บรรจงฟาร์ม

แหล่งเรียนรู้การเพาะพันธุ์กุ้งบรรจงฟาร์ม

คุณบรรจง นิสภวาณิชย์ เจ้าของบรรจงฟาร์ม เลขที่ 59 ม.3 ต.บางซ่อน อ.บ้านโพธ์ จ.ฉะเชิงเทรา 24140 ผู้ที่แม้จะยังคงยึดมั่นอยู่กับกุ้งกุลาดำ แต่ก็มีแนวทางในการพัฒนาเพาะฟักสายพันธุ์กุ้งในประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้งขณะนี้กำลังเคลียร์ฟาร์มเพื่อเตรียมเพาะฟักกุ้งให้หลากหลายมากขึ้น และนำสัตว์น้ำหลายๆ ชนิดเข้ามาในระบบฟาร์มด้วยทั้งปู หอย กุ้ง โดยแบ่งส่วนเป็นโซนๆ เพื่อจัดฟาร์มให้เป็นระเบียบ ซึ่งความน่าสนใจเรื่องนี้อยู่ที่กุ้งแชบ๊วยและกุ้งเหลืองหางฟ้าหรือกุ้งหางม่วงที่คุณบรรจงสามารถเพาะฟักสำเร็จได้ระดับหนึ่งแล้ว


คุณบรรจง เล่าว่า เริ่มเพาะฟักกุ้งแชบ๊วยมานานแล้วซึ่งในแถบจังหวัดชลบุรี ก็เพาะลูกกุ้งแชบ๊วยขายอยู่แล้วแต่พอกุ้งขาว (แวนนาไม) มาแรงก็ทำให้กระแสกุ้งแชบ๊วยหายไป สำหรับข้อดีของกุ้งแชบ๊วยนั้นสามารถอยู่ในระดับความเค็ม 5 พีพีทีได้ ส่วนข้อเสียคือ มีความต้องการออกซิเจนสูง และไวต่อสภาพน้ำมากหากพื้นบ่อเน่าเสียหรือน้ำเริ่มมีปัญหาจะทำให้มีอัตราการตายสูง

มื่อก่อนเราใช้พันธุ์จากธรรมชาติแต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่ากรมประมงได้ศึกษาวิจัยพันธุ์กุ้งแชบ๊วยถึง F4 แล้ว โดยคุณสุพจน์ จึงแย้มปิ่น (ปัจจุบันได้ F6) เมื่อสามารถนำมาเพาะเลี้ยงได้และทน สภาพแวดล้อมได้ดีก็ทำให้มีเปอร์เซ็นต์รอดในการเลี้ยงดีขึ้น ปัจจุบันผมทดลองนำกุ้งแชบ๊วยมาปล่อยเสริมกับกุ้งกุลาดำผลที่ได้กุ้งติดดีมากรอดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วการเจริญเติบโตดีได้ไซซ์ประมาณ 50-70 กก. ซึ่งการเลี้ยงแบบผสมผสานเป้าหมายที่ทำนั้นไม่ได้จุดประกายว่าได้จำนวนผลผลิตต่อไร่เท่าไรแต่มองว่าน่าจะเป็นรายได้เสริม และก็ทำให้คุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำดีขึ้น

กุ้งแชบ๊วย

การเตรียมบ่อ

เคลียร์บ่อเหมือนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ขั้นแรกเราปรับปรุงดินก่อนที่จะปล่อยกุ้ง เช็คคุณภาพดินว่าดินเปรี้ยวขนาดไหนควรใส่ปูนเท่าไรแล้วปรับให้เรียบร้อย หลังจากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อประมาณ 10 ซม. แล้วสร้างสัตว์หน้าดินให้กุ้งกุลาดำในช่วงเดือนแรกเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต โดยหมักปลากับรำ,จุลินทรีย์ และยีสต์ไปใส่ในบ่อดินเพื่อชักจูงให้พวกแมลงมาไข่ ทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์หนึ่ง แล้วปล่อยน้ำเข้าบ่อเพิ่มระดับน้ำสูงอีกประมาณ 1-1.50 ม. เหตุผลที่เลี้ยงน้ำลึกเพราะต้องการให้มีมวลน้ำเยอะสามารถรับของเสียของกุ้งในช่วงแรกได้ อีกทั้งฟาร์มของเราเป็นระบบปิดต้องใช้น้ำหมุนเวียน จะทยอยสูบน้ำเข้าไม่ได้ต้องเตรียมให้พร้อมทีเดียวเลยหลังจากนั้นก็เตรียมปล่อยลูกกุ้ง โดยเช็คคุณภาพน้ำ ค่าพีเอช อัลคาไลน์ ให้มีค่าที่เหมาะสม ดูว่ามีสัตว์หน้าดินเพียงพอหรือไม่ ก็ปล่อยลูกกุ้งกุลาดำก่อนในอัตราส่วน 50,000 ตัวต่อไร่

การให้อาหาร

การลงลูกกุ้งกุลาดำไปประมาณ 1 อาทิตย์ ก็เติมรำ 1-2 กก.ต่อบ่อต่อวัน เพื่อคอยเพิ่มปริมาณสัตว์หน้าดินแต่ยังไม่ให้อาหาร พอ 1 เดือนแล้วก็ลงลูกกุ้งแชบ๊วยแต่จะเช็คให้อาหารกุ้งกุลาดำเท่านั้นจะ โดยเริ่มให้อาหารกุ้งกุลาดำเบอร์ 4s ช่วงนั้นกุ้งกุลาดำจะมีน้ำหนักประมาณ 5-7 กรัมแล้ว เหตุที่ไม่ให้อาหารกุ้งแชบ๊วยเลยเพราะกุ้งสามารถกินเศษอาหารจากกุ้งกุลาดำได้ ทำให้คุณภาพน้ำดีกว่าการเลี้ยงกุ้งเพียงชนิดเดียว เทคนิคในการเลี้ยงควบคู่กันต้องดูแลเป็นพิเศษคือจะต้องมีปริมาณออกซิเจน (DO) ไม่ต่ำกว่า 4 วางเครื่องตีน้ำ 4-6 แขน (แล้วแต่สภาพบ่อ) และใช้แอร์วอเทอร์ ลิฟท์ปั๊ม เพื่อลดเลนตรงกลางทำให้ขณะที่เลี้ยงกุ้งก็บำบัดน้ำไปได้ด้วย

การเพาะลูกกุ้งแชบ๊วย

การเพาะฟักลูกกุ้งแชบ๊วยในช่วงแรกจะนำพ่อแม่พันธุ์กุ้งขึ้นมาเพาะแล้วส่วนหนึ่งให้เกษตรกรที่รู้จักกันนำไปทดลองเลี้ยงแล้วก็จะขอซื้อกลับ เพื่อนำมาทำพ่อแม่พันธุ์รุ่น F7-F8 ต่อไป อาหารที่ใช้ขุนพ่อแม่พันธุ์จะให้อาร์ทีเมีย เพรียงทรายหรือเพรียงเลือดก็ได้ ใช้เวลาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 8-10 เดือน กุ้งแชบ๊วยให้ไข่ปริมาณมากกว่ากุ้งขาวเคยทำได้ 500,000 ตัวต่อแม่ทีเดียว

สำหรับปัญหากุ้งแชบ๊วยก็เหมือนกุ้งขาวกับกุ้งกุลาดำคือ ต้องพยายามหาตัวผู้ที่อายุมากและตัวใหญ่กว่ามาผสมกัน ส่วนการเข้าระยะต่างๆ กุ้งแชบ๊วยง่ายกว่ากุ้งขาวและเข้าระยะเร็วและแข็งแรงกว่ากุ้งกุลาดำหลายเท่า อีกทั้งกินอาหารง่ายและหลากหลายกว่า สำหรับการนำไปเลี้ยงในบ่อดินจะใช้พี7-พี15 (ขึ้นอยู่กับระดับความเค็มในบ่อดิน) ถ้าเลี้ยงปนกับกุ้งกุลาดำประมาณ 2-3 เดือนก็จับขายได้แล้ว ได้ไซซ์ประมาณ 50-70 ตัวต่อกก. และได้ไซซ์เสมออีกด้วย

การเพาะลูกกุ้งเหลืองหางฟ้า

กุ้งเหลืองหางฟ้าหรือกุ้งหางม่วง (Blue tail yellow shrimp : Penaeus Latisulcatus) เป็นกุ้งน้ำเค็มสายพันธุ์ไทยมีเนื้ออร่อย หวานกรอบ มีราคาแพงกก.ละ 400-500 บาท สามารถเพาะฟักในระดับความเค็ม 30 พีพีที ทดลองนำไปเลี้ยงในบ่อดินที่ระดับความเค็ม 25 พีพีทีได้กุ้งสวยทีเดียว แต่กำลังทดลองปรับให้สามารถเลี้ยงได้ในระดับความเค็มต่ำกว่านี้

ปรับตัวโรงเพาะฟักสู่มาตรฐาน

คุณบรรจง บอกกับสมาชิกชมรมโรงเพาะฟักว่าควรผลิตตามออเดอร์ แล้วในช่วงนี้ที่มีปัญหาเยอะๆ ส่วนใหญ่แนะนำให้ซ่อมแซมฟาร์มเพื่อที่จะรองรับตลาดลูกกุ้งในปีใหม่ เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าปีใหม่กุ้งกุลาดำจะกลับมาเพราะจากเหตุการณ์หลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นกุ้งชนิดอื่นๆ ที่กำลังฮอตอยู่ขณะนี้ส่อแววแล้วว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง อีกทั้งการเลี้ยงกุ้งกุลาดำของบ่อดินดีขึ้น เลี้ยงได้โตและรอด มีหลายๆ คนประสบความสำเร็จในการที่เลี้ยงแล้วต้นทุนต่ำด้วย อีกข้อหนึ่งคือ เรากำลังคุยกับกลุ่มเกษตรกรบ่อดินเพื่อหาพันธมิตรในการผลิตลูกพันธุ์กุ้งป้อนให้แต่ละกลุ่ม โดยตกลงกันเรื่องมาตรฐานเพื่อจะได้มีการผลิตกุ้งคุณภาพป้อนกลุ่มหรือชมรมของเกษตรกรและได้ออเดอร์ที่แน่นอน

แม้ที่ผ่านมาออเดอร์กุ้งกุลาดำจะน้อยมาก แต่ช่วงนี้เกษตรกรเริ่มหันมาสั่งกุ้งกุลาดำกันมากขึ้น เนื่องจากไปชนทางตันที่นึกว่าเป็นทางรอดแต่พอซื้อไปลงแล้วตาย ก็หันกลับมาหากุ้งกุลาดำซึ่งเป็นความชำนาญของพวกเขาเองเป็นวัฏจักรขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้ พอต่อไปมีการจัดการที่ดีก็จะเกิดความสมดุลมากขึ้นแล้วสามารถเลี้ยงกุ้งขาวบ้างกุ้งกุลาดำบ้างเพื่อสร้างตลาด แล้วก็จะรู้กันแน่นอนว่าจะต้องผลิตออกมาเท่าไรซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตามภาครัฐและเอกชนต้องจับมือกันให้แน่นอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแล้วกุ้งไทยจะมีอนาคตที่ดีครับ"



ข้อมูลโดย คุณบรรจง นิสภวาณิชย์ เจ้าของบรรจงฟาร์ม

เรียบเรียงและเขียนโดย นายรัตนากร บุดดา

ภาพประกอบโดย นายรัตนากร บุดดา