การเก็บรวบรวมข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการ ทางสถิติ ที่มีความสำคัญ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ และสอดคล้องกับกรอบแนวความคิด สมมุติฐาน เทคนิคการวัด และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งหมายรวมทั้ง การเก็บข้อมูล ( Data Collection) คือ การเก็บข้อมูลขึ้นมาใหม่ และการรวบรวมข้อมูล ( Data Compilation) ซึ่งหมายถึง การนำเอาข้อมูลต่างๆที่ผู้อื่นได้เก็บไว้แล้ว หรือรายงานไว้ในเอกสารต่างๆ มาทำการศึกษาวิเคราะห์ต่อ

ประเภทของข้อมูล

ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวแปรที่สำรวจโดยใช้วิธีการวัดแบบใดแบบหนึ่ง โดยทั่วไปจำแนกตามลักษณะของข้อมูลได้เป็น 2 ประเภท คือ

1) ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) คือ ข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือนำมาให้รหัสเป็นตัวเลข ซึ่งสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ทางสถิติได้

2) ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) คือ ข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลข ไม่ได้มีการให้รหัสตัวเลขที่จะนำไปวิเคราะห์ทางสถิติ แต่เป็นข้อความหรือข้อสนเทศ

ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) ข้อมูลที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นจำนวนได้โดยตรงแต่อธิบายลักษณะหรือคุณสมบัติในเชิงคุณภาพได้ เช่น เพศของสมาชิกในครอบครัวสถานภาพสมรสของพนักงานในบริษัทห้างร้านหรือความคิดเห็นของประชาชน การวิเคราะห์ข้อมูลประเภทนี้ส่วนใหญ่ทำโดยการนับจำนวนจำแนกตามลักษณะเชิงคุณภาพ เช่น นับจำนวนพนักงานที่เป็นโสด ที่สมรสแล้ว ที่หย่าร้าง และที่เป็นหม้ายว่ามีอย่างละกี่คน ข้อมูลเชิงคุณภาพบางลักษณะสามารถวัดออกมาเป็นลำดับที่หรือตำแหน่งที่ได้ เช่น ความชอบ วัดในรูป ชอบมากที่สุด ชอบมาก ชอบปานกลาง ชอบน้อย ไม่ชอบเลย ความคิดเห็นวัดในรูปเห็นด้วยอย่างยิ่งเห็นด้วย ไม่มีความเห็น ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน วัดในรูป ดีขึ้นมาก ดีขึ้น คงเดิม เลวลง เลวลงมาก หรือวัดในรูป สูง ปานกลาง ต่ำ เป็นต้น การำหนดลำดับที่หรือตำแหน่งที่ของข้อมูลเชิงคุณภาพนี้ เมื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์จะต้องแทนลำดับที่หรือตำแหน่งที่เหล่านี้ด้วยตัวเลข เช่น ให้ตัวเลขที่มีค่ามากใช้แทนลักษณะหรือความรู้สึกที่ดี

ชอบมากที่สุด หรือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง แทนด้วย 4

ชอบมาก หรือ เห็นด้วย แทนด้วย 3

ชอบปานกลาง หรือ ไม่มีความเห็น แทนด้วย 2

ชอบน้อย หรือ ไม่เห็นด้วย แทนด้วย 1

ไม่ชอบเลย หรือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง แทนด้วย 0

ในกรณีที่ข้อมูลเชิงคุณภาพใดไม่สามารถวัดออกมาเป็นลำดับที่หรือตำแหน่งที่ได้ เช่น กลุ่มนักเรียนของโรงเรียนรัฐบาลกับกลุ่มนักเรียนของโรงเรียนเอกชน หรือ กลุ่มพนักงานชายกับกลุ่มพนักงานหญิง หากมีความจำเป็นต้องกำหนดเป็นจำนวนเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติอาจใช้ 0 แทนกลุ่มนักเรียนของโรงเรียนรัฐบาลหรือกลุ่มพนักงานชาย และใช้ 1 แทนกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเอกชนหรือกลุ่มพนักงานหญิง จำนวนที่ใช้แทนข้อมูลเชิงคุณภาพเหล่านี้ไม่สามารถนำไปตีความหมายในเชิงปริมาณได้ ความหมายของจำนวนที่ใช้แทนข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ใช้แทน “กลุ่ม” ต่าง ๆ เท่านั้น

แหล่งที่มาของข้อมูล

แหล่งข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ บุคคล เช่น ผู้ให้สัมภาษณ์ ผู้กรอกแบบสอบถาม บุคคลที่ถูกสังเกต เอกสารทุกประเภท และข้อมูลสถิติจากหน่วยงาน รวมไปถึง ภาพถ่าย แผนที่ แผนภูมิ หรือแม้แต่วัตถุ สิ่งของ ก็ถือเป็นแหล่งข้อมูลได้ทั้งสิ้น โดยทั่วไปสามารถจัดประเภทข้อมูลตามแหล่งที่มาได้ 2 ประเภท คือ

1) ข้อมูลปฐมภูมิ ( Primary Data) คือ ข้อมูลที่ผู้วิจัยเก็บขึ้นมาใหม่เพื่อ ตอบสนองวัตถุประสงค์การวิจัยในเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ การเลือกใช้ข้อมูลแบบปฐมภูมิ ผู้วิจัยจะสามารถเลือกเก็บข้อมูลได้ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ตลอดจนเทคนิคการวิเคราะห์ แต่มีข้อเสียตรงที่สิ้นเปลืองเวลา ค่าใช้จ่าย และอาจมีคุณภาพไม่ดีพอ หากเกิดความผิดพลาดในการเก็บข้อมูลภาคสนาม

2) ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) คือ ข้อมูลต่างๆ ที่มีผู้เก็บหรือรวบรวมไว้ก่อนแล้ว เพียงแต่นักวิจัยนำข้อมูลเหล่านั้นมาศึกษาใหม่ เช่น ข้อมูลสำมะโนประชากร สถิติจากหน่วยงาน และเอกสารทุกประเภท ช่วยให้ผู้วิจัยประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเวลากับการเก็บข้อมูลใหม่ และสามารถศึกษาย้อนหลังได้ ทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ที่ศึกษา แต่จะมีข้อจำกัดในเรื่องความครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากบางครั้งข้อมูลที่มีอยู่แล้วไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเรื่องที่ผู้วิจัยศึกษา และปัญหาเรื่องความ น่าเชื่อถือของข้อมูล ก่อนจะนำไปใช้จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นในบางส่วนที่ไม่สมบูรณ์

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

1.วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ในหนังสือ รายงาน บทความหรือเอกสารต่าง ๆ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) พิจารณาตัวบุคคลผู้เขียนรายงาน บทความ หรือเอกสารเหล่านั้นเสียก่อนว่าเป็นผู้มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนถึงขั้นพอที่จะเชื่อถือได้หรือไม่ การเขียนอาศัยเหตุผลและหลักวิชาการมากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่จะนำมาใช้ซึ่งรวบรวมจากรายงาน บทความ หรือเอกสารดังกล่าวควรใช้ข้อมูลที่ผู้เขียนเก็บรวบรวมมาเองโดยตรง เช่น ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจหรือสำมะโน หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรใช้ข้อมูลที่ผูเขียนนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น เนื่องจากอาจมีการคลาดเคลื่อนจากข้อมูลที่ควรจะเป็นจริงได้มาก

(2) ถ้าข้อมูลที่ต้องการเก็บรวบรวมสามารถหาได้จากหลาย ๆ แหล่ง ควรเก็บรวบรวมมาจากหลาย ๆ แหล่งเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบว่าข้อมูลที่ต้องการมีความผิดพลาดเนื่องจากการลอกผิด พิมพ์ผิด หรือเข้าใจผิดบ้างหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลควรจะใช้ความรู้ความชำนาญของตนเองเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องนั้น ๆ มาพิจารณาว่าข้อมูลที่จะนำมาใช้นั้นน่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เช่นจำนวนประชากรของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2546 ที่นำเสนออยู่ในรายงานฉบับหนึ่งเป็น 36 ล้านคน จำนวนดังกล่าวน่าจะเป็นไปไม่ได้ ที่ถูกต้องควรจะเป็น 63 ล้านคน ความผิดพลาดดังกล่าง อาจเนื่องมาจากการคัดลอกของผู้นำเสนอหรือการพิมพ์ก็ได้ กล่าวคือคัดลอกหรือพิมพ์เลขโดดกลับกัน

(3) พิจารณาจากลักษณะของข้อมูลที่ต้องการเก็บรวบรวมว่าเป็นข้อมูลที่เป็นข้อความจริง ข้อมูลที่ได้จากทะเบียน ข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นหรือเจตคติ ข้อมูลประเภทความลับ หรือข้อมูลซึ่งผู้ตอบอาจต้องเสียประโยชน์จากการตอบ ถ้าเป็นข้อมูลที่เป็นข้อความจริง ข้อมูลที่ได้จากทะเบียนหรือข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นหรือเจตคติส่วนใหญ่มักจะมีความถูกต้องเชื่อถือได้สูง แต่ถ้าเป็นข้อมูลประเภทความลับหรือข้อมูลซึ่งผู้ตอบอาจต้องเสียประโยชน์จากการตอบ ส่วนใหญ่มักจะมีความถูกต้องเชื่อถือได้น้อย

(4) ถ้าข้อมูลทีเก็บรวบรวมได้มาจากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง หรือต้องผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์โดยใช้วิธีการทางสถิติมาก่อน ควรจะต้องตรวจสอบวิธีการที่ใช้ในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ขนาดกลุ่มตัวอย่าง และวิธีการวิเคราะห์ว่าเหมาะสมที่จะใช้หรือไม่

2) วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ การเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิซึ่งอาจทำได้โดยการสำมะโนหรือสำรวจสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไปมี 5 วิธีคือ

(1) การสัมภาษณ์ การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ นิยมใช้กันมากกว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีอื่น ๆ เนื่องจากโอกาสที่จะได้คำตอบกลับคืนมามีมาก นอกจากนี้หากผู้ตอบข้อถามไม่เข้าใจข้อถามใด ๆ ก็สามารถถามได้จากผู้สัมภาษณ์โดยตรง แต่การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีนี้ ผู้สัมภาษณ์ต้องมีความซื่อสัตย์ไม่ตอบข้อถามแทนผู้ถูกสัมภาษณ์ เพราะจะทำให้ข้อมูลที่รวบรวมได้มีความคลาดเคลื่อนจากที่ควรจะเป็นจริงมาก

(2) การสอบถามทางไปรษณีย์ การเก็บรวบรวบโดยวิธีนี้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมได้มาก และค่อนข้างแน่ใจได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามทุกคนได้รับความสะดวกในการตอบข้อถาม กล่าวคือจะตอบข้อถามเมื่อไรก็ได้ภายในระยะเวลาที่ผู้สำรวจได้กำหนดไว้ คำตอบที่ผู้สำรวจได้รับจะมีความถูกต้องและเชื่อถือได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตอบที่จะทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามอาจเสียประโยชน์จากการตอบคำถามนั้น ๆ เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามไม่จำเป็นต้องระบุชื่อของตนลงในแบบสอบถามก็ได้ แต่อาจมีจุดอ่อนถ้าผู้ตอบแบบสอบถามไม่เข้าใจปัญหาที่ถามอาจทำให้คำตอบผิดพลาดได้อีกประการหนึ่งผู้ถูกถามอาจไม่ได้เป็นผู้ตอบข้อถามเองแต่ไปให้ผู้อื่นตอบแทน ข้อมูลที่รวบรวมได้ก็อวจผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ผู้สำรวจยังไม่สามารถประมาณจำนวนแบบสอบถามที่จะได้รับกลับคืนมาว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งบางครั้งผู้สำรวจได้แบบสอบถามกลับคืนมาไม่เพียงพอที่จะทำการสรุปผลทั้งหมดให้มีความเชื่อถือได้

(3) การสอบถามทางโทรศัพท์ การสอบถามวิธีนี้นิยมใช้น้อยกว่าวิธีอื่นถึงแม้ว่าการเลือกตัวอย่างผู้ตอบสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ทำได้ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมข้อมูลน้อยก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บรวบรวมข้อมูลทำได้เฉพาะผู้ตอบสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เท่านั้น

การสอบถามทางโทรศัพท์โดยทั่ว ๆ ไป มักใช้กับแบบสอบถามที่ไม่ใช้เวลาในการสัมภาษณ์มากนักและข้อมูลที่ต้องการถามจากผู้ตอบสัมภาษณ์เป็นข้อมูลที่ผู้ตอบสัมภาษณ์สามารถตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องไปค้นหาหลักฐานหรือสอบถามจากผู้อื่น การสอบถามทางโทรศัพท์ที่ใช้กันอยู่เสมอ ๆ เช่น การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจ

(4) การสังเกต การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกตมักใช้ประกอบกับการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีอื่น ๆ เชื่อถือได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความไม่ร่วมมือของผู้ให้ข้อมูลหรืออาจจะเกิดจากความรู้ขั้นพื้นฐานหรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ของผู้ตอบไม่ดีพอ เช่น การสอบถามเกี่ยวกับรายได้ของครอบครัวหรือกำไรของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ข้อมูลดังกล่าวนี้ผู้ตอบไม่ต้องการเปิดเผย นอกจากนี้อาจใช้การสังเกตเมื่อต้องการรวบรวมข้อมูลในเชิงลึก เช่น ครูสังเกตพฤติกรรมนักเรียนในการทำงานร่วมกัน และการมีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์

(5) การทดลอง การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทดลอง เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องมีการทดลองหรือปฏิบัติเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาแก้ปวดหลาย ๆ ชนิด ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากการทดลองนี้ จะมีความถูกต้องและเชื่อถือได้มาก ถ้าไม่เกิดความคลาดเคลื่อนจากการวัดหรือการวางแผนการทดลอง

ยุคสมัยใหม่ มีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วย เช่น การกรอกแบบสอบถามผ่าน Google Forms, เว็บแบบสอบถาม surveymonkey.com หรือ เครือข่ายสังคม เช่น Line / Facebook เป็นต้น

ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล

1) กำหนดข้อมูลและตัวชี้วัด

2) กำหนดแหล่งข้อมูล

3) เลือกกลุ่มตัวอย่าง

4) เลือกวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

5) นำเครื่องมือรวบรวมข้อมูลไปทดลองใช้

6) ลงมือเก็บรวบรวมข้อมูล

ประเภทของเครื่องมือรวบรวมข้อมูล

ตัวอย่างเช่น แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินค่าและมาตรวัดเจตคติ และแบบวัดอื่นๆ

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่เผยแพร่ของประเทศไทย

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่เผยแพร่ของต่างประเทศที่เผยแพร่ให้ใช้งานฟรี

https://www.kaggle.com/

https://data.worldbank.org/

https://archive.ics.uci.edu/ml/index.php

ความเหมาะสมของแหล่งข้อมูล

เอกสารอ้างอิง

บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธ์. เทคนิคการสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัย . กรุงเทพฯ: B&B Publishing, 2542.

สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ . กรุงเทพฯ:เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง , 2544.

https://www.gotoknow.org/posts/203303