รูปแบบการจัดอบรม : On-site

ระยะเวลาอบรม  วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2566 

CMTE : 25 คะแนน

ค่าลงทะเบียน :  คนละ 4,500 บาท (รับจำนวน 50 คน)

กลุ่มเป้าหมาย : บุคลากร นักเทคนิคการแพทย์ 

วิทยากร :

1. รศ.พญ.ศิริลักษณ์  อนันต์ณัฐศิริ

2. ทนพ.อดิศักดิ์ แสงจันทร์คุ้ม

3. ศ.ดร.อรุณลักษณ์  ลุลิตานนท์

4. รศ.ดร.อรุณวดี     ชนะวงศ์  

5. รศ.ดร.นิชา เจริญศรี 

6. รศ.ดร.พรทิพย์      ปิ่นลออ

7. รศ.ดร.ไมตรี ปะการะสังข์

8. ผศ.ดร.อรุณนี สังกา

9. รศ.ดร.ราตรี ทวิชากรตระกูล

10. ผศ.ดร.พัชราภรณ์ ทิพยวัฒน์

11. ผศ.ดร.อัญชลี เตชะเสน

12. อ.ดร.อาภาศิริ ศรีเศรษฐการ

       หลักการและเหตุผล

สถานการณ์การดื้อยาของแบคทีเรียในปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากยาทางเลือกที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยามีจำกัดและจำเป็นต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อได้กว้างขึ้น ซึ่งยาเหล่านี้มักมีราคาแพง การพัฒนาหรือคิดค้นยาชนิดใหม่มีน้อยมากเพราะไม่คุ้มทุน หากเชื้อดื้อต่อยาทุกชนิดที่มีอยู่ก็จะไม่มียาสำหรับรักษาการติดเชื้อนั้น ๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มตามไปด้วย ปัจจัยที่ส่งเสริมให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยา ได้แก่ การใช้ยามากเกินความจำเป็น เช่น การใช้สารต้านแบคทีเรียในผู้ป่วยโรคหวัด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น และปอดบวมจากไวรัส หรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ การให้สารต้านแบคทีเรียโดยไม่ได้เพาะเชื้อและพิสูจน์ชนิดของเชื้อก่อโรค หรือไม่ได้ทดสอบความไวของเชื้อต่อยา การให้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างแทนยาที่ออกฤทธิ์แคบทำให้เกิดการคัดเลือกเชื้อดื้อยา ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง ผู้ป่วยซื้อยารับประทานเอง การใช้ยาชนิดใหม่ทั้งที่ยาชนิดเก่ายังให้ผลดี การใช้สารต้านจุลชีพในทางเกษตรกรรม ตลอดจนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญของสัตว์ แต่เป็นการคัดเลือกเชื้อดื้อยาในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ องค์การอนามัยโลกระบุว่าการดื้อยาของแบคทีเรียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ลดลง การรักษาโรคติดเชื้อยากขึ้นเนื่องจากไม่มียาที่มีประสิทธิภาพ จึงอาจนำไปสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ (post antibiotic era) ในที่สุด ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักและหาแนวทางควบคุมและป้องกันเพื่อลดปัญหาการ   ดื้อยาที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับประเทศไทยในปีพ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564             ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อลดอัตราการป่วยจากเชื้อดื้อยา ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์และสัตว์ ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล จากการประเมินผลยังไม่บรรลุเป้าประสงค์ทั้งหมด จึงมีการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ตลอดจนร่วมแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพกับนานาประเทศทั่วโลก

ปัญหาการดื้อยาของแบคทีเรียก่อโรคที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยา methicillin (methicillin-resistant S. aureus หรือ MRSA) S. aureus ที่ดื้อต่อยา vancomycin (vancomycin-resistant S. aureus หรือ VRSA) หรือไวลดลงต่อยา vancomycin  (heterogenous vancomycin-intermediately susceptible S. aureus หรือ hVISA และ vancomycin-intermediately susceptible S. aureus หรือ VISA) Streptococcus pneumoniae ที่ดื้อต่อยา penicillin (penicillin-resistant S. pneumoniae หรือ PRSP) Enterococcus ที่ดื้อต่อยา vancomycin (vancomycin-resistant Enterococcus หรือ VRE) Enterobacterales ที่ดื้อต่อยากลุ่ม cephalosporins รุ่นที่ 3 โดยเอนไซม์ extended spectrum -lactamase (ESBL) หรือดื้อต่อยากลุ่ม carbapenems (carbapenem-resistant Enterobacterales หรือ CRE) โดยการผลิตเอนไซม์ carbapenemase (carbapenemase-producing Enterobacterales หรือ CPE) หรือดื้อต่อยา colistin โดยยีนดื้อยาที่อยู่บนพลาสมิดที่เรียกว่ายีน mobilized colistin resistance (mcr) ตลอดจนการดื้อยากลุ่ม carbapenems และ colistin ใน Pseudomonas aeruginosa และ Acinetobacter baumannii ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิกในการทดสอบการดื้อยาของแบคทีเรียเหล่านี้นอกเหนือจากการทดสอบความไวของเชื้อที่เป็นงานประจำ

การทดสอบการดื้อยาของแบคทีเรียทำได้ 2 วิธี คือวิธีทางฟีโนไทป์ (phenotypic methods) และวิธีทางจีโนไทป์ (genotypic methods) วิธีทางฟีโนไทป์เป็นการทดสอบคุณลักษณะการดื้อยาที่แบคทีเรียแสดงออกมา ซึ่งมีทั้งวิธีที่ยุ่งยากและต้องใช้เวลาหลายวัน หรือวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว ห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ทำการทดสอบการดื้อยาของแบคทีเรียโดยวิธีทางฟีโนไทป์ที่แนะนำโดย Clinical Laboratory Standards Institute (CLSI) ส่วนวิธีทางจีโนไทป์เป็นการทดสอบการดื้อยาโดยใช้เทคนิคทางโมเลกุล (molecular techniques) เช่น การตรวจหายีนดื้อยาโดยการเพิ่มชิ้นส่วนของยีนเป้าหมายด้วยเทคนิค polymerase chain reaction (PCR) ซึ่งใช้อุณหภูมิต่างๆ ในแต่ละขั้นตอนและอาศัยเครื่องมือพิเศษ หรือเทคนิค isothermal amplification ซึ่งใช้เพียงอุณหภูมิเดียวและระยะเวลาในการทดสอบสั้นลง หรือการตรวจยีนดื้อยาโดยการตรวจลำดับของนิวคลิโอไทด์ (nucleotide sequencing) หรือการตรวจ whole genome sequencing (WGS) ซึ่งสามารถตรวจยีนดื้อยาต่าง ๆ ได้ในครั้งเดียว วิธีทางจีโนไทป์มีประโยชน์สำหรับบางกรณีที่จำเป็นต้องระบุยีนดื้อยาเพื่อการรักษา ใช้เป็น gold standard สำหรับการพัฒนาวิธีใหม่ๆ นอกจากนี้ใช้ในการศึกษาทางระบาดวิทยา ดังนั้นห้องปฏิบัติการควรเลือกวิธีทดสอบเชื้อดื้อยาที่เหมาะสมสำหรับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อเป็นข้อมูลแก่แพทย์ในการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งหน่วยงานควบคุมโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาเหล่านี้ต่อไป