การศึกษาปัญหาและศักยภาพของตลาดพลอย เพื่อสร้าง TOWS MATRIX จากผู้ประกอบการ อัญมณีและเครื่องประดับชาวไทย บริเวณตลาดพลอย จังหวัดจันทบุรี

STUDY THE PROBLEMS AND POTENTIAL OF THE GEMS MARKET TO CREATE TOWS MATRIX FROM THAI GEMS AND JEWELRY ENTREPRENEURS, GEMS MARKET IN CHANTHABURI PROVINCE

ผู้นำเสนอ  นางสาวสมาพร  เพชรราช

รหัสประจำตัว 62320002 

สาขาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ปีการศึกษา 2565

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับชาวไทย ด้านปัจจัยทางการตลาดต่อการซื้อขายพลอย 2) ศึกษาความต้องการด้านปัจจัยทางการตลาดต่อการซื้อขายพลอยของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับชาวไทย 3) จัดทำ SWOT Analysis และสร้าง TOWS Matrix จากความคิดเห็นของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับชาวไทย ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกรายบุคคล ผ่านคำถามแบบกึ่งโครงสร้าง พบว่า ผู้ประกอบการทั้งหมด 15 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์การทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ชนิดอัญมณีที่นิยมซื้อขายมากที่สุด คือ ทับทิม ไพลิน รูเบลไลท์ ทัวร์มารีน และสเปสซาร์ไทต์ ตามลำดับ

          ผลการวิจัย 1) ปัญหาการดำเนินงานของผู้ประกอบการ ด้านผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดพลอยมีอัญมณีหลากหลายชนิดให้เลือกซื้อ แต่ขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ด้านการกำหนดราคา พบว่า ราคาพลอยสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นไม่ทันกับราคาพลอยก้อน ด้านช่องทางการจำหน่าย พบว่า ช่องทางการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการอัญมณีไม่หลากหลายทำให้พลาดโอกาสการสร้างรายได้ ด้านการส่งเสริมการขาย พบว่า ไม่มีการประชาสัมพันธ์และการจัดโปรโมชั่นการขาย ด้านบุคลากร พบว่า ไม่พบปัญหาการทำงานร่วมกับคนเดินพลอย ด้านกฎระเบียบ พบว่า ไม่มีนโยบายการส่งเสริมการค้าขายในตลาดพลอย ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ พบว่า เศรษฐกิจหลังจากเปิดประเทศกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวแต่การค้าพลอยยังชะลอตัว ด้านสภาพแวดล้อม พบว่า ในตลาดพลอยบางพื้นที่มักจะค่อนข้างแออัด 2) ความต้องการด้านผลิตภัณฑ์ พบว่าต้องการให้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น ด้านการกำหนดราคา พบว่า เนื่องจากอัญมณีไม่มีราคากลางในการซื้อขายจึงต้องอาศัยใช้ประสบการณ์เพื่อการต่อรองราคาอัญมณี ด้านช่องทางการจำหน่าย พบว่า ผู้ประกอบการคุ้นเคยกับการซื้อขายรูปแบบดั้งเดิมจึงไม่ประสงค์จะเปลี่ยนช่องทางการจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการขาย พบว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันประชาสัมพันธ์ตลาดพลอยให้มากขึ้น ด้านบุคลากร พบว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการทำงานของคนเดินพลอยเพราะทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันมาเป็นระยะเวลานาน ด้านกฎระเบียบ พบว่า ภาครัฐและเอกชนควรเพิ่มนโยบายสนับสนุนการค้าของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ พบว่า ควรส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ด้านสภาพแวดล้อม พบว่า ผู้ดูแลตลาดพลอยควรจัดสรรบุคลากรเข้ามาตรวจความเรียบร้อยในพื้นที่ให้บ่อยมากขึ้น และควรมีการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ 3) กลยุทธ์จากการวิเคราะห์ TOWS Matrix มี 4 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์การส่งเสริมภูมิปัญญาการหุงพลอย การเจียระไนพลอย และงานช่างฝีมือสู่อาชีพที่มั่นคง, กลุยทธ์การกำหนดราคาสินค้าตามต้นทุนและระดับคุณภาพของสินค้า, กลยุทธ์การพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนช่างฝีมือและพัฒนาเทคนิคการทำอัญมณีและเครื่องประดับร่วมกับช่างฝีมือผู้มีประสบการณ์, กลยุทธ์การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ