นักฟุตบอล

คริสเตียโน โรนัลโด เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1985 ที่เกาะมาเดรา เขตปกครองตนเองของประเทศโปรตุเกส เป็นบุตรชายของนายฌูแซ ดีนิช อาไวรู (เสียชีวิต: ค.ศ. 2005, อายุ 52 ปี) กับนางมารีอา ดูโลรึช อาไวรู เป็นบุตรชายคนเล็กในพี่น้อง 4 คน ถึงแม้ตอนเกิดเขาจะคลอดก่อนกำหนดแต่ก็มีน้ำหนักสมบูรณ์ถึง 8 ปอนด์ ทวดฝ่ายแม่ของเขา อีซาแบล ดา ปีดาดึ มีพื้นเพมาจากประเทศกาบูเวร์ดี (เคปเวิร์ด)[26] โรนัลโดเกิดมาในครอบครัวแคธอลิกที่เคร่งศาสนาและไม่ได้มีฐานะร่ำรวย บิดาของเขาประกอบอาชีพคนสวนและติดสุราอย่างหนักถึงขั้นเป็นโรคพิษสุรา ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ย่านกิงตาดูฟัลเซา เมืองฟุงชาล ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรยากจนอาศัยอยู่มาก โดยโรนัลโดต้องนอนรวมกับญาติทุกคนในห้องเล็ก ๆ ในบ้าน[27] โรนัลโดเริ่มเล่นฟุตบอลที่นี่ซึ่งเขาชอบเล่นตามถนน เขาเกือบจะไม่ได้ลืมตาดูโลกเนื่องจากมารดาของเขามีความคิดที่จะทำแท้งเนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มภาระให้แก่ครอบครัว แต่ได้ตัดสินใจยอมลำบากเพื่อคลอดโรนัลโดและเจ้าตัวได้กล่าวว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต[28][29]

ที่มาของชื่อโรนัลโดนั้น บิดาของเขาเป็นผู้ตั้งให้ โดยได้แรงบันดาลใจจากชื่อของโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบุคคลที่บิดาของโรนัลโดชื่นชอบตั้งแต่เรแกนยังเป็นนักแสดงอยู่[30] เมื่ออายุ 6 ขวบ เขาเริ่มเล่นฟุตบอลอย่างจริงจังในทีมชุดใหญ่ของทีมอังดูรีญา (Andorinha) โดยการชักชวนของญาติ พอถึงปี 1995 โรนัลโดย้ายไปอยู่กับทีมนาซียูนัล (Nacional) โดยมีการจ่ายค่าตัวเป็นชุดฟุตบอลและลูกบอล[31] หลังจากช่วยนาซิอองนาลคว้าแชมป์ระดับเยาวชนได้ โรนัลโด้ในวัย 12 ปี ก็ได้รับความสนใจจากสโมสรใหญ่ ๆ ของโปรตุเกส แต่สุดท้ายโรนัลโดเลือกค้าแข้งกับสปอร์ติง ลิสบอน ทีมโปรดของตัวเองในที่สุด

นิสัยของโรนัลโดนั้นเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานตั้งแต่อายุน้อย ทุกครั้งที่ฝึกซ้อมกับเด็กคนอื่น เขามักจะกล่าวอย่างมั่นใจว่าสักวันเขาจะเป็นผู้เล่นที่โด่งดังและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ ซึ่งเพื่อน ๆ ต่างก็หัวเราะในความคิดของโรนัลโด กระนั้นเขาก็มุ่งมั่นฝึกฝนตัวเองอย่างหนักนับแต่นั้นเพื่อพิสูจน์ว่าคำพูดของเขาไม่ใช่การเพ้อฝัน โรนัลโดเคยเป็นเด็กที่อารมณ์ร้อนโดยเขาเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียนในวัย 14 ปี จากการขว้างเก้าอี้ใส่อาจารย์โดยโรนัลโดให้เหตุผลว่าอาจารย์ได้ใช้คำพูดดูหมิ่นเขา โรนัลโดเกือบจะไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพเนื่องจากเขาตรวจพบภาวะหัวใจเต้นเร็ว[32] เมื่ออายุ 15 ปี แต่ได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดโดยการยิงเลเซอร์ และกลับมาเล่นฟุตบอลได้ตามปกติ   

กีลียาน อึมบาเปเกิดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พ่อของเขาชื่อว่า วีลฟรีด อึมบาเป มาจากประเทศแคเมอรูน พ่อของเขาก็เป็นผู้จัดการส่วนตัวให้กับเขาและยังเป็นผู้ฝึกฟุตบอลอีกด้วย ในขณะที่เฟย์ซา ลามารี แม่ของเขา เป็นอดีตนักกีฬาแฮนด์บอลประเทศแอลจีเรีย กีลียานมีน้องชายคนเล็กชื่อว่า เอตาน อึมบาเป ซึ่งเป็นนักฟุตบอลเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปีของทีมปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง นอกจากนี้เขายังมีพี่ชายบุญธรรมชื่อว่า ฌีแร็ส แกมโบ เอกอโก ซึ่งเป็นนักฟุตบอลอาชีพเช่นกัน กีลียานมีคริสเตียโน โรนัลโด เป็นแบบอย่างในการเล่นฟุตบอล  เป็นนักฟุตบอลชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันเล่นในตำแหน่งกองหน้าตัวเป้าให้กับสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็งและทีมชาติฝรั่งเศส[2] ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นดาวรุ่งที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในปัจจุบันรวมทั้งการเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เก่งที่สุดในปัจจุบัน จากผลงานการจบสกอร์ การเลี้ยงลูกเข้ากรอบสังหารและความรวดเร็วในการเลี้ยงบอลของเขา นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ยิงประตูให้ฝรั่งเศสได้แชมป์ฟุตบอลโลกปี 2018 จากการเข้าชิงกับประเทศโครเอเชีย โดยเป็นหนึ่งในผู้เล่นดาวรุ่งที่คว้าแชมป์โลกได้ตั้งแต่อายุยังน้อย (19 ปี ในขณะนั้น)

กีลียาน อึมบาเป เป็นนักเตะดาวรุ่งที่มีมูลค่าตัวสูงที่สุดในโลก ด้วยวัยเพียง 19 ปี ค่าตัวของเขาอยู่ที่ 216.7 ล้านยูโร จากสโมสรปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง สัญญาของเขาจะหมดลงในช่วง ค.ศ. 2020 จากการจัดอันดับโดยหอสังเกตการณ์ฟุตบอล ศูนย์กีฬาศึกษาระหว่างประเทศ เขาเริ่มฉายแววโดดเด่นจากสโมสรโมนาโกในลีกเอิงก่อนจะย้ายร่วมทีมปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง และได้แจ้งเกิดก้าวสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลกเต็มตัวด้วยสถิติการทำ 76 ประตูในลีกตลอด 4 ฤดูกาลและพาทีมเข้ารอบชิงชนะเลิศรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกใน ค.ศ. 2020 ตลอดระยะเวลาสี่ปีเขาพาทีมคว้าถ้วยรางวัลในประเทศรวม 9 รายการ

เมสซิเกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1987 ที่โรงพยาบาลอิตาเลียโนการิบัลดิ ในเมืองโรซาริโอ รัฐซานตาเฟ เป็นบุตรของฆอร์เฆ เมสซิ (เกิดปี ค.ศ. 1958) เป็นคนงานโรงงาน และเซเลีย มาริอา กูซิตินิ คนทำความสะอาดนอกเวลา[13][14][15][16] ครอบครัวทางฝั่งพ่อมาจากเมืองในประเทศอิตาลี คือเมืองอังโกนา โดยบรรพบุรุษของเขา อันเจโล เมสซิ อพยพมาอยู่อาร์เจนตินา ในปี ค.ศ. 1883[17][18] เขามีพี่ชาย 2 คนชื่อโรดรีโกและมาเตียส และมีน้องสาวชื่อ มารีอา ซอล[19]

เมื่อเขาอายุ 5 ปี ได้เริ่มเล่นฟุตบอลให้กับกรันโดลี สโมสรท้องถิ่น ที่พ่อเขาคอร์เค เป็นผู้ฝึก[20] ในปี ค.ศ. 1998 เมสซิย้ายไปอยู่สโมสรนีเวลส์โอลบอยส์ ซึ่งอยู่ในเมืองบ้านเกิดเขาโรซาริโอ[20] ตลอด 6 ปีที่เขาอยู่กับนีเวลส์ เขาทำประตูได้มากมาย เป็นสมาชิกของ "เครื่องจักร 87" (The Machine of 87) ทีมเยาวชนที่สมาชิกของทีมเกือบทั้งหมดเกิดในปี 1987 และเป็นทีมที่เกือบจะไม่เคยแพ้เลย และสร้างความสนุกสนานให้ผู้ชมเสมอด้วยการโชว์เทคนิคการเล่นฟุตบอลช่วงพักครึ่งเกมเหย้าของทีมชุดใหญ่[21][22] ตอนอายุ 10 ปี เขามีอาการขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นเขาอาจมีส่วนสูงเต็มที่เพียง 139 เซนติเมตร[23][24] แต่ประกันสุขภาพของพ่อเขาครอบคลุมการรักษาเขาได้เพียงแค่ 2 ปี ซึ่งค่ารักษาหลังจากนั้นเกินกำลังฐานะครอบครัวเขา ประกอบกับอาร์เจนตินากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในขณะนั้น (1999-2001) [25] ทำให้สโมสรนีเวลส์โอลบอยส์ต้นสังกัดของเขาที่ตอนแรกตกลงจะช่วยเหลือเรื่องค่ารักษา ไม่สามารถทำได้ตามทีตกลงกันไว้ และถึงแม้ว่า สโมสรอัตเลติโกริเบร์เปลต (River Plate) สโมสรใหญ่ในลีกสูงสุดของอาร์เจนตินา จะแสดงความสนใจในตัวเมสซิ ก็ไม่ต้องการเสี่ยงรับภาระค่ารักษาพยาบาลให้นักเตะเยาวชน เป็นเงินถึง 900 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ในสภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น [16]

แต่นับว่าเมสซิยังมีความหวังอยู่บ้าง เพราะครอบครัวของเขามีญาติอาศัยอยู่ในเมืองเยย์ดา แคว้นกาตาลุญญา ซึ่งช่วยเหลือนำเทปบันทึกการเล่นฟุตบอลของเมสซิส่งให้สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาพิจารณา หลังผ่านการพิจารณา เมสซิและพ่อของเขาก็เดินทางมาทดสอบฝีเท้าที่บาร์เซโลนา การ์เลส ราซัก ผู้บริหารด้านกีฬาของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาในขณะนั้น ได้เห็นความสามารถของเมสซิ ก็ตัดสินใจเซ็นสัญญากับเขาทันที โดยสัญญาฉบับแรกเขียนขึ้นอย่างคร่าว ๆ ในกระดาษเช็ดปากของร้านอาหารที่การ์เลส ราซัก นัดพูดคุยกับพ่อเขานั่นเอง[26] กลายเป็นตำนานสัญญาผ้าเช็ดปากที่กล่าวกันในปัจจุบัน โดยบาร์เซโลนาเสนอจ่ายค่าพยาบาลให้ทั้งหมด ถ้าเขายินยอมที่จะย้ายมาอยู่สเปน[20] เมสซิและครอบครัวย้ายมายังยุโรป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2001 ขณะที่เขาอายุ 13 ปี และเริ่มเล่นให้สโมสรเยาวชนของทีมตั้งแต่นั้นมา [27]

แต่ในช่วงขวบปีแรกที่บาร์เซโลนาของเขาก็ไม่ง่ายนัก เขายังไม่สามารถลงเล่นในเกมเป็นทางการได้ เนื่องจากเป็นนักเตะเยาวชนต่างชาติ ยังไม่ได้รับสัญชาติยุโรป เขาจึงได้ลงสนามแค่ในเกมกระชับมิตร และเกมในการแข่งขันกาตาลาลีกเท่านั้น อีกทั้งแม่ พี่ชาย 2 คนและน้องสาวของเขาก็ย้ายกลับไปอาร์เจนตินา เหลือเพียงตัวเขากับพ่อเท่านั้นที่ยังอยู่บาร์เซโลนา การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของเขาไม่ง่าย เนื่องจากเป็นเด็กที่ค่อนข้างเงียบ เก็บตัว และมีความต่างด้านภาษา สำเนียง และวัฒนธรรมค่อนข้างมาก (บาร์เซโลนาใช้ภาษากาตาลาอย่างแพร่หลาย) และในปี 2002 เขาก็ได้รับการลงทะเบียนเป็นนักเตะสามารถลงแข่งขันได้ทุกรายการ และเริ่มมีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น นักฟุตบอลซึ่งเติบโตมาด้วยกันที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ฌาราร์ต ปิเก และเซสก์ ฟาเบรกัส[28]

พออายุ 14 ปี การรักษาภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโตของเขาก็สำเร็จเสร็จสิ้น เมสซิก็กลายเป็นส่วนสำคัญของ เบบี้ ดรีมทีม (Baby dream Team) ทีมเยาวชนที่ดีที่สุดที่เคยมีมาของสโมสร ในฤดูกาลแรก 2002-03 ที่เขาสามารถเล่นได้เต็มฤดูกาล เขาเป็นดาวซัลโวสูงสุดด้วยจำนวนประตู 36 ประตูจาก 30 เกม ของทีมเยาวชนอายุ 14-15 ปี (Cadetes A) ซึ่งได้ทริปเปิลแชมป์ แชมป์ลีก ถ้วยเยาวชนสเปน และถ้วยกาตาลาคัพ ในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศถ้วยกาตาลาคัพซึ่งเอาชนะทีมเยาวชนเอสปัญญอลไปได้ 4–1 เป็นที่รู้จักในสโมสรว่าเป็น "นัดหน้ากาก" เนื่องจาก 1 สัปดาห์ก่อนการแข่งขันเมสซิได้รับบาดเจ็บกระดูกโหนกแก้มแตกในการแข่งขันเกมลีก เมสซิได้รับอนุญาตให้เป็นตัวจริงลงแข่งได้ แต่ต้องสวมหน้ากากป้องกันการกระแทก หลังจากเริ่มแข่งไปได้ไม่นานเมสซิก็ถอดหน้ากากออกและยิง 2 ประตูก่อนจะถูกเปลี่ยนตัวออกใน 10 นาทีต่อมา ตอนจบฤดูกาลเขาได้รับข้อเสนอให้ไปร่วมทีมจากสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล สโมสรดังจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ แต่ในขณะที่ฌาราร์ต ปิเก และเซสก์ ฟาเบรกัส เลือกรับข้อเสนอจากสโมสรอังกฤษ เมสซิเลือกที่จะอยู่บาร์เซโลนาต่อ[29][30]


สตีเวน จอร์จ เจอร์ราร์ด (อังกฤษ: Steven George Gerrard; เกิด 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1980) เป็นอดีตนักฟุตบอลชาวอังกฤษ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทีมของอัลอิตติฟาก ในซาอุดีโปรเฟสชันนัลลีก

เจอร์ราร์ดใช้เวลาเกือบตลอดอาชีพในการลงเล่นกับสโมสรลิเวอร์พูล ในพรีเมียร์ลีก ประเดิมสนามนัดแรกให้ทีมใน ค.ศ. 1998 และลงเล่นทีมชุดใหญ่ใน ค.ศ. 2000 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมใน ค.ศ. 2003 และเป็นผู้นำทีมในชุดที่ชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2005 นัดที่เอาชนะจุดโทษเอซี มิลาน หลังจากเสมอกัน 3-3 ทั้งที่ตกเป็นรองไปก่อน 0-3 ซึ่งการแข่งขันนัดนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็น "ปาฏิหาริย์แห่งอิสตันบูล"[4] โดยเจอร์ราร์ดได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมในการแข่งขัน รวมทั้งพาทีมสร้างปาฏิหาริย์อีกครั้งจากการชนะเลิศเอฟเอคัพ 2006 นัดที่พบเวสต์แฮม ซึ่งเจอร์ราร์ดทำประตูสำคัญให้ทีมตีเสมอ 3-3 และนัดนั้นได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนัดชิงชนะเลิศที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการแข่งขันทุกรายการของฟุตบอลอังกฤษ[5][6] และเจอร์ราร์ดได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมไปอีกครั้ง

ตลอดการเล่นกับลิเวอร์พูล เจอร์ราร์ดชนะเลิศการแข่งขัน 9 รายการ[7] ได้แก่ เอฟเอคัพ 2 สมัย, ลีกคัพ 3 สมัย, ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1 สมัย, ยูฟ่าคัพ 1 สมัย, เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ 1 สมัย และ ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 1 สมัย และได้รับอันดับสามในการประกาศรางวัลบาลงดอร์ปี 2005 เจอราร์ดสามารถเล่นได้หลายตำแหน่ง[8] และมีจุดเด่นในเรื่องความเป็นผู้นำ[9][10][11] เขาเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ทำประตูได้ในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศรายการสำคัญ 4 รายการได้แก่ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่าคัพ, เอฟเอคัพ และ ลีกคัพ เจอราร์ดได้รับพระราชทานยศเป็นสมาชิกแห่งจักรวรรดิบริเตน โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ใน ค.ศ. 2007 และได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศของพรีเมียร์ลีกใน ค.ศ. 2021[12][13]

เจอร์ราร์ดเป็นผู้เล่นที่ลงสนามให้กับทีมชาติอังกฤษมากที่สุดเป็นอันดับ 4 จำนวน 114 นัด และทำได้ 21 ประตู โดยเขาเป็นหนึ่งในหกผู้เล่นชายที่ลงสนามให้ทีมชาติอังกฤษครบ 100 นัด[14] เขาติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกในปี 2000 และมีส่วนร่วมกับทีมชาติในรายการสำคัญหลายรายการ ลงเล่นในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 3 สมัย (2000, 2004 และ 2012), ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 3 สมัย (2006, 2010 และ 2014) และได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมในการแข่งขัน ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012[15] ซึ่งเขามีชื่อติดทีมยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน[16] ก่อนจะประกาศเลิกเล่นทีมชาติใน ค.ศ. 2014 และประกาศเลิกเล่นอาชีพใน ค.ศ. 2016 สโมสรสุดท้ายคือ แอลเอ แกลักซี

ภายหลังเลิกเล่นอาชีพ เจอร์ราร์ดรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนทีมเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ลิเวอร์พูล ก่อนจะไปรับงานคุมทีมเรนเจอส์ ในสกอตติชพรีเมียร์ชิป ใน ค.ศ. 2018 และพาทีมชนะเลิศลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ในฤดูกาล 2020-21 และอำลาเรนเจอส์เพื่อมาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมแอสตันวิลลาในพรีเมียร์ลีกใน ค.ศ. 2021[17]


มาร์คัส แรชฟอร์ด เอ็มบีอี (อังกฤษ: Marcus Rashford; เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1997) เป็นนักฟุตบอลอาชีพชาวอังกฤษที่เล่นเป็นกองหน้าให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและทีมชาติอังกฤษ เขาขึ้นชื่อในเรื่องเกมรุก การเลี้ยงบอล และความเยือกเย็น[2][3]

ผลผลิตจากระบบเยาวชนของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เขาเข้าร่วมสโมสรเมื่ออายุได้ 7 ขวบ แรชฟอร์ดทำ 2 ประตูในนัดเปิดตัวให้กับทีมชุดใหญ่และในฟุตบอลสโมสรยุโรปที่พบกับมิดทิลแลนด์ในยูฟ่ายูโรปาลีกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 เนื่องจากอาการบาดเจ็บของอ็องตอนี มาร์ซียาลระหว่างการฝึกซ้อม และ 2 ประตูในเกมพรีเมียร์ลีกนัดแรกของเขาเจอกับอาร์เซนอลในอีก 3 วันต่อมา เขายังทำประตูในแมนเชสเตอร์ดาร์บีครั้งแรกของเขา เช่นเดียวกับนัดเปิดตัวในลีกคัพและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แรชฟอร์ดคว้าแชมป์เอฟเอคัพ, ลีกคัพ 2 สมัย, เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์และยูฟ่ายูโรปาลีกกับยูไนเต็ด

แรชฟอร์ดเริ่มเล่นฟุตบอลให้กับเฟลตเชอร์ มอส เรนเจอส์ เมื่ออายุ 5 ขวบ[4] โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้รักษาประตู และยกทิม ฮาวเวิร์ดอดีตผู้รักษาประตูของยูไนเต็ดเป็นไอดอลในตำแหน่งผู้รักษาประตูของเขา[5][6] เดฟ ฮอร์ร็อคส์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาอคาเดมี่ของเฟลตเชอร์ มอส เรนเจอส์ เล่าว่าแรชฟอร์ดอยู่ใน “ระดับที่แตกต่าง” จากเด็กคนอื่น ๆ โดยมีบทบาทสำคัญในทีมที่ชนะการแข่งขันโดยมีแมวมอง 15 คนจากสโมสรต่าง ๆ เฝ้าดูอยู่[7]

เขาใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในการฝึกซ้อมกับแมนเชสเตอร์ซิตี ก่อนที่จะเข้าร่วมระบบอะคาเดมีของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เมื่ออายุ 7 ขวบ ท่ามกลางความสนใจจากเอฟเวอร์ตันและลิเวอร์พูล[8][9] เขาให้เครดิตพี่ชายของเขาในการช่วยเขาตัดสินใจเข้าร่วมยูไนเต็ด[10] พอล แมคกินเนส อดีตโค้ชเยาวชนของยูไนเต็ด (ลูกชายของวิล์ฟ แม็คกินเนส อดีตผู้จัดการทีมยูไนเต็ด) มองเห็นศักยภาพของแรชฟอร์ดอย่างรวดเร็วเนื่องจากเห็นความเป็นนักกีฬาของเขาทั้งในและนอกสนาม[7] แต่ในช่วงปีแรก ๆ ที่สโมสรเขามักจะพลาดการฝึกซ้อมอันเป็นผลมาจากความยากลำบากในการเดินทางไปที่นั่นในขณะที่แม่และพี่ชายของเขาอยู่ที่ทำงาน ในที่สุดเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากโค้ชเยาวชนของสโมสรเช่น Dave Bushell, Eamon Mulvey และ Tony Whelan ซึ่งช่วยหาคนขับรถให้แรชฟอร์ดเพื่อไปที่สนามฝึกซ้อม แรชฟอร์ดมีชื่ออยู่บนม้านั่งสำรองของทีมชุดใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนโดยลูวี ฟัน คาลในการแข่งขันพรีเมียร์ลีกที่พบกับวอตฟอร์ด ซึ่งแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชนะ 2–1 แต่เขาไม่ได้ลงเล่น[11] เขาได้รับเสื้อแข่งหมายเลข 39 เนื่องจากฟัน คาลยืนกรานว่ากองหน้าจะต้องสวมเสื้อที่มีหมายเลข 9[12] สัปดาห์ถัดมากับเลสเตอร์ซิตี เขามีชื่ออยู่บนม้านั่งสำรองอีกครั้งโดยไม่ได้ใช้ในเกมที่เสมอ 1–1[13] ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 แรชฟอร์ดได้รับข้อเสนอยืมตัวจากครูว์ อเล็กซานดรา สโมสรในลีกวัน แต่ข้อตกลงยืมตัวถูกปฏิเสธโดยวอร์เรน จอยซ์ ผู้จัดการทีมสำรองในเวลานั้น[14][15]


เนย์มาร์ ดา ซิลวา ซังตุส ฌูนีโยร์ (โปรตุเกส: Neymar da Silva Santos Júnior; เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992) เป็นนักฟุตบอลชาวบราซิล ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเตะที่มีฝีเท้าดีที่สุดในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้เล่นชาวบราซิลที่ดีที่สุดตลอดกาล[2][3][4][5] เขาเล่นให้กับสโมสรอัลฮิลาล และทีมชาติบราซิลในตำแหน่งกองหน้า มีจุดเด่นในด้านการเลี้ยงลูกบอล การเคลื่อนที่ และการทำประตู เขายังเป็นหนึ่งในผู้เล่นไม่กี่รายที่สามารถทำอย่างน้อย 100 ประตูให้แก่สามสโมสร[6]

เนย์มาร์เริ่มมีชื่อเสียงกับสโมสรซังตุสในบราซิล ซึ่งเขาเซ็นสัญญากับทีมเมื่ออายุ 17 ปี ก่อนจะช่วยให้สโมสรคว้าแชมป์คัมเปโอนาโตเปาลิสตา 2 สมัยติดต่อกัน เนย์มาร์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของอเมริกาใต้ถึงสองครั้งในปี 2011 และ 2012 ก่อนจะย้ายไปร่วมทีมบาร์เซโลนา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสามประสานตัวหลักของทีมร่วมกับ ลิโอเนล เมสซิ และลุยส์ ซัวเรซ[7] เนย์มาร์คว้าแชมป์ลาลิกา, โกปาเดลเรย์ และ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้ในฤดูกาล 2014–15 และได้อันดับสามในการประกาศรางวัลบาลงดอร์ปี 2015 และคว้าแชมป์ลาลิกาได้อีกครั้งในปี 2016 ก่อนจะย้ายไปปารีแซ็ง-แฌร์แม็งในปี 2017 ด้วยมูลค่า 222 ล้านยูโร ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเนย์มาร์คว้าแชมป์ลีกเอิง 3 สมัย, กุปเดอฟร็องส์ 3 สมัย และ กุปเดอลาลีก 2 สมัย และได้รับรางวัลผู้เล่นแห่งปีของลีกเอิงในฤดูกาลแรกของเขา และในฤดูกาล 2020–21 เนย์มาร์พาทีมคว้าแชมป์ได้ถึง 4 รายการ รวมทั้งผ่านเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรก[8] ในปัจจุบัน เขายังครองสถิติในการเป็นผู้เล่นชาวบราซิลที่ทำประตูสูงสุดในการแข่งขันดังกล่าว[9] เนย์มาร์ย้ายร่วมทีมอัลฮิลาลใน ค.ศ. 2023

เนย์มาร์ติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกใน ค.ศ. 2010 ในวัย 18 ปี และในปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าของสถิติผู้ทำประตูให้ทีมชาติบราซิลสูงสุดจำนวน 79 ประตูจากจำนวน 125 นัด ถ้วยรางวัลแรกในนามทีมชาติของเนย์มาร์คือ ฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์อเมริกาใต้ ใน ค.ศ. 2011 ซึ่งเขาได้รับรางวัลผู้ทำประตูสูงสุด ต่อมา เขาพาบราซิลชนะเลิศรายการ ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ ในปี 2013 และได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน ก่อนจะมีอาการบาดเจ็บในรายการใหญ่สองรายการถัดมาได้แก่ ฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ และโกปาอเมริกา 2015 เนย์มาร์เป็นกัปตันทีมชาติอย่างเป็นทางการในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 และพาบราซิลคว้าเหรียญทองได้ และเป็นตัวหลักของทีมในฟุตบอลโลก 2018[10] แต่เขาพลาดการแข่งขันโกปาอเมริกา 2019 ก่อนจะพาทีมคว้ารองแชมป์ได้ในปี 2021

เนย์มาร์คว้าอันดับสามในการประกาศผลฟีฟ่าบาลงดอร์ 2015 และ บาลงดอร์ 2017 รวมทั้งได้รับรางวัลฟีฟ่า ปุสกัส อวอร์ด และมีชื่ออยู่ในทีมแห่งปีของยูฟ่าสองครั้ง และทีมแห่งฤดูกาลของยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอีกสามครั้ง เขายังถือเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง[11] SportsPro ยกให้เขาเป็นนักกีฬาที่โด่งดังในแง่การตลาดมากที่สุดในในปี 2012 และ 2013 และ อีเอสพีเอ็น ยกให้เขาเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2016 และในปี 2017 นิตยสารไทม์ได้จัดอันดับให้เขามีชื่ออยู่ใน 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลก[12] ในปี 2018 นิตยสาร France Football จัดอันดับให้เขาเป็นนักฟุตบอลที่ได้รับค่าเหนื่อยสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และในสองปีต่อมา (ค.ศ. 2019–20) นิตยสารฟอบส์ ได้จัดอันดับให้เนย์มาร์เป็นนักกีฬาที่ได้รับค่าจ้างสูงทีสุดเป็นอันดับที่ 3[13] และ 4[14] ของโลกตามลำดับ