สถานีเรียนต้นน้ำเขายายดา

           เขายายดามีพื้นที่ทั้งสิ้น 28,937 ไร่ ในอดีตถือเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเปรียบได้กับซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน แต่หลังจากมีการสัมปทานป่าไม้ ผืนป่าแห่งนี้ก็ถูกบุกรุกเข้าแผ้วถางทำลายจนความอุดมสมบูรณ์เสื่อมถอยลง ป่าที่เคยเขียวขจีถูกหักโค่น สายน้ำก็เหือดแห้ง ชุมชนจึงเดือดร้อนไม่มีน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงเกษตรกรและชาวสวนที่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องซื้อน้ำจากนอกพื้นที่เพื่อมาใช้ทำการเกษตร

             นี่คือ ที่มาของปัญหาอมตะในหลายจังหวัดแต่เป็นบทเรียนการพลิกฟื้นคืนชีวิตธรรมชาติมาได้ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศเขายายดา บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เล่าว่า เอสซีจี เริ่มบทบาทจากการชักชวนชุมชน 10 หมู่บ้าน ใน 6 ตำบลของอำเภอตะพง มาร่วมแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ ด้วยการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำและฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม รวมไปถึงการสร้างคนไปพร้อมๆ กัน ด้วยการหนุนเสริมให้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี เกิดจิตสำนึก มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการอนุรักษ์ และมีกระบวนการสร้างทักษะการคิดแก้ไขปัญหาในชุมชนบนฐานของการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยการสร้างมูลค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ในรูปของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน เช่น การเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ การจัดตั้งกองทุนชุมชน รวมไปถึงการสร้างกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าถึงเยาวชนให้มามีส่วนร่วม

“เราคิดบนฐานที่ว่า ชุมชนจะต้องอยู่ด้วยตัวเองได้ เราจึงทำหลายๆ เรื่องนอกจากเรื่องฝายและป่า เช่น ชวนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาช่วยสร้างนักวิจัยชุมชนให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงปัจจัยปัญหาเพื่อแก้ไขได้ มีกองทุน มีการส่งต่อให้เยาวชน เริ่มจากการให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ แล้วสนุกไปพร้อมๆ กับได้ความรู้ เราจึงพัฒนาเป็นหลักสูตร ผลักดันเข้าสู่โรงเรียน 2 ระดับ คือ ระดับประถมมีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนวัดยายดา กับระดับมัธยมคือโรงเรียนวัดตะพงนอก รวมไปถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีออกสู่สาธารณะ โดยการถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกับชุมชน เปิดเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ในกระบวนการพัฒนานั้น ได้มีภาคีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกับชุมชนเขายายดาและเอสซีจี หนึ่งในนั้นคือ สถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่เป็นภาคีด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำตลอดมา

9 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่นี้มากมาย แต่ภาพที่ชัดเจนที่สุด คือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติหวนกลับคืนมาสู่ผืนป่าและสายน้ำ คุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นในทุกบ้าน ทั้งรอยยิ้มที่กลับมาเบ่งบานบนใบหน้าของทุกคนในชุมชน เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้รักสามัคคีและการทำงานหนัก ด้วยจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า