อุทยานการศึกษาพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

เกียรติภูมิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ พระผู้นำแห่งสยามประเทศด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะพระอัจฉริยภาพล้ำเลิศด้านดาราศาสตร์ พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระองค์ได้แสดงเกียรติภูมิของชาติไทยให้แผ่ไพศาลเป็นที่ยกย่องและชื่นชมในบรรดานักวิทยาศาสตร์สากลด้วยการคำนวณปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงมองเห็นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำที่สุด เกียรติภูมิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีดังนี้

1.พระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ณ พระราชวังเดิม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทรและสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว พระองค์จึงตามเสด็จมาประทับ ณ ตำหนักแดงในพระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วยพระราชชนนี

2.การศึกษา

เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นพระบรมราชินีแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงอยู่ในฐานะราชนิกูลที่จะได้รับการสถาปนาเป็นผู้สืบสันติวงศ์แทนพระบรมชนกนาถ ตามแบบอย่างพระราชประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ทรงได้รับการศึกษาอบรมและฝึกฝนในวิชาการต่างๆหลายด้าน ได้แก่ ด้านภาษาไทย ทรงเรียนอักษรสยามจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) แห่งวัดโมลีโลกยาราม ด้านวรรณคดี ทรงเรียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ทั้งภาษาไทย และภาษาบาลี พระองค์ได้รับการฝึกสอนและถ่ายทอดมาจากสมเด็จพระบรมชนกนาถซึ่งมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านกวีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงรอบรู้และทรงพระอักษรได้สละสลวย ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้ศึกษาเรื่องราววีรกรรมและความกล้าหาญของพระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษผู้กล้าหาญในอดีตโดยเฉพาะวิชาคชศาสตร์จากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นตระกูลหมอเฒ่าที่สืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้รับการฝึกหัดการใช้ยุทธศิลปะและศาสตราวุธ การทรงช้างการทรงม้า จนชำนาญและใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อการทำศึกสงคราม ต่อมาทรงไดรับการศึกษาหลักเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาพร้อมด้วยหลักทศพิธราชธรรม คุณธรรมในการปกครองบ้านเมือง 10 ประการ ด้านภูมิศาสตร์ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิพราหมณ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าภูเขาไกรลาศเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และมีเทพเจ้าสิงสถิตย์อยู่บนยอดเขา บริเวณที่ลาดเขาจะเต็มไปด้วยสิงห์สาราสัตว์นานาชนิดที่แปลกประหลาด อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ สำหรับด้านพระราชพิธี และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆพระองค์ทรงไดรับการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน

3.พระราชพิธีลงสรง

พระราชพิธีมงคลที่ถือปฏิบัติและสืบทอดมาจากลัทธิพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธีนี้เมื่อพระราชโอรสมีพระชนม์มายุ 9 หรือ 11 หรือ 13 พรรษา โดยพาไปสรงสนานที่หน้าตำหนักน้ำหรือทะเล เพื่อถวายการสอนว่ายน้ำเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระชนม์มายุได้ 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีลงสรง ตามแบบราชประเพณี นับเป็นพระราชพิธีมงคลครั้งแรกที่จัดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับพระราชทานนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์พงศ์อิศวรกษัตริย์วรขัตติยาราชกุมาร

4.พระราชพิธีโสกันต์

พระราชพิธีที่มีความสำคัญยิ่ง รองจากพระราชพิธีราชาภิเษก สมเด็จพระบรมชนกนาถมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อมีพระชนมายุย่างเข้า 13 พรรษา ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเขาไกรลาศจำลอง และสระอโนดาต คล้ายสถานที่ที่พระอิศวรใช้ประกอบพิธีโสกันต์พระคเณศวร์ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ามงกุฎ นับเป็นเจ้าฟ้าองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่จัดถวายอย่างเต็มยศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นมงคลแก่ชีวิต ตามลัทธิพราหมณ์ที่สืบทอดกันมา

5.บรรพชาเป็นสามเณร

ตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย บรรดาเจ้านายที่เริ่มจะเป็นเด็กหนุ่มมักจะบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับชายไทยทั่วไป เมื่อพระชนมายุได้ 14 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดให้มีพิธีบรรพชาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระสมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระองค์เสด็จประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดมหาธาตุ เป็นเวลา 7 เดือน จึงลาบรรพชา เพื่อทรงศึกษาวิชาการด้านต่างๆตามพระราชประเพณี

6.ผนวชเป็นพระภิกษุ

เมื่อพระชนมายุย่างเข้า 21 พรรษาสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามราชประเพณี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (ค่อน) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับพระนามขณะทรงผนวชว่าวชิรญาณภิกขุ หรือ วชิรญาณเถระ พระองค์ทรงเสด็จไปประทับจำพรรษาเพื่อศึกษาวิปัสนาธุระ ณ วัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส) ทรงผนวชได้เพียง 15 วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตโดยมิได้แต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใดเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ มีความคิดเห็นตรงกันจึงได้ทูลเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระเชษฐาสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์สมบัติ มีพระนามว่าพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีความชำนาญในด้านการปกครองบ้านเมือง ซึ่งในขณะนั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะคับขัน ประเทศอังกฤษกับประเทศพม่าเริ่มทำสงครามอยู่ใกล้ประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงดำรงอยู่ในสมณเพศต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งๆที่ทรงตั้งพระทัยไว้แต่เดิมว่าจะทรงผนวชเพียงพรรษาเดียว