พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือ พลเมือง นั่นเอง”

         ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้

 

โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน

        ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาคนไข้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๒ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการชาวเขา และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จป่วยเป็นไข้กันมาก

         โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีอุปสรรคที่ระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง

โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน

      เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า และถ้าจำเป็นก็จัดส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม และในท้องถิ่นต่างๆ ที่ห่างไกลตัวเมืองมาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นกันดาร


โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์

      โครงการตามพระราชประสงค์ หมายถึง โครงการที่ทรงศึกษาปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆ เมื่อได้ผลดีแล้วจึงทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

      โดยโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา แพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล นราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ


หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน

ในปี ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภว่า

        "เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า"

ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี
พระองค์ทรงรับสั่งว่า


        "การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสแก่ทันตแพทย์สี สิริสิงห์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า


        "ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท”


        หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงาน โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๒ โดยมี ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดาร


โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัย

      ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ แพทย์อาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสและมากประสบการณ์เล็งเห็นความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์ไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูลและความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ในด้านศัลยกรรม และรวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

 

โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน

      เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ เนื่องจากมีราษฎรจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน โดยอาศัยแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รามาธิบดี ราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ ๒ สัปดาห์เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกลนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

 

โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์

      ความเจ็บป่วยของราษฎรเกิดจากการไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง ประกอบกับไม่มีสถานพยาบาลอยู่ใกล้ บ้างก็เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ โดยคัดเลือกคนในหมู่บ้านรับการฝึกอบรมการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การรักษาโรคอย่างง่าย เพื่อสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เริ่มบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทยศาสตร์ตอนหนึ่งว่า

       “จึงใคร่ขอร้องให้ทุกๆ คนตั้งใจ และพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลสมบูรณ์จริงๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติต้องเสื่อมถอยลงเพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัย”


        นับเป็นพระราชดำรัสที่แสดงถึงความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ และ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป


โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


         พระราชดำริของ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ความว่า " เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย  ทำให้ไม่มีความสุข  จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง "  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ที่ทรงคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกาย  จิตใจและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีสาเหตุมาจากสุขภาพช่องปาก กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้น  โดยโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ดำเนินการคัดกรองผู้สูงอายุตามเกณฑ์ที่กำหนดและจัดบริการใส่รากฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากโดยการฝังรากฟันเทียมตรงบริเวณตำแหน่งฟันเขี้ยว ในขากรรไกรล่าง ๒ ตำแหน่งและผู้สูงอายุไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆในการเข้ารับบริการ 

 

สถานที่ตั้ง  สถาบันทันตกรรม  กรมการแพทย์   สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ  

๑.  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  ๘๐  พรรษา  ๕ ธันวาคม  ๒๕๕๐

๒.  เพื่อให้โอกาสที่เท่าเทียมทางคุณภาพชีวิตแก่ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในการฟื้นฟูส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ดี  โดยเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งเป็นทางหนึ่งในการแก้ปัญหา ทันตสาธารณสุขของประเทศ

๓.  เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากที่ดี  โดยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างครอบคลุมและทั่วถึง  ให้แก่ผู้ที่ได้รับการรักษาทันตกรรมรากฟันเทียม  ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพที่สมบูรณ์ขึ้น

๔.  เพื่อจัดบริการใส่รากฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ   ใช้ฟันเทียมล่างในการบดเคี้ยวอาหาร

 

ปัญหาและอุปสรรค            -ไม่มี -

โครงการฟันเทียมพระราชทานเพื่อการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่อง   ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  ๘๔  พรรษา   ๕   ธันวาคม  ๒๕๕๔


         พระราชดำริของ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า

" เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย  ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบายร่างกายก็ไม่แข็งแรง " นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ที่ทรงคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกาย  จิตใจและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีสาเหตุมาจากสุขภาพช่องปาก ดังนั้น

กระทรวงสาธารณสุขจึงน้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น และเมื่อ ๒๖ มกราคม  ๒๕๔๘ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับกรมอนามัยหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   จัดการรณรงค์  ณ  กองร้อย ๒  กองกำลังสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน ( ค่ายนเรศวร ) อำเภอหัวหิน โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ( นายแพทย์วิชัย  เทียนถาวร ) เป็นประธาน  ผู้สูงอายุได้รับบริการใส่ฟันเทียม   ๑๐๗  คน

 

สถานที่ตั้ง   สำนักทันตสาธารณสุข  กระทรวงสาธารณสุข

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ  

 

ปัญหาและอุปสรรค            -ไม่มี -

โครงการดูแลสุขภาพนักเรียนตามพระราชดำริฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี


          พระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  ที่ทรงห่วงใยในปัญหาสุขภาพเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อ โรคอ้วน โรคเครียด และโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ  จึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการป้องกันโรคเหล่านี้

                 กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว  ได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพนักเรียนร่วมกับฝ่ายการศึกษา ในการพัฒนากิจกรรมสุขภาพภายใต้ความร่วมมือ ของผู้บริหาร คณะครู นักเรียน และ ชุมชน ตามเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพและได้นำองค์ความรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพมาใช้ในนักเรียน โดยการนำแบบบันทึกการตรวจสุขภาพด้วยตนเองสำหรับนักเรียนชั้น ป.๕  ถึง ม.๖  ให้นักเรียนใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจหาความผิดปกติของร่างกายเบื้องต้น ภายใต้คำแนะนำของครูและบุคลากรสาธารณสุขซึ่งผลจากการดำเนินงาน พบว่า ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ เด็กนักเรียนโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชั้น ป.๕ – ม.๖ มีและใช้แบบบันทึกการตรวจสุขภาพด้วยตนเองถึง ร้อยละ ๑๐๐  มีโรงเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ   จำนวน ๒๘๒ โรงเรียน จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ๒๘๓  คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๖๔  โดยผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง จำนวน ๑๘๗ โรงเรียน คิดเป็น  ร้อยละ ๖๖.๐๗

 

สถานที่ตั้ง   โรงเรียนประถมและมัธยมทุกสังกัด

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ


1.เพื่อให้โรงเรียนทุกสังกัดมีการพัฒนากิจกรรมด้านสุขภาพให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทองร้อยละ ๕๐ ของโรงเรียนทั้งหมด

2.เพื่อให้นักเรียนชั้น ป.๕ - ม.๖ ได้มีแบบบันทึกสุขภาพด้วยตนเอง และใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังสุขภาพในเบื้องต้นด้วยตนเองได้ร้อยละ ๑๐๐

3.เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

ปัญหาและอุปสรรค

            การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ  ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครอง ครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนใหญ่ ยังดำเนินการ ได้ไม่เป็นระบบ ชัดเจน เช่น ไม่ได้ร่วมค้นหาปัญหา และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน  เป็นต้น