จากนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู เพื่อพัฒนาให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพครู เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีจิตวิญาณของความเป็นครู มีวุฒิตรงตามวิชาที่สอน สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอน รวมทั้งปรับระบบการประเมินสมรรถนะที่สะท้อนประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู โดยมีการจัดทำแผนการผลิตครูที่สัมพันธ์กับแผนการใช้ครูในระดับชาติและสัมพันธ์กับแนวโน้มความต้องการครูประเภทต่างๆ ของประเทศ การเสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตครูเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของสถาบันผลิตครูให้ได้มาตรฐานในระดับสากล การวางระบบการจัดสรรทุนสำหรับนักศึกษาครู การปรับระบบและรูปแบบการผลิตครูให้เหมาะสมกับการใช้งานครูในแต่ละระดับและประเภทการศึกษา และการกำหนดแนวทางเตรียมครูก่อนเข้าประจำการเพื่อให้ได้ครูดี มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถและสมรรถนะที่จำเป็นพร้อมที่จะปฏิบัติงานในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการศึกษาของนักวิชาการหลายท่านพบว่า การผลิตและพัฒนาครูมีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการผลิตครูที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศซึ่งส่งผลให้ขาดแคลนครูในบางสาขาวิชา ปัญหาการโยกย้ายของครูเพื่อกลับถิ่นภูมิลำเนาของตนเองซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งด้านแผนบุคลากรและด้านการเงิน ปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อวิชาชีพครู แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นต่างๆ ที่มุ่งให้เกิดสิทธิและโอกาสทางการศึกษาไปสู่ผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาและการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ไม่ได้สะท้อนถึงการแก้ไขวิกฤตของปัญหาการผลิตและพัฒนาครูที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างแท้จริง
นอกจากนั้นจากการทบทวนปัญหาการศึกษาในประเทศไทยโดย OECD (2016) พบประเด็นปัญหาที่ต้องทำการแก้ไขคือความไม่เท่าเทียมกันด้านคุณภาพของสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน OECD จึงเสนอวิธีแก้ปัญหาโดยการช่วยเหลือและสนับสนุนครูในสถานศึกษาที่ขาดคุณภาพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้เรียนให้ได้รับความเท่าเทียมกับโรงเรียนที่มีคุณภาพ อาจมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูและกระบวนการประเมินการปฏิบัติของครูในท้องถิ่นห่างไกล (Teachers in disadvantage areas) อาทิเช่นยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนช่วยเหลือด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดประเมินผลตลอดจนการใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้ครูสามารถพัฒนาผลการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีในรอบสิบปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประเทศไทยส่งเสริมทักษะการใช้ ICT ของครูและนักเรียนโดยได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชนให้การช่วยเหลือโรงเรียนในชนบทและนักเรียนด้อยโอกาส อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีโครงการต่างๆให้การช่วยเหลือ แต่จะเห็นได้ว่านักเรียนยังขาดทักษะด้านเทคโนโลยีทั้งนี้เนื่องจากครูไทยขาดความมั่นใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ที่ระดับใกล้เคียงกันแล้วพบว่าครูไทยมีความสามารถในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ OECD จึงแนะนำให้กำหนดสมรรถนะด้าน ICT ที่จำเป็นสำหรับครูและทำการช่วยเหลือให้ครูมีสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะสมรรถนะในการใช้ทรัพยากรการเรียนรู้ดิจิตอล (Digital Learning Resources) อาทิเช่น ออดิโอ วิดิโอ ภาพหรือซอฟแวร์ถือว่าเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ ในปัจจุบันประเทศไทยได้ลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปมากทีเดียวแต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาการสื่อการเรียนดิจิตอลได้ครอบคลุมทุกวิชา และทุกระดับชั้นในระดับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นอกจากปัญหาทางด้านการใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนแล้ว ยังพบว่าครูไทยเผชิญปัญหาด้านภาษาอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นภาษาสากลที่ทุกวิชาชีพต้องมีทักษะในระดับที่ใช้งานได้ ซึ่งในปัจจุบันครู มีความจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลที่กว้างขวางเมื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งถือว่าเป็นสมรรถนะที่จำเป็นและเครื่องมือที่ช่วยให้ครูเข้าถึงข้อมูลคือสมรรถนะในการใช้ภาษาที่เป็นสื่อกลางหรือภาษาสากลคือภาษาอังกฤษบางประเทศได้กำหนดเป็นสมรรถนะที่จำเป็นและกำหนดไว้เป็นมาตรฐานวิชาชีพครูคือต้องมีสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษ ไม่ว่าครูสอนวิชาใดก็ตาม ในอนาคตจึงเป็นความท้าทายในการเตรียมครู (Teacher Preparation) และการพัฒนาวิชาชีพครูที่ต้องกำหนดสมรรถนะด้านนี้ ไม่เช่นนั้นสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษของครูอาจต่ำกว่านักเรียนมัธยมที่ตนเองสอน เนื่องจากในปัจจุบันนักเรียนมัธยมเป็นจำนวนมากที่มีผลสอบ TOIC สูงกว่าครู แสดงให้เห็นว่านักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าครู เป็นเหตุให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนาครูต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการในการผลิตและพัฒนาครู เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่ความรู้ภาษาไทยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการศึกษาอีกต่อไปแล้ว ในโลกของภาษาอังกฤษมีการคิดค้น ค้นคว้าวิจัย ผลิตนวัตกรรมเกี่ยวกับการศึกษามากมาก การรู้ภาษาอังกฤษจะช่วยให้ครูไทยมีแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาทั้งเนื้อหาและรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ การสอนแบบใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสนุกสนานกับการเรียนรู้ที่อยู่ในโลกที่เป็นความรู้ภาษาอังกฤษ
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ครูไทยต้องพัฒนาภาษาอังกฤษก็คือในยุคนี้ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการตื่นตัว ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนซึ่งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้จากโรงเรียนเป็นจำนวนมากมีโครงการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนซึ่งส่วนมากเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาอังกฤษกับการเรียนรู้วิชาอื่นๆ อาทิเช่น โรงเรียนมาตรฐานสากล(World-Class Standard School) และโปรแกรมการเรียนต่างๆ ได้แก่ EP, MEP, IP, EIP, EME และ EIS จึงถึงเวลาที่ครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยต้องตื่นตัวในการเตรียมครูที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย (Pre-service Teachers) และพัฒนาครูประจำการ (In-service Teachers) ให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษที่จำเป็นเร่งด่วนที่ครูทุกวิชาต้องเรียนรู้คือภาษาอังกฤษ วิชาการซึ่งหมายถึงภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่สอน ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายสำหรับครูที่สอนวิชาอื่นๆ นับว่าท้าทายสำหรับนักเรียนที่มีความแตกต่างกันในเรื่องพื้นฐานความรู้ ความสามารถ ที่แม้เรียนระดับชั้นเดียวกันก็มีความแตกต่างกันตามคุณภาพของโรงเรียน ตราบใดที่การจัดการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน
คณะครุศาสตร์ มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาครูประจำการ และการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพของท้องถิ่น ดังนั้นการพัฒนาครูสู่คุณภาพผู้เรียนในจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ร่วมกันร่างหลักสูตรพัฒนาครูท้องถิ่นเพื่อให้ได้ครูท้องถิ่นที่มีคุณภาพในระดับสูงที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ของผู้ที่เชื่อมโยงสู่บริบทในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชน คุณลักษณะหลักที่บ่งชี้ความมีคุณภาพสูงของครูคืนถิ่นคือ สามารถพัฒนาด้านครูผู้สอนเพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทักษะด้านการสอน การดำเนินการพัฒนาเพื่อให้ครูพัฒนาท้องถิ่นสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการภาษาอังกฤษ เพื่อการจัดการเรียนรู้สาระวิชา (Content and Language Integrated Learning-CLIL) การเรียนรู้การบูรณาการระหว่างความรู้ด้านเทคโนโลยีความรู้ด้านการสอนและความรู้ด้านเนื้อหา (Technological Pedagogical Content Knowledge-TPACK) ที่เน้นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีชุมชนเป็นฐาน (Community-based Learning) และการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning)