ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี

ภาษาถิ่นอำเภอพรานกระต่าย

พรานกระต่ายเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัด มีฐานะเป็นอำเภอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยได้รับจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี 2438 เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของจังหวัดกำแพงเพชร มีมณฑลนครเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคอีกชั้นหนึ่ง ชื่ออำเภอ “พรานกระต่าย” มีประวัติความเป็นมาเป็นตำนานเล่าขนานกันมาหลายชั่วคนดังนี้

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1420 เมืองพรานกระต่ายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางพานมี มหาพุทธสาครเป็นกษัตริย์ ตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปัจจุบันทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองบางพานนั้นเจริญรุ่งเรืองมา เพราะตั้งอยู่ในที่ราบลำน้ำใหญ่ไหลผ่านจากกำแพงเพชรไปสู่ที่จังหวัดสุโขทัย จึงเป็นเส้นทางคมนาคมเมืองใหญ่และเป็นแหล่งนี้อันอุดมสมบูรณ์ บ้านเรือนเรียงขนานแน่นสองฝั่งคลอง ปัจจุบันมีเมืองเก่าแก่ทรุดโทรมอยู่ในป่ารกเป็นคันเมือง คูเมือง (วัดเก่าหลายแห่ง) หมู่บ้านในอดีตยังเป็นหมู่บ้านในปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น วัดโคก บ้านวังไม้พาน และบ้านจำปีจำปา เป็นต้น สัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุดก็คือการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองสัมฤทธิ์ไว้ที่ เขานางทอง บนเขานางทองใกล้เมืองบางพาน ชื่อ “นางทอง” เป็นชื่อของมเหสีพระร่วง มีถนนจากสุโขทัยผ่านอำเภอพรานกระต่ายไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร เรียกว่า “ถนนพระร่วง”

กล่าวกันว่าในปี พ.ศ. 1800 เศษ พระร่วงครองสุโขทัย ทรงมีนโยบายที่จะขยายอาณาเขตให้กว้างขวางและมั่นคง จึงดำริที่จะสร้างเมืองหน้าด่านขึ้นทุกทีซึ่งได้รับสั่งให้นายพรานผู้ชำนาญเดินป่าออกสำรวจเส้นทางและชัยภูมิที่มีลักษณะดี กลุ่มนายพรานจึงได้กระจายกันออกสำรวจเส้นทางต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณแห่งนี้ได้พบกระต่ายป่าขนสีเหลืองเปล่งปลั่งด้วยทอง สวยงามมาก นายพรานจึงกราบถวายบังคมทูลขอราชานุญาตจากพระร่วงเจ้าเสด็จไปติดตามจับกระต่ายขนสีทองตัวนี้มาถวายเป็นราชบรรณาการถวายแดพระมเหสีพระร่วง

ายพรานจึงกลับไปติดตามกระต่ายป่าตัวสำคัญ ณ บริเวณที่เดิมที่พบกระต่ายได้ใช้ความพยายามดักจับหลายครั้ง แต่กระต่ายตัวนั้นสามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง

นายพรานมีความมุมานะที่จะจับให้ได้จึงไปชวนเพื่อนฝูงนายพรานด้วยกันมาช่วยกันจับ แต่ยังไม่ได้จึงอพยพลูกหลานพี่น้อง และกลุ่มเพื่อนฝูงต่าง มาสร้างบ้านถาวรขึ้นเพื่อผลที่จะจับกระต่ายขนสีทองให้ได้ กระต่ายก็หลบหนีเข้าไปในถ้ำซึ่งหน้าถ้ำมีขนาดเล็กนายพรานเข้าไปไม่ได้แม้พยายามหาทางเข้าเท่าไรก็ไม่พบจึงได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นหน้าถ้ำเพื่อเฝ้าคอยจับกระต่ายขนสีทอง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งต่อมาหมู่บ้านได้ขยายตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงได้เรียกชุมชนนั้นว่า “บ้านพรานกระต่าย” และเป็นชื่ออำเภอในเวลาต่อมา


ในปัจจุบันถ้ำที่กระต่ายขนสีทองหนีเข้าไปซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำกระต่ายทอง”ได้รับการบูรณะใหม่เพื่อทำให้เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นและประชาชนก็เห็นความสำคัญของสถานที่นี้จำได้ช่วยกันดูแลรักษาตกแต่งบริเวณให้สะอาด เพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสำหรับ หมู่บ้านสมกับเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญอำเภอพรานกระต่ายที่ว่า

“เอกลักษณ์ภาษาถิ่น หินอ่อนเมืองพาน

ตำนานกระต่ายทอง เห็ดโคนดองรสดี”


บนเส้นทางพระร่วง จากประตูสะพานโคมโดยไปทางวัดอาวาสน้อย สองข้างทางประชาชนส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยกลาง พอเลยออกจากหมู่บ้านก็จะเป็นพื้นที่ไร่นา เป็นป่าโปร่งเล็ก ๆ ไม่ค่อยจะพบบ้านเรือนประชาชนมากนักที่พบก็ใช้ภาษาไทยกลางดังกล่าวมาแล้ว แต่พอมาถึงบริเวณบ้านดงขวัญ ได้พบประชาชนหรือชาวบ้านบริเวณนั้นเริ่มพูดภาษาถิ่นกันมากขึ้น ได้สอบถามถึงภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันจึงทราบว่าเป็นภาษาพรานกระต่าย ชาวบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้อพยพมาจากอำเภอพรานกระต่าย ได้ใช้ภาษาพูดของคนสุโขทัย และไม่เหมือนที่ใด มีบางแห่งกล่าวกันว่าคนพรานกระต่าย มีพื้นภาษามาจากลาวพรวน แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดและได้พบการใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่าย มากขึ้นเป็นลำดับตลอดเส้นทาง และจากการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ จากชาวบ้าน ๒ ฝั่งถนนพระร่วงและในเขตชุมชนต่าง ๆ ในระดับตำบลและหมู่บ้านทำให้ทราบได้ว่า พื้นที่ที่ใช้ภาษาพรานกระต่ายมีอยู่ทั่ว ๆ ไปดังนี้

๑. ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จะมีพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่าย จำนวน ๑ หมู่บ้านซึ่งได้แก่ หมู่บ้านน้ำดิบ

๒. ในเขตอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ทุกหมู่บ้านในอำเภอนี้ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่ายทั้งสิ้น

๓. อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร มีที่บ้านหนองหลวงและบ้านลานกระบือ

๔. อำเภอเมือง จังหวัดตาก มีพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่ายทั้งหมด ๗ หมู่บ้าน คือ บ้านตลุกป่าตาล บ้านบ่อไม้หว้า บ้านโป่งแดง บ้านลานสอ บ้านวังประจบ บ้านสะแกเครือ และ บ้านไม้งาม

๕. อำเภอกงไกรลาส จังหวัดสุโขทัย ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่าย ณ หมู่บ้านคุยสมอ บ้านชุมแสงสงคราม บ้านหนองตูม

๖. อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มีที่ บ้านไผ่ล้อม บ้านยางซ้าย บ้านฝอย บ้านคลองยาง

๗. อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย มีที่บ้านบึงสนม บ้านคุยประดู่ บ้านใหม่เจริญผล บ้านบ่อคู่ บ้านทุ่งหลวง บ้านสามพวง บ้านเขาทองผางับ บ้านโตนด

๘. อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย มีที่บ้านวังตะแบกเหนือจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมการใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่าย มีอยู่เป็นบริเวณกว้าง ทั่ว ๆ ไป บางแห่งแม้จะมีเพี้ยนไปบ้างก็พอมีเค้าเดิม การเพี้ยนไปนี้ไม่ได้เพี้ยนไปเป็นภาษาทางภาคไหน เพี้ยนมาแต่โบราณกาลแล้ว อาทิเช่น

เสื่อ เพี้ยนเป็น เสือ

ข้าวสาร เพี้ยนเป็น ข้าวส่าน

หนังสือ เพี้ยนเป็น หนังสื่อ

คนสวย เพี้ยนเป็น คนส่วย

มั่งซิ เพี้ยนเป็น มั่งฮิ

ไปซิวะ เพี้ยนเป็น ไปซัวะ

ไปไหนเล่า เพี้ยนเป็น ไปเม้า

ภาษาถิ่นที่ยังใช้กันอยู่แพร่หลาย และยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน บางคำที่ไม่เหมือนกับภาคอื่น ๆ เช่น

ขี้ปุ๋น คือ ฝรั่ง(ผลไม้)

ยู้ คือ ผลัก , ดัน

โด๋ คือ ตรงโน้น

โด๋เนี่ย คือ ตรงนี้

ตะพัด คือ สะกัดกั้น

ยั้ง คือ หยุด

ไม้เส้า คือ ไม้สอยผลไม้

อี๊ใน คือ แมลงใน

อี๊หนีด คือ แมลงจิ้งหรีด

ลักษณะของภาษาถิ่นพรานกระต่าย คือคำที่มีเสียงวรรณยุกต์เอก และเสียงเอกจะเปลี่ยนเป็นเสียงจัตวาและมีคำศัพท์ที่แตกต่างไปตามท้องถิ่นอื่น ๆ มีสำเนียงคล้ายกับชาวสุโขทัย แต่มีเสียงเหน่อมากกว่าชาวสุโขทัย สภาพภูมิประเทศไม่มีอิทธิพลต่อภาษาถิ่นพรานกระต่าย เพราะภาษาของคนพรานกระต่ายจะกระจายแบบเครือญาติ

อีกทั้งนิสัยคนพรานกระต่ายไม่ค่อยชอบอพยพไปอยู่ที่อื่น สำหรับบริเวณเส้นทางถนนพระร่วง ในช่วงอำเภอพรานกระต่ายจะหนาแน่นมากขึ้นเป็นลำดับในด้านภาษาถิ่น จนถึงเข้าเขตสุโขทัย โดยเฉพาะในเขตอำเภอคีรีมาศจะหนาแน่นในบ้างหมู่บ้าน แล้วค่อย ๆ กระจายเพี้ยนไปเข้าสำเนียงสุโขทัยมากขึ้นตามลำดับ