การทำไร่สับปะรด

ชื่อเรื่อง อาชีพท้องถิ่น การทำไร่สับปะรด

ชุมชน ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

จากข้อมูลทางวิชาการ สับปะรดไม่ใช่ผลไม้พื้นเมืองของไทย แต่ได้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ

โดยระหว่างประมาณปี 2223-2243 ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบว่ามีการปลูกสับปะรดในประเทศไทย ประเทศพม่า และแคว้นอัสสัมของอินเดียแล้ว แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำสับปะรดเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกและเมื่อใด สันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกตุที่มาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยจะเป็นผู้นำสับปะรดเข้ามา ซึ่งช่วงนั้นเป็นพันธุ์อินทรชิต ที่อยู่ในกลุ่ม Spainish และพบว่ามีการปลูกกันทั่วไปจนคล้ายกับว่าเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทยไปเลย

สำหรับสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย (Smooth cayenne) ที่เป็นพันธุ์อุตสาหกรรมและผลสดที่มีการปลูกมากที่สุดของประเทศและของโลกนั้น มีการบันทึกไว้ว่า สับปะรดปัตตาเวียถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย และนำมาปลูกแถบจังหวัดชลบุรี ระยอง และตราด เชื่อว่ามีผู้นำพันธุ์มาจากประเทศอินเดีย โดยพบว่ามีการปลูกที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่แน่ใจว่าใครนำมาปลูกก่อน

แต่ในบันทึกของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาระบุไว้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 2487 บาทหลวง

เทโอฟาน (ชิน บุญยานันท์) แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ได้มีการทำไร่สับปะรดเก็บผลสดออกขาย และเชื่อมขายเพื่อนำเงินมาใช้ส่งเสริมการศึกษาของโรงเรียน แล้วมีการขยายพันธุ์ปลูกกันอย่างแพร่หลายในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นที่นิยมกันมาก จนกลายมาเป็น “สับปะรดศรีราชา” อันลือชื่อ เป็นที่ยอมรับกันของคนทั่วประเทศ ปัจจุบันทั้งภาคตะวันตก และภาคตะวันออกของไทย ได้กลายเป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของประเทศไทยในอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 โดยเฉพาะภาคตะวันออกนั้น ในวงการสับปะรดได้ยอมรับว่าเป็นแหล่งผลิตสับปะรดคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย

ผู้เขียน นางจิตรานันท์ ศรีวิลัย