ภาษาโปรแกรม

ภาษาโปรแกรม คอมพิวเตอร์มีวิวัฒนาการมายาวนาน นับตั้งแต่การสั่งงานคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาเครื่องที่ประกอบด้วยเลข 0 และ 1 ในยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็น อุปสรรคต่อการเขียนโปรแกรมขนาดใหญ่ เนื่องด้วยความยากของการเขียนคอมพิวเตอร์ จนมาถึงปัจจุบันที่ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีความคล้ายคลึง กับภาษาอังกฤษทำให้การเขียนโปรแกรมขนาดใหญ่ทำได้รวดเร็วและมีความผิดพลาดน้อยลง แต่เนื่องจากคอมพิวเตอร์ยังคงต้องทำงานตามคำสั่งภาษาเครื่อง เมื่อเราเขียนโปรแกรมแล้วจึงต้องมีการแปลให้เป็นภาษาเครื่องก่อน

ตัวแปลภาษาโปรแกรมมี 2 ประเภทคือ

1 คอมไพเลอร์ (compiler) จะแปลโปรแกรมทั้งโปรแกรมให้ถูกต้อง จึงจะได้ผลเป็นโปรแกรมภาษาเครื่องที่นำไปส่งงานคอมพิวเตอร์ได้ภาษาที่ต้องแปลด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น C , C++, Java

2. อินเทอร์พรีเตอร์ (interpreter) จะแปลคำสั่งในโปรแกรมที่ทีละคำสั่งให้เป็นภาษาเครื่องส่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานทันที โดยไม่ต้องรอให้แปลเสร็จทั้งโปรแกรม เช่น Python Logo

ปัจจุบันยังมีภาษาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้ใช้ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่ใช้ในการกำหนดรูปแบบการแสดงผล หรือรูปแบบการเก็บข้อมูล เพื่อให้เป็นมาตรฐานสำหรับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ใช้งานข้อมูลร่วมกันได้ เช่น ภาษาเอชทีเอ็มแอล (Hyper Text Markup Up Language : HTML) ที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบการแสดงผลของหน้าเว็บ หรือเอกซ์เอ็มแอล (Extensible Markup Language : XML) ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการเก็บข้อมูล

นอกจากภาษาโปรแกรมมาตรฐานที่ใช้ในการทำงานเหล่านี้แล้ว ยังมีการพัฒนาเครื่องมือการโปรแกรมที่อยู่ในรูปแบบกราฟิก เพื่อใช้ในการเริ่มต้นศึกษาแนวคิดการโปรแกรม เช่น Scratch และ Alice โดยเครื่องมือเหล่านี้จะมีบล็อกคำสั่งต่าง ๆ ให้นักเรียนลากวางประกอบกันเป็นโปรแกรม แล้วสั่งให้ทำงานได้ อาจมีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์รับสัญญาณอื่น หรือสั่งงานให้อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ปฏิบัติตามคำสั่งได้ ส่วนใหญ่แล้วเครื่องมือเหล่านี้จะนิยมใช้เพื่อการเรียนรู้แนวคิดการโปรแกรม

สรุปท้ายบท

ปัญหาที่นักเรียนพบในชีวิตประจำวันบางปัญหาสามารถหาคำตอบได้ในทันที ขณะที่บางปัญหาอาจต้องใช้เวลานานในการค้นหาคำตอบ การแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลมีขั้นตอนและใช้เวลาที่แตกต่างกัน ความรู้และประสบการณ์จะส่งผลต่อความสามารถในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามเราทุกคนต่างต้องการหาวิธีในการแก้ปัญหาที่ทำให้ได้คำตอบที่ถูกต้องในเวลารวดเร็ว การปฏิบัติตามขั้นตอนการแก้ปัญหา จะทำให้ได้วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เริ่มจากทำความเข้าใจกับปัญหา โดยวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา พิจารณาว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ข้อมูลเข้าจะเป็นสิ่งใดบ้าง เคยแก้ปัญหาลักษณะเดียวกันมาก่อนหรือไม่ ข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดให้เพียงพอที่จะหาคำตอบหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากทำความเข้าใจกับปัญหาแล้วให้วางแผนหรือออกแบบอัลกอริทึมในการหาคำตอบ เครื่องมือในการออกแบบอาจใช้รหัสลำลองหรือผังงาน หลังจากนั้นดำเนินการเขียนโปรแกรมหรือปฏิบัติตามที่ออกแบบไว้ สุดท้ายตรวจสอบผลลัพธ์ว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้ายังไม่ถูกต้องก็ดำเนินการปรับปรุงให้ถูกต้อง