ความหลากหลายทางชีวภาพ “ป่าฮาลา – บาลา”

อัญมณีทางธรรมชาติแห่งด้ามขวานไทย

ป่าฮาลา-บาลา เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศ เป็นผืนป่าที่ประกอบไปด้วยผืนป่าสองผืน คือ ป่าฮาลา ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และ ป่าบาลา ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส แม้ป่าทั้งสองผืนนี้จะไม่ได้ติดเป็นป่าผืนเดียวกัน แต่ทว่าในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าร่วมกัน

โดยคำว่า "บาลา" มาจากคำว่า "บาละห์" ที่แปลว่า "หลุด" หรือ "ปล่อย" มีที่มาจากช้างเชือกหนึ่งที่หนีเข้าป่าฝั่งอำเภอแว้ง และคำว่า "ฮาลา" หมายถึง "อพยพ" หมายถึง ผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากตัวเมืองปัตตานีในอดีต จนมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนรอบ ๆ ชายป่า โดยป่าแห่งนี้อาจเรียกชื่อสลับกันได้ว่า บาลา-ฮาลา โดยผู้คนที่อยู่ในอำเภอแว้งจะเรียกว่า "บาลา-ฮาลา" แต่คนที่อาศัยในอำเภอเบตงจะเรียกว่า "ฮาลา-บาลา"

มีพื้นที่ทั้งหมด 270,725 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาสันกาลาคีรี ต่อมาได้เพิ่มพื้นที่เป็น 391,689 ไร่ สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเมืองร้อนที่อุดมสมบูรณ์มาก และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความชื้นสูงตลอดทั้งปี มีลำน้ำไหลผ่าน ถือได้ว่าเป็นผืนป่าดิบชื้นที่กว้างขวางและใหญ่ที่สุดของคาบสมุทรมลายู จนได้ฉายาว่าเป็น "แอมะซอนแห่งอาเซียน"[1] ทั้งยังมีพื้นที่ติดกับป่าเบลุ่มทางตอนเหนือของมาเลเซีย โดยมีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ มีการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบว่ามีทั้งหมด 54 ชนิด หลายชนิดเป็นสัตว์ป่าที่หายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระทิง[1], เซียมมัง หรือชะนีดำใหญ่ ซึ่งเป็นไพรเมทจำพวกชะนีขนาดใหญ่ ที่แพร่พระจายพันธุ์ในคาบสมุทรมลายูจนถึงเกาะสุมาตรา โดยพบที่นี่เป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้แล้วยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกจำนวน 10 ชนิด จากทั้งสิ้น 13 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย โดยเฉพาะนกเงือกกรามช้างปากเรียบ หนึ่งในชนิดของนกเงือกกรามช้าง ที่อพยพบินรวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ จำนวน 10–20 ตัว จากป่าห้วยขาแข้งในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก มายังที่นี่ในพื้นที่อำเภอเบตง ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยรวมจำนวนนกทั้งหมดแล้วมีประมาณ 500 และการสำรวจล่าสุดพบมากถึง 2,000 ตัว

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา คือ ต้นกะพงขนาดยักษ์ความสูง 4 เมตร แต่มีเส้นรอบวงถึง 25 เมตร ในพื้นที่อำเภอสุคิริน ที่โอบอุ้มป้องกันทางพังทะลายของหน้าดิน ซึ่งเป็นการป้องกันอุทกภัยให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่รอบผืนป่าได้และข่าวการค้นพบร่องรอยกระซู่และสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิดเมื่อปีพ.ศ.2540ทำให้ที่นี้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกด้วย

นกเงือกปากย่น

ชื่อสามัญ Wrinkled Hornbill

ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhyticesos Leuco cephalus

นกเงือกปากย่นมีถิ่นกำเนิดในสุมาตร บอร์เนียว ไทยและมาเลเซีย ตัวผู้และตัวเมียไม่เหมือนกัน ตัวผู้มีคอสีขาว ขนบนตัวและบนปีกมีสีดำ ขนหางตอนครึ่งทางปลายมีสีขาว บนหัวมีขนสีดำ โหนกที่ปากมีสีแดงและมีรอยย่นทางด้านหน้า ตัวเมียคล้ายตัวผู้แต่คอมีสีดำ นกเงือกชนิดนี้ชอบอยู่ป่าต่ำ และบริเวณป่าริมฝั่งทะเล

นกเงือกหัวหงอก

ชื่อสามัญ White-crowned hornbill

ชื่อวิทยาศาสตร์ Berenicornis comatus

นกเงือกหัวหงอก ตัวเต็มวัยมีขนที่มีหัวสีขาวฟูคล้ายหงอน เวลาบินจะเห็นหางสีขาวชัดเจน ขนหางมีความสั้นยาวไล่จากด้านนอกเข้าหาเส้นกลางซึ่งยาวที่สุด ขนปีdสีดำมีปลายปีสีขาว ปากและโหนกขนาดเล็กมีสีดำ ตัวผู้มีคอและท้องสีขาว ตัวเมียมีขนส่วนนี้สีดำ ตัววัยรุ่นมีขนตามตัวขาวประดำ โคนหางดำปลายหางขาว ขนปลายปีกขาว นกเงือกหัวหงอกจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก 4-7 ตัว บางครั้งมากถึง 20 ตัว เสียงร้อง อุ๊…อุ๋ ชอบอยู่ในป่าต่ำจนถึงป่าดงดิบ ส่วนใหญ่จะพบที่ระดับความสูง 120-820 เมตรจากระดับน้ำทะเล หากินบริเวณใต้เรือนยอดของต้นไม้ หรือที่ระดับผิวดินเล็กน้อย เป็นนกที่บินเงียบมาก นกเงือกหัวหงอก ชอบกินทั้งผลไม้เช่น ไทร ตาเสือ ฯลฯ และสัตว์ เช่น กิ้งก่า แมลงต่างๆ ชอบกินอารหารจำพวกสัตว์มากเมื่อเทียบกับนกเงือกชนิดอื่น

นกเหงือกกรามช้าง

ชื่อสามัญ Wreathed hornbill

ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhyticeros undulatus

นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้าง มีขนาด 110 ซม. โหนกเตี้ยแบนมีลอนหยัก จำนวนลอนแล้วแต่อายุของนก จำนวนลอนบ่งบอกถึงอายุของนก คืออายุ 1 ปี มี 1 ลอน นกเงือกกรามช้างที่เคยพบในธรรมชาติมีจำนวนลอนมากที่สุดคือ 10 ลอน ขนตามตัวและปีกสีดำ หางขาวปลอด ปากด้านข้างมีรอยหยัก ตัวผู้มีขนส่วนท้ายทอยสีน้ำตาลเข้ม หน้า ขมับและคอขาว ถุงใต้คอสีเหลืองมีขีดดำด้านข้าง ตัวเมียมีขนสีดำปลอด ยกเว้นหางขาว ถุงใต้คอสีฟ้าและมีขีดดำด้านข้าง ตัววัยรุ่นเหมือนตัวเต็มวัยจำนอนลอนของโหนกไม่เกิน 3 ลอน ปากด้านข้างมีรอยหยักน้อยหรือเกือบไม่มีเลย ลูกนกตอนแรกออกจากรังมีสีขนเหมือนนกตัวผู้ ถุงใต้คอสีเหลืองมีรอยสีดำเป็นขีดจางๆ นกกู๋กี๋ชอบกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ บินได้ไกลมาก หากินได้ทั่วไปจนได้ชื่อว่าเป็น “ยิบซีแห่งพงไพร” นอกฤดูผสมพันธุ์ชอบอยู่รวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เคยนับได้ถึงกว่า 1000 ตัว เมื่อ พ.ศ. 2527 เสียงร้อง เอิก เอิ๊ก เอิก เอิ๊ก นกกู๋กี๋ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบจากที่ราบจนถึงที่สูง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อาจพบได้ในป่าเบญจพรรณ แต่ยังพบตามเกาะต่างๆ อีกด้วย นกเงือกกรามช้าง ชอบกินผลไม้เป็นอาหารหลัก เช่น ไทร ยางโอน หว้า ตาเสียเล็ก สุรามะริด ตาเสือใหญ่ มะอ้า พิพวน มะเกิ้ม ส้มโมง ฯลฯ กินอาหารจำพวกสัตว์บ้างไม่มากนัก ได้แก่แมลงต่างๆ

ชะนีดำใหญ่ หรือ เซียมัง

ชื่อสามัญ Black-cheeked gibbon

ชื่อวิทยาศาสตร์: Symphalangus syndactylus

ชะนีดำใหญ่ หรือเซียมัง เป็นสัตว์ในกลุ่มวานร (Ape) เล็ก ซึ่งสัตว์ในกลุ่มนี้ประกอบด้วยชะนีชนิดต่าง ๆ โดยชะนีเซียมัง เป็นชะนีชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เซียมังดูคล้ายชะนีทั่วไป แต่มีรูปร่างและลำตัวใหญ่กว่ามาก ขนาดโตเต็มที่มีความยาวลำตัวและหัว 75-90 เซนติเมตร น้ำหนักในเพศผู้ 10.9 กิโลกรัม ตัวเมีย 10.6 กิโลกรัม ขนมีสีดำทั้งตัวทั้งตัวผู้และตัวเมีย มีลักษณะเด่นคือ บริเวณลำคอมีถุงสีเทาปนชมพู โดยถุงดังกล่าวจะป่องออกขณะที่ส่งเสียงร้อง โดยชะนีเซียมังจัดเป็นชะนีที่ร้องเสียงดังที่สุดชอบอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น อาหารหลัก ได้แก่ ใบไม้, ผลไม้, ดอกไม้และสัตว์ขนาดเล็ก พวกเซียมังอยู่รวมกันเป็นครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวโดยมีลูกอยู่ด้วยกัน ชะนีเซียมังแต่ละฝูงจะมีสมาชิกประมาณ 3-5 ตัว

ชะนีมือดำ

ชื่อสามัญ: Agile gibbon

ชื่อวิทยาศาสตร์: Halobates agilis

ชะนีมือดำมีรูปร่างสีสันคล้ายชะนีมือขาวมาก ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะไม่มีการเปลี่ยนสี เช่นถ้าเกิดมามีสีดำก็จะมีสีดำไปตลอด ทั้งสองเพศอาจมีสีขาวหรือสีดำก็ได้ ชะนีมือดำไม่มีวงขาวรอบใบหน้า แต่บางตัวก็อาจมีเป็นรอยขาวจางๆ และที่คิ้วเป็นสีขาว พบทางภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว กินผลไม้ ยอดไม้ ไข่นก และแมลงต่าง ๆ

กบทูด

ชื่อสามัญ:กบทูด, เขียดแลว, กบทุด, Blyth s Frog, เขียวแลว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnonectes blythii

เป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในที่พบได้ในประเทศไทย ความยาวจากปลายปากถึงก้น ประมาณ 1 ฟุต น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม ปลายปากเรียวแหลมจนเห็นได้ชัด ส่วนลำตัวอ้วนใหญ่ ผิวเป็นตุ่มเล็ก ๆ ไม่สะดุดตาดูคล้ายเป็นผิวหนังเรียบ เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดง ริมฝีปากดำ มีขีดดำจากท้ายตาลากมาจนถึงเหนือวงแก้วหู บริเวณสีข้างอาจมีลาย หรือจุดสีดำ น้ำตาลเข้ม ส่วนขามีลายเข้มคาด เป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าสามารถปรับเปลี่ยนสีผิวไปตามที่อยู่อาศัย เช่น ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดงเมื่ออาศัยอยู่ตามพงหญ้าแห้ง หรือมีสีดำเมื่อหลบซ่อนอยู่ในโพรงไม้ กบทูดเป็นสัตว์ที่มีนิสัยหากินตอนกลางคืน ชอบสภาพอากาศค่อนข้างเย็น เวลากลางวันมักหลบซ่อนอยู่ตามที่มืดทึบ เช่น โพรงไม้, หลุม, พงหญ้า บริเวณเหล่านี้ล้วนมีสภาพชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากกบทูดไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่แห้งแล้งหรือร้อนจัดได้นาน เพราะสภาพเช่นนี้จะทำให้ผิวหนังแห้ง อาจทำให้ตายได้

ผีเสื้อหางพริ้ว

ชื่อสามัญ The Fluffy Tit

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zeltus amasa Hewition

เป็นผีเสื้อกลางวัน ในวงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน มีลักษณะเด่น คือที่มุมปลายปีกหลังจะมีลักษณะยื่นยาวคล้ายหาง ข้างละ 2 เส้นหางเส้นที่ยาวกว่าจะบิดเป็นเกลียว มองดูพริ้วไหวยามเมื่อโดนลม

ผีเสื้อจรกาเมียลาย

ชื่อสามัญ The Striped Blue Crow

ชื่อวิทยาศาสตร์ Euploea mulciber mulciber

ขนาด (wingspan ) 80 – 90 มม.

ปีกบน พื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ปีกคู่หน้าของเพศผู้มีสีเหลือบน้ำเงิน และมีจุดสีขาวประปราย ปีกคู่หลังไม่มีจุดขาว เพศเมียปีกคู่หน้ามีสีเหลือบน้ำเงินจางๆ และมีจุดสีขาวขนาดใหญ่กว่าจุดสีขาวของเพศผู้ ปีกคู่หลังมีแถบสีขาวในช่องระหว่างเส้นปีก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ” เมียลาย” ดูคล้ายผีเสื้อในกลุ่มหนอนใบรัก ปีกล่าง คล้ายปีกบนแต่ไม่มีสีเหลือบน้ำเงิน

ลักษณะของหนอนผีเสื้อ ลำตัว เป็นปล้องๆ รูปทรงกระบอก ลำตัวสีแดง หัวสีดำ มีแถบสีขาวพาดขวางลำตัวสลับกับสีแดงของลำตัว มีหนามสีแดงปลายหนามสีดำ มีหนามที่หัว 3 คู่ และท้าย 1 คู่

ลักษณะของดักแด้ ใช้ใยยึดส่วนท้ายของลำตัวติดกับพืชแล้วห้อยหัวลงมาคล้ายตุ้มหู ระยะดักแด้ 8 วัน

สภาพแหล่งที่อยู่อาศัย ทุ่งหญ้า ป่าไผ่ ป่าโปร่ง