เลี้ยงปลากระชัง และระบบนิเวศชายฝั่ง (เพาะฟักลูกปู)


ชาวบ้านดั้งเดิมตามชุมชนต่างๆในพื้นที่เกาะช้าง จ.ตราด ยังคงยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้านสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะปูม้า-ปูทะเลยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ นายสมชาย อานามพงษ์ ปธ.ประชาคมหมู่บ้านคลองสน หมู่ 3 ต.เกาะช้าง แกนนำจัดตั้ง ธนาคารปูบ้านคลองสน บอกว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับ นายศักดิ์ชัย แซ่ตั๋น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 จัดตั้งธนาคารปูขึ้น คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน เปิดเผยว่า เมื่อวันก่อนเจ้าหน้าที่จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จ.จันทบุรีได้นำอุปกรณ์ชุดสำหรับอนุบาลไข่ปู (เพาะฟักไข่ปู) สนับสนุนให้กับ “ธนาคารปูบ้านคลองสน” หมู่ 3 ต.เกาะช้าง ช่วยกันบริหารจัดการและให้ประชาชนมีส่วนร่วม “ธนาคารปู” และมีความตั้งใจร่วมมือกันเดินหน้าทำธนาคารปูให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มปริมาณปูในท้องทะเลในอนาคตข้างหน้า ถ้าหากใช้อุปกรณ์จับกันอย่างเดียว ปูที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็อาจจะขยายพันธุ์หรือเจริญเติบโตไม่ทัน ที่แน่ๆเมื่อปริมาณปูในทะเลเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดประโยชน์กับชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนที่มีอาชีพจับปู จากรุ่น สู่รุ่น และยังเป็นการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกในเรื่องของการอนุรักษ์ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่เมื่อจับปูที่มีไข่นอกกระดองมาได้ ก็จะแจ้งต่อคณะกรรมการธนาคารปูของหมู่บ้านให้ไปดำเนินการเขี่ยไข่ปูออกก่อน ใส่ลงในถังอนุบาลไข่ปู (เพาะฟักไข่ปู) ก่อนที่จะนำแม่ปูไปขายหรือบริโภค หรือฝากแม่ปูไว้ที่ธนาคารปูก่อนโดยมี กศน.อำเภอ เกาะช้าง ประมงอำเภอ ทต.เกาะช้าง ร่วมสนับสนุน และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ในแต่ละวันจะมีชาวประมงพื้นบ้านที่ออกทะเลไปวางอวนปู ลอบปู นำปูม้ากับปูทะเลที่มีไข่นอกกระดอง มามอบให้แก่ทางกรรมการธนาคาร วันละ 5-10 ตัว ทำการเขี่ยไข่นอกกระดองลงในถังอนุบาลที่จัดเตรียมไว้ ที่มีอุปกรณ์ให้ออกซิเจนตลอดเวลา จากนั้น ส่งแม่ปูคืนให้เจ้าของที่นำมาให้ เพื่อนำไปขาย หรือบริโภคเป็นอาหาร ในครัวเรือน ไข่ที่ได้จากแม่ปู 1 ตัว สามารถเพิ่มจำนวนปูม้าในท้องทะเลได้ 3 แสนตัวถึง 3 ล้านตัว ลูกปูที่ปล่อยลงทะเลเหล่านั้น จะเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้ไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อลูกปูที่อนุบาลไว้ เริ่มโตได้ขนาด คณะกรรมการร่วมกันนำลูกปูไปปล่อยลงทะเล จะเลือกตามแนวชายฝั่งที่มีพันธุ์ไม้ ป่าชายเลนขึ้นอยู่ในอ่าวคลองสน เพื่อให้ลูกปูได้มีแหล่งหลบซ่อน รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เจริญเติบโตขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ และเห็นได้ว่ามีปูหลายขนาด เพิ่มขึ้นในอ่าวคลองสนอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยทางคณะกรรมการจะช่วยกันติดตามดูอย่างใกล้ชิด

ผู้ให้ข้อมูล นายสมชาย อานามพงษ์

ผู้เรียบเรียง นางสาวพรกมล ขนรกุล

ภาพโดย นางสาวพรกมล ขนรกุล