ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังนี้ 

1  การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient care)

ในด้านเวชปฏิบัติ ต้องจัดให้มีการฝึกปฏิบัติการทางคลินิกอย่างน้อยดังต่อไปนี้

       ก. การฝึกอบรมเวชปฏิบัติฉุกเฉิน สถาบันฝึกอบรมต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้หมุนเวียนให้มีประสบการณ์ในการบริบาลผู้ป่วยฉุกเฉินที่แผนกฉุกเฉิน และติดตามผลลัพธ์การดูแลรักษาผู้ป่วยดังกล่าวที่โรงพยาบาลของสถาบันฝึกอบรมหลัก สถาบันฝึกอบรมร่วม และสถาบันฝึกอบรมสมทบ หรือสถานที่ปฏิบัติงานเพื่อการสอบวุฒิบัตร รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๘๐ สัปดาห์ โดยปฏิบัติงานอยู่ในความควบคุมของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๓๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ขณะปฏิบัติงานที่แผนกฉุกเฉิน ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ไม่ควรมีเวลาทำงานในแต่ละวันติดต่อกันเกินกว่า ๑๒ ชั่วโมง และในแต่ละวันต้องมีเวลาพักอย่างน้อยเท่ากับเวลาปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดให้มีวันพักอย่างน้อยเฉลี่ย ๑ วันต่อสัปดาห์

       ข. การฝึกอบรมเวชบำบัดวิกฤต สถาบันฝึกอบรมต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ปฏิบัติงานเวชบำบัดวิกฤตทั้งทางกุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ และอายุรศาสตร์ รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบหายใจ เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติในการดูแลรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤต รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๑๖ สัปดาห์

     ค. การฝึกอบรมด้านอำนวยการและปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีระยะเวลาในการฝึกอบรมในด้านนี้ไม่น้อยกว่า ๘ สัปดาห์ เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติในการเป็นแพทย์อำนวยการและสั่งการปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ การจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัย รวมทั้งสามารถลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินในการส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล รวมถึงต้องผ่านการอบรมจนได้รับประกาศนียบัตรการอำนวยการและสั่งการปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ของวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย

  ง. การฝึกอบรมในรายวิชาเลือก ผู้รับการฝึกอบรมสามารถเลือกศึกษาวิชาเลือกต่าง ๆ ดังในภาคผนวกที่ 3 โดยต้องมีการจัดทำแผนการสอน/ฝึกอบรมอย่างน้อยประกอบด้วยวัตถุประสงค์ วิธีการฝึกอบรม และวิธีการประเมินผลสำหรับวิชาเลือกดังกล่าว และผ่านความเห็นชอบจากสถาบันฝึกอบรมหลัก

  จ. การฝึกอบรมตามหลักสูตรประมวลการกู้ชีพขั้นสูง ได้แก่

- การกู้ชีพขั้นสูงในด้านหัวใจ (Advanced cardiac life support)

- การกู้ชีพขั้นสูงด้านกุมารเวชกรรม (Pediatric advanced life support)

- การกู้ชีพด้านการบาดเจ็บ (Trauma life support) เช่น การกู้ชีพด้านการบาดเจ็บขั้นสูง (Advanced trauma life support) เป็นต้น

- การกู้ชีพขั้นสูงด้านการได้รับพิษ (Emergencies in Medical Toxicology; EMTox)

- การทำเวชหัตถการในภาวะฉุกเฉินของวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย  (TCEP resuscitative procedure course)

ทั้งนี้อาจนำประสบการณ์ฝึกอบรมการกู้ชีพขั้นสูงเฉพาะด้านต่าง ๆ หรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่าหลักสูตรดังกล่าว จากสถาบันที่ วฉท. พิจารณาแล้วให้การรับรองมาทดแทนการฝึกอบรมบางส่วนได้มีการมอบหมายให้ผู้รับการฝึกอบรมมีความรับผิดชอบด้านต่างๆ ในความควบคุมของอาจารย์ผู้ฝึกอบรมดังนี้ 

แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๑ สามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ในกรณีที่มีความซับซ้อนไม่มาก สามารถบริหารจัดการผู้ป่วยอย่างเหมาะสมได้เป็นรายบุคคล ให้ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินได้เฉพาะเมื่อมีแพทย์ประจำบ้านปี ๒ หรือ ๓ หรืออาจารย์แพทย์อยู่ด้วย และอนุญาตให้ทำหัตถการที่มีความซับซ้อนภายใต้การควบคุมของอาจารย์ หรือแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สูงกว่าเท่านั้น

แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๒ สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนมากขึ้น สามารถบริหารจัดการห้องฉุกเฉินที่ เริ่มมีความวุ่นวายได้ ทำหัตถการที่พบบ่อยได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลได้

แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๓ สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนมาก หรือมีอาการเจ็บป่วยของหลายระบบ หรือภาวะ/โรคที่พบไม่บ่อยได้ด้วยตนเอง บริหารจัดการห้องฉุกเฉินที่มีความวุ่นวายได้ สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้น วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถควบคุมดูแลแพทย์ประจำบ้านชั้นปีอื่นในการทำหัตถการได้ สามารถเป็นผู้นำในปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ และสามารถเป็นแพทย์อำนวยการในระบบการดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี 

ในระหว่างการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจะต้องผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับ ทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพในด้านต่างๆ เช่น การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงในผู้ใหญ่ การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงในเด็ก การช่วยฟื้นคืนชีพในทารกแรกเกิด การช่วยผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ และการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินด้านพิษวิทยา และการช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีอุบัติภัย

2  ความรู้และทักษะทางเวชกรรม (Medical knowledge and skills)  (ภาคผนวกที่ ๑ และ ๒) 

สถาบันฝึกอบรมต้องส่งเสริมให้แพทย์ประจำบ้านจะต้องมีความรู้ในด้านการแพทย์เกี่ยวกับโรคภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ การรักษาโรค มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคลินิกอย่างมีเหตุผล 

ก. สถาบันฝึกอบรมต้องจัดประสบการณ์เรียนรู้ในด้านวิชาการโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๕ ชั่วโมง

ต่อสัปดาห์ (ไม่นับรวมรายงานระหว่างการเปลี่ยนเวร) ประกอบด้วยกิจกรรมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

- การประชุมบรรยาย/นำเสนอทางวิชาการ

- การประชุมทบทวนวารสารทางวิชาการ

- การประชุมพัฒนาคุณภาพและการจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย การนำเสนอเหตุการณ์เวชกรรมอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งรวมถึงภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิต การบูรณาการกับเครื่องมือพัฒนาคุณภาพ เช่น adverse medical events, root caused analysis, morbidity and mortality conferences เป็นต้น

- การประชุมทบทวนการกู้ชีพ (cardiopulmonary resuscitation conference)

- ประชุมสัมมนาการบริหาร (administrative seminars) เช่น การประชุมสหสาขาวิชาชีพ การประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการบริการ เป็นต้น

- การประชุมวิจัย (research meeting) 

ข. การศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ (correlated basic medical sciences) ซึ่งสถาบันฝึกอบรมสามารถจัดให้มีการเรียนการสอนในด้านการแพทย์พื้นฐานประยุกต์ 

ค. การศึกษาด้านทักษะทางปัญญา (Non-technical skill for patient safety) เช่น หัวข้อเรื่อง interpersonal and communication

skills, situation awareness, decision making, human factors, leadership, และ entrepreneurship เป็นต้น

ง. การเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการนอกสถาบันฝึกอบรม สถาบันฝึกอบรมต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการระดับชาติ ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างน้อย 1 ครั้งตลอดการฝึกอบรม และกิจกรรมวิชาการระหว่างสถาบันฝึกอบรม เช่น การเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันการศึกษาหรือวิทยาลัยหรือราชวิทยาลัยต่างๆ การได้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล องค์การมหาชน, กระทรวงสาธารณสุข และ ฯลฯ)

            แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๑ เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานประยุกต์ (correlated basic medical sciences) 

แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๑, ๒ และ ๓ ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในรายวิชาเลือก (ภาคผนวกที่ ๓) แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ เช่นการประชุมบรรยายนำเสนอทางวิชาการ การประชุมทบทวนวารสารวิชาการ (journal club) การประชุมทบทวนแนวทางเวชปฏิบัติใหม่และเวชศาสตร์หลักฐานเชิงประจักษ์ (new practice guideline/evidence based medicine review) การประชุมเสนอเหตุการณ์เวชกรรมอันไม่พึงประสงค์รวมถึงภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิต (morbidity and mortality conference) การประชุมทบทวนการกู้ชีพ (CPR conference) การสัมมนาการบริหารและการควบคุมคุณภาพงานบริการ (QC conference) และการประชุมวิจัย (research proposal/progress) เป็นต้น

๓ การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (System-based practice) 

แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบคุณภาพของโรงพยาบาล ความปลอดภัยของผู้ป่วย (patient safety) การใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูง (high alert drugs) ทางด่วนฉุกเฉิน (fast track) กระบวนการคุณภาพในห้องฉุกเฉิน รวมทั้งระบบประกันสุขภาพของชาติ การใช้ยาและทรัพยากรต่างๆ อย่างสมเหตุสมผล และเหมาะสมกับบริบทของระบบสาธารณสุขของประเทศ ทราบบทบาทของการแพทย์ทางเลือก และการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง

๔ การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (Practice-based learning and improvement) 

ก. ต้องทำงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยต้นแบบ (original research project) โดยเป็นผู้วิจัยหลัก หรือ ผู้นิพนธ์หลักอย่างน้อย ๑ ฉบับ (ภาคผนวกที่ ๔) การทำงานวิจัยและเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการเช่น สโมสรวารสาร จะทำให้แพทย์ประจำบ้านเข้าใจเวชปฏิบัติเชิงหลักฐานได้ดีจนสามารถประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้

ข. บันทึกข้อมูลในเวชระเบียนได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ 

ค. บันทึกการทำหัตถการในแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์หรือสมุดบันทึกหัตถการได้ตามที่กำหนดโดยหลักสูตร

ง. สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยผ่านกระบวนการสะท้อนความคิดและการกระทำ (reflection) ที่ทำให้สามารถมองเห็นตนเอง ยอมรับคำแนะนำ เข้าใจ แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงานของตนเองได้ และไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

๕ ความเป็นนักวิชาชีพ (Professionalism) 

ก. เข้าร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ทางด้านบูรณาการทางการแพทย์ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย โดยต้องทราบหลักจริยธรรมทางการแพทย์ รู้จักความเป็นมืออาชีพในวิชาชีพแพทย์ 

ข. มีความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง มีความเป็นเจ้าของร่วมในหน่วยงาน

ค. มีสามารถในการดูแลตนเอง ให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม

. ง. พัฒนาตนเองให้มีเจตคติที่ดีระหว่างการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย โดยผ่านการอบรมการสื่อสารเช่น การให้คำปรึกษาผู้ป่วยและการแจ้งข่าวร้าย 

๖ ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร  (Interpersonal skills and communication) แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีควรสามารถ

ก. เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสาร ทั้งระหว่างแพทย์ประจำบ้านด้วยกันอาจารย์แพทย์ บุคลากรสาขาอาชีพอื่น รวมถึงผู้ป่วยและญาติได้อย่างเหมาะสม

(อ้างอิงตามหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ปี 2565)