เกี่ยวกับเรา
เกี่ยวกับเรา
วิทยาลัยดุริยศิลป์ พัฒนามาจากแผนกดนตรีคริสตจักรวิทยาลัยพระคริสตธรรมในระยะแรก มีฐานะเป็น สาขาวิชา สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ นับเป็น 1 ใน 8 สาขาวิชาแรกที่เปิดดำเนินการพร้อมกับการก่อตั้งวิทยาลัยพายัพเมื่อปี พ.ศ.2517 โดยมีอาจารย์แคโรลีน คิงสฮิลล์ เป็นหัวหน้าสาขาวิชาดุริยศิลป์คนแรก การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ทางวิชาการดนตรีสากลแบบรอบด้าน เพื่อให้สามารถทำงานด้านดนตรีได้อย่างหลากหลาย
ในปี พ.ศ. 2548 ภาควิชาดุริยศิลป์ได้ปรับปรุงหลักสุตรและจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญดนตรีเฉพาะทางมากขึ้น โดยแบ่งกลุ่มวิชาออกเป็น 6 แขนงวิชา คือ ดนตรีศึกษา ดนตรีเชิงพาณิชย์ การประพันธ์เพลง ดนตรีแจ๊ส ดนตรีศาสนา และการแสดงดนตรี การจัดกลุ่มแขนงวิชาทำให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนในกลุ่มแขนงวิชาที่นักศึกษาสนใจเป็นพิเศษ ตามความถนัดของแต่ละคน สามารถพัฒนาทักษะให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้
ในปี พ.ศ. 2549 ภาควิชาดุริยศิลป์ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดุริยศิลป์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชา 4 แขนงวิชา คือ ดนตรีศึกษา ดนตรีชาติพันธุ์ การประพันธ์เพลง และการแสดงดนตรีสากล จากการขยายงานด้านการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ ในปี พ.ศ. 2551 ภาควิชาดุริยศิลป์จึงได้รับการปรับสถานภาพเป็นวิทยาลัยดุริยศิลป์
วิทยาลัยดุริยศิลป์มีกิจกรรมบริการวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง คณาจารย์ได้รับเชิญเป็นวิทยากร กรรมการตัดสินในกิจกรรมบริการวิชาการต่างๆ และเข้าร่วมกิจกรรมการจัดแสดงดนตรีให้แก่องค์กร หน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ วิทยาลัยดุริยศิลป์ยังมีแหล่งบริการวิชาการด้านดนตรีหลากหลาย เช่น
1. สถาบันดนตรี ที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพด้านดนตรีให้แก่นักเรียนเยาวชนในเชียงใหม่
2. ศูนย์ทดสอบมาตรฐานดนตรีของสถาบัน Trinity Guildhall of London
3. เป็นสถานที่ประสานงานของสมาคมนักเปียโนภาคเหนือ
นอกจากนี้ คณาจารย์และนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยศิลป์ยังมีบทบาทสำคัญในแสดงของวงเยาวชนเชียงใหม่ซิมโฟนีออร์เคสตรา (The Chiang Mai Philharmonic Youth Band & The Chiang Mai Symphony Orchestra) อันเป็นวงคอนเสริต์ดนตรีคลาสสิกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ และพัฒนาวง Big Band Jazz ของวิทยาลัยดุริยศิลป์ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาดนตรีของภาคเหนือ เปิดโอกาสให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และให้ผู้ที่สนใจเรียนด้านดนตรีได้มีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งในศิลปะการดนตรี
ปณิธาน
วิทยาลัยดุริยศิลป์ มุ่งผลิตบัณฑิตด้านดนตรีที่มีคุณภาพด้านวิชาการ มีทักษะ และมีจริยธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งค้นคว้าและเผยแพร่วิชาการด้านดนตรีให้แก่ประเทศชาติและสังคมโลก
วิสัยทัศน์
“แหล่งเรียนรู้ดนตรีระดับสากล สร้างคนดีสู่พลเมืองโลก”
เป้าหมาย
1. มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาดนตรีในประเทศไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐานเท่าเทียมกับสถาบันการศึกษานานาชาติ รวมทั้งเครือข่ายทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาและองค์กรทางดนตรีทั้งใน และต่างประเทศ
2. ส่งเสริมและขยายพันธกิจทั้ง 4 ด้าน คือ การผลิตบัณฑิต การผลิตผลงานทางวิชาการ การบริการวิชาการสู่สังคม และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ในลักษณะเชิงรุก อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สร้างระบบบริหารจัดการด้านวิชาการควบคู่กับด้านธุรกิจ จากโครงการพิเศษ และกิจกรรมต่างๆ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีให้มีความรู้ความสามารถที่มีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมในการรับใช้สังคม
2. เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนา และยกระดับมาตรฐานวิชาการดนตรีให้สูงขึ้น
3. เป็นแหล่งเผยแพร่ และให้บริการวิชาการทางดนตรี
4. เป็นแหล่งสนับสนุนส่งเสริม และสืบสานศิลปวัฒนธรรมการดนตรี
5. มีการบริหารจัดการ ให้มีการบริหารด้านวิชาการควบคู่กับการบริหารเชิงธุรกิจ เพื่อนำมาใช้ในการศึกษาจากประสบการณ์ทำงานจริง
บัณฑิตที่พึงประสงค์
1. มีความรอบรู้เชี่ยวชาญทางวิชาการด้านดนตรี
2. มีจริยธรรม และจิตสาธารณะ
3. มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการใช้ภาษาต่างประเทศ เพื่อการประกอบวิชาชีพ
4. มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำความรู้ความสามารถไปประยุกต์ใช้ในการประกอบวิชาชีพได้
5. มีความเข้าใจ ภูมิใจ และหวงแหนอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและชาติ