ป่าชายเลน คลองอ้อม

แหล่งท่องเที่ยวระบบนิเวศป่าชายเลน คลองอ้อม
ตำบลบางซ่อน


คลองอ้อมเป็นคลองที่ไหลผ่านพื้นที่ ตำบลบางซ่อน อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ และแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดในพื้นที่ ชาวบ้านหวังที่จะฟื้นฟูและรักษาไว้ คลองอ้อมเป็นร่องน้ำเก่าทำให้มีดินตะกอนแม่น้ำและแร่ธาตุสะสมมาก เป็นแหล่งป่าชายเลนและป่าจากที่สมบูรณ์ พืชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นี้คือรุ่ย หรือเรียกชื่อว่าถั่วขาวชาวบ้านนำมาประกอบอาหารได้ บริเวณพื้นที่ชายฝั่ง เป็นป่าชายเลนอาจเรียกว่า “ป่าโกงกาง” ได้อีกชื่อหนึ่ง ตามพันธุ์ไม้โกงกางที่พบเป็นจำนวนมากนั่นเอง บริเวณคลองอ้อมมีปลาชุกชุมที่สุด หากเทียบกับละแวกใกล้เคียงยังพบทั้ง ปลา กุ้ง หอย ที่มีมากพอให้ชาวบ้านจับกินได้
ในระบบนิเวศป่าชายเลน สิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างซับซ้อน ทั้งในแง่การหมุนเวียนของธาตุอาหารและการถ่ายทอดพลังงาน แต่สามารถอธิบายง่ายๆ ได้ว่าเมื่อผู้ผลิต คือ พืช เติบโตขึ้นจากการสังเคราะห์ด้วยแสง จะมีส่วนของใบไม้ กิ่งไม้และเศษไม้ ที่ร่วงหล่นทับถมในน้ำและดิน จะถูกย่อยสลายโดยผู้ย่อยสลาย ได้แก่ รา แบคทีเรีย โปรโตซัวชนิดต่าง ๆ กลายเป็นอินทรียวัตถุ และในที่สุดก็จะกลายเป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่ระบบนิเวศ บางส่วนถูกบริโภคโดยกลุ่มกินอินทรียสาร เช่น แพลงก์ตอนพืช ที่ต่อไปจะกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์น้ำเล็ก ๆ ที่จะถูกบริโภคต่อไปอีก เป็นอาหารของพวกกุ้ง ปู และปลา ขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ หรือบางส่วนก็จะตายและถูกย่อยสลายกลับเป็นธาตุอาหารสะสมอยู่ในป่านั่นเอง




ความหลากหลายของสัตว์น้ำเศรษฐกิจในป่าชายเลนจังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณตำบลบางซ่อน อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พบสัตว์น้ำเศรษฐกิจทั้งหมด 6 วงศ์ 7 ชนิด จำแนกเป็นกลุ่มปลา (Chordata) 5 วงศ์ 5 ชนิด และกลุ่มกุ้ง/ปู (Crustacean) 1 วงศ์ 2 ชนิด โดยวงศ์ที่พบจำนวนชนิดมากที่สุดคือ วงศ์ Portunidae (วงศ์ปู) พบ 2 ชนิด ได้แก่ ปูหินและปูม้า ส่วนวงศ์ที่เหลือ พบอย่างละ 1 ชนิด เช่น วงศ์ Sciaenidae (วงศ์ปลาจวด) ได้แก่ ปลาจวด วงศ์ Mugilidae (วงศ์ปลากระบอก) ได้แก่ ปลากระบอก และวงศ์ Belonidae (วงศ์ปลากระทุงเหว) ได้แก่ ปลากระทุงเหว เป็นต้น
ข้อมูลโดย หนังสือบ้านโพธิ์ 100 ปีเรียบเรียงและเขียนโดย นายรัตนากร บุดดาภาพประกอบโดย นายรัตนากร บุดดา