วัดพระบาทหงส์คำ หรือที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อว่า วัดดอยพระบาทตีนนก

ประวัติวัดดอยพระบาทตีนนก (หงส์คำ)


วัดดอยพระบาทตีนนก (หงส์คำ) สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยยุคของพระนางเจ้าจามรี กษัติยะนารีของเมืองลี้ เพราะในอดีตทุ่งหัวช้างกับลี้เป็นอำเภอเดียวกัน และในอดีตของชุมชนลุ่มน้ำลี้ เป็นชุมชนเมืองที่เก่าแก่ ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก พบเห็นได้จากร่องรอยศาสนสถานโบราณในอดีตที่ได้สำรวจในบริเวณรอบๆ ดอยพระบาทตีนนก (หงส์คำ) มีวัดร้างอยู่รอบๆ ถึง ๖ วัด ในสมัยก่อนคงจะเป็นแหล่งอริยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนามาก เพราะจากหลักฐานที่ปรากฏ มีซากเจดีย์เก่า พระพุทธรูปมากมาย สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนของพวกชาวลัวะ ซึ่งในสมัยก่อนถือว่าเป็นชนเผ่าที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ดั้งเดิม ยุคนั้นจะนิยมสร้างเจดีย์ พระพุทธรูป และสร้างวัดในบริเวณใกล้ๆ กัน อาศัยอยู่กันอย่างสงบสุขตามธรรมชาติ และสมัยก่อนมักเกิดโรคระบาดและสงครามสู้รบกัน จึงเป็นเหตุให้ชุมชนชาวลัวะแถบลุ่มน้ำลี้ต่างอพยพหนีตายย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ศาสนสถานต่างๆ ก็ถูกทิ้งร้างไปหลายร้อยปี

หลังจากนั้นชนเผ่ากะเหรี่ยงและคนพื้นเมืองก็เข้ามาอาศัยอยู่ จนมาถึงยุคสมัยของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญอมตะแห่งล้านนาไทย ได้มีชื่อเสียงและปารมีธรรมมาก จึงเป็นที่เคารพนับถือของศรัทธาสาธุชนทั่วไป โดยเฉพาะชนเผ่ากะเหรี่ยงได้พากันไปทำบุญและช่วยงานก่อสร้างพัฒนาวัดวาอารามต่างๆ ในปีไหนฤดูฝน ถ้าเกิดความแห้งแล้งขึ้น ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะพากันไปทำพิธีขอฝนกับครูบาเจ้าศรีวิชัยตลอด ในประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๐ พระครูบาเจ้าศรีวิชัยได้จาริกมาสร้างเจดีย์ให้คณะศรัทธาชาวกะเหรี่ยงและคนพื้นเมืองในเขตอำเภอทุ่งหัวช้าง ตรงวัดร้างทิศตะวันตกของหมู่บ้านหัวขัว คือ วัดพระธาตุหัวขัวในปัจจุบัน ได้มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเคยปรารภพูดถึงรอยพระบาทของนกเหมือนกัน วัดพระธาตุหัวขัว ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายยุคสมัย และในยุคของพระครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีนั้นเอง ท่านได้มาจาริกแสวงบุญบูรณะวัดวาอารามต่างๆ ในทุ่งหัวช้าง ในราวประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๔ ท่านได้มาเป็นประธานสร้างวิหาร วัดพระธาตุหัวขัว ในเย็นวันหนึ่ง เมื่อท่านทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แล้วก็พูดขึ้นว่า ดอยลูกที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตกนี้ มีรอยพระบาทตีนนกอยู่ และในวันหนึ่ง ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านนั่งเฉลียงคานหามเพื่อเดินทางไปบ้านปวง พอขบวนเรียบเลาะที่เชิงดอย ท่านก็ปรารภว่า บนเขาลูกนี้มีรอยพระบาทตีนนกอยู่ ตอนนั้นชาวบ้านที่ได้ยิน และหลวงปู่ครูบาแก้วแห่งวัดทุ่งหัวช้าง ก็กราบนิมนต์สร้าง แต่ท่านกลับปฏิเสธว่า สถานที่ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ยังจะมีเจ้าของมาสร้างเอง

ต่อมาในประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงปู่ครูบาเจ้าขาวคำปัน พร้อมด้วยลูกศิษย์ ได้ขึ้นมาบนยอดดอยพระบาทตีนนก (หงส์คำ) เพื่อดูศาสนสถานโบราณซึ่งหลงเหลือแค่เศษอิฐตกอยู่รอบๆ บริเวณยอดเขา เมื่อท่านอธิษฐานจิตขอสร้างวัดบูรณะใหม่ และแล้วท่านก็บอกว่า สถานที่ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน จึงเดินทางกลับไปที่วัดพระธาตุหัวขัวหลังจากนั้นมาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๐ หลวงปู่ครูบาแก้วัดทุ่งหัวช้าง พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน ได้พากันค้นหาดอยพระบาทตีนนก ก็ได้พบกับรอยเท้าของนกปรากฏบนก้อนหินใหญ่ที่เชิงดอย ท่านได้อธิษฐานจิตดูว่าเป็นรอยของนกอะไร ในที่สุดด้วยแรงอธิษฐานก็ได้รู้ว่า เป็นรอยเท้าของแม่กาเผือก ซึ่งเป็นแม่ของพรโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญเพียรบารมีธรรมปรารถนาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์ของเรานี้เอง

ซึ่งมีประวัติเล่าว่า ในกาลครั้งหนึ่งก่อนสมัยพุทธกาล ได้มีแม่กาเผือก ลักษณะตัวสีขาว ได้ทำรังบนต้นไม้ใกล้ๆ ฝั่งแม่น้ำ ได้ออกไข่ ๕ ฟอง ในวันหนึ่ง แม่กาเผือกได้บินออกไปหากินไกลรังมากนัก ตอนนั้นพายุฝนก็ตกลงมา ลมพายุก็มาพัดเอารังของแม่กาเผือกตกลงไปในน้ำ ไข่ได้ไหลไปกับกระแสแม่น้ำ พอถึงเวลาก็บินกลับมาหารังของตน แต่ไม่เห็นรังและไข่ของตนแล้ว แม่กาเผือกก็โศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ก็เที่ยวบินตามหาไข่ทั้ง ๕ ฟอง ตามแม่น้ำ ซอกหินผา และป่าไม้หลายแห่ง ก็ไม่พบ แม่กาเผือกก็บินตามหาถึงในป่าใหญ่ ก็ไม่พบ และบินวนไปวนมาหลายรอบ จนผ่านมาเข้าบ้านเมืองต่างๆ ก็ไม่เจอ

นโบราณได้เล่าสืบกันมาว่า แม่กาเผือกได้บินตามหาไข่ของตน จนหลงเข้าไปในเมืองหนึ่งและก็บินไปเรื่อยๆ ซึ่งเมืองนั้นปัจจุบันก็มีชื่อเรียกว่า เวียงก๋าหลง และแม่กาก็บินมาถึงดอยลูกหนึ่ง ด้วยความเหนื่อยและหิวน้ำ แม่กาเผือกก็บินลงจับบนก้อนหินก้อนหนึ่งและก็บินลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหินก้อนนั้น จะมีน้ำไหลออกมาจากซอกเขา แม่กาเผือกก็ได้ก้มดูดกินน้ำ พอหายกระหายน้ำแล้ว เวลานั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำ แม่กาก็บินขึ้นไปสู่ยอดเขาทิศตะวันตก ก็ไปพักนอนอยู่บนเขาลูกนั้น

ซึ่งปัจจุบันนี้ บ่อน้ำที่ไหลออกมาจากซอกเขาก็ยังมีน้ำอยู่ ชาวบ้านก็ใช้ดื่มกินกันทุกวันนี้ และเขาที่แม่กาเผือกพักนอนอยู่นั้น ในปัจจุบันนี้ก็มีนกอีกาจำนวนมากได้มานอนอยู่บริเวณดอยลูกนี้ พอตอนเช้าก็บินออกหากิน พอถึงเวลาตอนเย็น พวกนกอีกาก็จะบินวนส่งเสียงร้องอยู่บนยอดดอย บางวันก่อนหากินก็จะบินวนยอดเขาเสียก่อนแล้วค่อยออกหากิน ดูแล้วเหมือนว่าพวกมันจะบินประทักษิณรอบบนยอดดอย เพื่อเป็นการระลึกถึงแม่กาเผือก บางครั้งชาวบ้านก็จะเห็นดวงพระธาตุแสงสีทองลอยขึ้นกลางอากาศในเวลากลางคืนตรงกับยอดดอยลูกนี้


วัดดอยพระบาทหงส์คำ ตั้งอยู่ที่บ้านสันดอนมูล หมู่ที่ 11 ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

ภาพโดย dannipparn

เรียงเรียงโดย นางสาวสุจิตรา ศรีชำนาญ