อาชีพ

ประชาชนในพื้นที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง พบว่า ประชาชนในตำบลวอแก้ว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม ผลผลิตน้ำนมล้นตลาด ทำให้ประชาชนประสบปัญหาขาดทุน ต้นทุนการผลิตที่สูง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการแปรรูปน้ำนมดิบให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเพื่อพัฒนาฟาร์มของตนเองได้รับมาตรฐานการจัดการฟาร์มโคนม อีกทั้ง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง มีแหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการฟาร์มโคนม ชื่อ “ชลวรรษฟาร์ม” ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการฟาร์มโคนมที่ดี มีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนม มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งในและนอกชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพการทำฟาร์มโคนม จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของบุคคล และหน่วยงานต่างๆ

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จึงได้พัฒนาหลักสูตรรายวิชาเลือก วิชาการจัดการฟาร์มโคนม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อยู่ในสาระการประกอบอาชีพ เป็นหลักสูตรที่ต้องการให้ผู้เรียนมีรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการประกอบอาชีพการทำฟาร์มโคนม และประกอบอาชีพอย่างมีคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง ชุมชน สังคม

การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ หญ้าเนเปีย

อาชีพการเลี้ยงโคนม

อาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเกษตรกรบ้านเรา แต่ตามความเป็นจริงประเทศเราได้เคยสั่งโคนมพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาทดลองเลี้ยงเมื่อกว่า 50 ปีล่วงมาแล้ว แต่การเริ่มต้นเลี้ยงในครั้งแรกประสบปัญหาบางประการ จึงนับว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา อาชีพการเลี้ยงโคนมจึงได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งและเริ่มรู้จักแพร่หลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามอาชีพการเลี้ยงโคนมอาจยึดเป็นอาชีพหลักได้หรืออาจเป็นอาชีพรองอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรควรจะทำควบคู่กันไปกับอาชีพอื่น เพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมาก ที่หันมาประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม ทั้งนี้เพราะได้เห็นตัวอย่างจากเพื่อนเกษตรกรที่ยึดอาชีพเลี้ยงโคนมมาก่อน ปรากฏว่ามีรายได้ดีสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลพลอยได้อื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่นทำให้เด็ก ๆ มีจิตใจรักสัตว์ มีสุขภาพพลานามัยดีขึ้นและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มูลสัตว์ยังใช้เป็นปุ๋ยและช่วยบำรุงดิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเคยประกอบอาชีพอย่างอื่น เช่น ทำสวน ทำไร่ ทำนา ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ ต่างก็หันมายึดอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลักซึ่งส่วนใหญ่ก็ประสบผลสำเร็จ นั่นหมายถึงได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและทำให้เศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้นเป็นลำดับและมีความมั่นคงถาวรสืบไป เพิ่มเติม