานการออกแบบยาวอวกาศสำรวจดาวอังคาร โดยนักเรียนชั้น ม.6

ตอบคำถามร่วมสนุก ลุ้นรับเกียรติบัตร คลิ๊ก