ข้าวห่อกะเหรี่ยง

ประเพณีข้าวห่อกะเหรี่ยง

หมู่ที่ 3 บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ประเพณีการกินข้าวห่อ (อั้งหมี่ถ่อง) ของกะเหรี่ยงโปว์

การกินข้าวห่อนั้นเป็นประเพณีของชาวกะเหรี่ยงโปว์แห่งลุ่มน้ำเพชรและราชบุรี นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีข้าวห่อ เป็นประเพณีเรียกขวัญของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี เป็นประเพณีที่ชาวกะเหรี่ยงได้มีโอกาสกลับบ้านมาเยี่ยมญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน หลังจากเสร็จพิธีนำข้าวห่อมาแบ่งปันให้ญาติและเพื่อนบ้านต่างถิ่นเพื่อแสดงถึงการผูกมิตรไมตรีซึ่งกันและกัน สิ่งของที่ใช้ในพิธี ได้แก่ อ้อย กล้วยน้ำว้า ข้าวเหนียวที่ห่อกับใบตองเป็นรูปตัวผู้และตัวเมียทำเป็นช่อ ดอกดาวเรือง เส้นด้ายสีแดงหรือสีบานเย็น เทียนทำจากขี้ผึ้ง (รังผึ้ง) ข้าวสุก และน้ำ 1 ขัน เพื่อใช้เรียกขวัญ ประเพณีจัดทำขึ้นเพื่อเรียกขวัญของบ้าน ขวัญปู่ ย่า ตา ยายให้มากินข้าวห่อ และเรียกขวัญ ขวัญยักษ์ ขวัญสุดท้อง ให้มาปกปักรักษาขวัญ

พิธีเรียกขวัญ เมื่อเจ้าบ้านเรียกขวัญที่ประตูห้องนอนและหน้าบันได เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำ อ้อย กล้วยน้ำว้า ข้าวเหนียวที่ห่อกับใบตองเป็นรูปตัวผู้และตัวเมียทำเป็นช่อ ยอดดอกดาวเรือง เส้นด้ายสีแดงหรือสีบานเย็น ข้าวสุก และน้ำ 1 ขัน และสร้อยเงิน นำมาใส่จานเอเรียกขวัญให้แต่ละตน โดยการนำของทุกอย่าง อย่างละน้อยมาเรียกขวัญให้แต่ละตน และของที่เรียกขวัญแล้วเจ้าตัวต้องนำ ไปไว้หัวนอนของตนเพื่อให้ขวัญได้กิน และด้ายสีแดงใช้พันข้อมือเรียกขวัญ ทั้งสองข้าง (ผู้ที่เกิดเดือน 9 ตรงกับวันกินข้าวห่อจะต้องผูกทั้งข้อมือและข้อเท้า) ส่วนสร้อยเงิน ใส่คอของเจ้าของไว้



สถานที่ตั้ง(พิกัด) ของวัฒนธรรม :หมู่ที่ 3 บ้านป่าละอู

ข้อมูลอื่นๆ :นางสาวดอกรัก ปลีดอก

ผู้บันทึกข้อมูล : นางสาวสายรัดดา ตรีสุข