พฤติกรรมการซื้อเครื่องประดับเงินของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

BEHAVIOR OF BUYING SILVER JEWELRY OF BURAPHA UNIVERSITY STUDENTS CHANTHABURI CAMPUS

ผู้นำเสนอ  นางสาวอมิตตา วุฒิจารุวงศ์

รหัสประจำตัว 62320009

สาขาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ปีการศึกษา 2565

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นที่จะศึกษาพฤติกรรมการซื้อเครื่องประดับเงินของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี โดยวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าเครื่องประดับเงินของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี 2) เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการซื้อสินค้าเครื่องประดับเงินของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี 3) เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการซื้อสินค้าเครื่องประดับเงินของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เพื่อนำมาวางแผนทางการตลาดและกำหนดกลยุทธ์ของร้านค้าให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี จำนวน 294 คน โดยแบ่งออกเป็นคณะเทคโนโลยีทางทะเลจำนวน 69 คน คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์จำนวน 191 คน และคณะอัญมณีจำนวน 34 คน โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-test และสถิติ One-way ANOVA (F-test) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05

          ผลการวิจัยของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็น เพศหญิง จำนวน 173 คน คิดเป็นร้อยละ 58.8 ช่วงอายุอยู่ที่ 21-23 ปี จำนวน 149 คน คิดเป็นร้อยละ 50.7 มีงบประมาณต่อเดือน 7,001 – 9,000 บาท จำนวน 117 คน คิดเป็นร้อยละ 39.8 ส่วนใหญ่ศึกษาอยู่คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ จำนวน 191 คน คิดเป็นร้อยละ 65 1) พฤติกรรมของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรีในการตัดสินใจซื้อเครื่องประดับเงิน พบว่า ส่วนใหญ่เลือกซื้อเครื่องประดับประเภทต่างหู จำนวน 201 คน คิดเป็นร้อยละ 27.9 ซื้อเพราะชื่นชอบ จำนวน 239 คน คิดเป็นร้อยละ 41.2 บุคคลที่มีอิทธิพลคือตนเอง จำนวน 268 คน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ จำนวน 183 คน คิดเป็นร้อยละ 62.2 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 501 – 1,000 บาท จำนวน 162 คน คิดเป็นร้อยละ 55.1 2) ส่วนประสมทางการตลาดของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี พบว่า ด้านผลิตภัณฑ์ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ เครื่องประดับไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้/ระคายเคือง มีค่าเฉลี่ย 4.47 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านราคาข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ สินค้ามีราคาระบุชัดเจน มีค่าเฉลี่ย 4.41 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ จัดแบ่งหมวดหมู่สินค้าเครื่องประดับให้เลือกซื้อง่าย มีค่าเฉลี่ย 4.52 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการส่งเสริมการตลาดข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ มีการรับประกันสินค้า สามารถเปลี่ยนหรือซ่อมได้ มีค่าเฉลี่ย 4.22 อยู่ในระดับมากที่สุด       3) แรงจูงใจในการซื้อของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี พบว่า ด้านแรงจูงใจจากตัวผลิตภัณฑ์ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ มีการออกแบบลวดลายที่โดดเด่น มีค่าเฉลี่ย 4.43 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านแรงจูงใจที่เกิดจากเหตุผลข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ สินค้ามีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ มีค่าเฉลี่ย 4.46 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านแรงจูงใจที่เกิดจากอารมณ์ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ซื้อตามความพอใจ มีค่าเฉลี่ย 4.46 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านแรงจูงใจที่เกิดจากการอุปถัมภ์ของร้านค้าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ชื่อเสียงของทางร้านมีความน่าเชื่อถือ มีค่าเฉลี่ย 4.29 อยู่ในระดับมากที่สุด