ประเพณีไหว้ตายายผีหลาง

ความเป็นมาของประเพณีไหว้ตายายผีหลาง

ประเพณีไหว้ตายายผีหลางเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วคน เมื่อมีการบวงสรวงที่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ชาวบ้านจึงเลิกราไป เพราะเข้าใจว่า การประกอบพิธีของทางราชการคงรวมถึงการระลึกถึงบรรพชนเช่นเดียวกับการไหว้ตายายผีหลาง แต่การประกอบพิธีของทางราชการไม่สมบูรณ์เท่าการประกอบพิธีกรรมของชาวบ้าน จึงได้เพิ่มพิธีไหว้ตายายผีหลางในช่วงก่อนที่ประธานจะบวงสรวงและวางพวงมาลาสักการะท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ได้จัดติดต่อมาเป็นเวลา 4 ปี ต่อมาคณะกรรมการจัดพิธีกรรมเห็นควรให้จัดพิธีไหว้ตายายผีหลางที่บริเวณใกล้ที่อยู่เดิมของท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ณ บริเวณเมืองถลางบ้านเคียน จึงได้ใช้บริเวณวัดม่วงโกมารภัจจ์ เป็นสถานที่จัดพิธี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541เป็นต้นมา

ประเพณีไหว้ตายายผีหลางเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ และยังเป็นโอกาสที่ญาติพี่น้องได้มาพบปะกันอย่างกว้างขวาง ได้ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน ได้แสดงความรักความห่วงใยซึ่งกันและกัน และยังเป็นผลสืบเนื่องให้เกิดความรัก ความสมัครสมานสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีของชุมชนสืบไป

ปัจจุบันประเพณีไหว้ตายายผีหลาง จะจัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม ของทุกปีแต่อาจจะมีเปลี่ยนแปลงรูปแบบพิธีกรรมไปบ้าง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับในยุคปัจจุบัน

ข้อมูลและรูปภาพจาก

มูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร