พระธาตุเชียงขวัญ

วัดใหญ่ศรีมหาธาตุ จ.ร้อยเอ็ด


สิมเก่า

วัดใหญ่ศรีมหาธาตุเป็นวัดเก่า แต่เดิมเรียกว่าวัดพระเจ้า ตัวสิม ก่อสร้างในปี 2458 โดยพระครูวินัยธรรมฮวด โดยแรงงานของชาวบ้านใกล้เคียงรว่มกันสร้างด้วยจิตศรัทธา เป็นสิมขนาดใหญ่หลังคาลดชั้น มีประตูไม้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เหนือประตูเป็นรูปปูนปั้นเทพนม ประตูด้านหลังปิดไว้เพราะติดหลังพระประธาน บานประตูเขียนสี หน้าต่างฝั่งละ 4 ช่อง บานหน้าต่างทำด้วยไม้เขียนสี ด้านนอกสิม เป็นโถงมีชายคา เดินได้โดยรอบ โดยทำซุ้มโค้งด้านหน้า 5 ซุ้ม ด้านข้าง 7 ซุ้ม ให้แสวงสว่างและรับน้ำหนักหลังคา หน้าบันทำด้วยแผ่นไม้เขียนสี ปัจจุบันภาพได้หลุกร่อนไปเกือบหมด


หลังคา มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีโหง่และช่อฟ้าประดับด้วยโลหะ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ศิลปะพื้นเมืองอีสาน-ล้านช้าง องค์พระมีขนาดใหญ่จนพระเศียร(เกศมาลา) เข้าไปในช่องฝ้าเพดาน เพดานเขียนรูปพระมาลัย พระจันทร์ พระอาทิตย์ชักรถ เพดานภายนอกเขียนภาพเทวดาล้อมด้วยดาวเดือน ผนังสิมไม่ได้เขียนฮูปแต้ม แต่มีการประดับด้วยรูปปั้นพระ เรียงกัน 3 แถว เหนือหน้าต่าง กำแพงแก้วก็ประดับด้วยรูปปั้นพระเหมือนกัน ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวัดนี้ นับเป็นสิมพื้นเมืองขนาดใหญ่อีกหลังหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด


พระธาตุศรีเชียงขวัญ

องค์พระธาตุนั้นฐานกว้างด้านละ 9 เมตร สูง 32 เมตร จำลองมาจากพระธาตุพนม ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ สามปีจะเอาลงมาสรงน้ำครั้งหนึ่ง ผู้มีจิตศรัทธาจะเพิ่มทองเข้าเรื่อยๆ สร้างในสมัยพระครูวินัยธรรมฮวดเช่นกัน วัดนี้เป็นวัดบ้านเกิดของหลวงปู่พิบูลย์ ผู้ก่อตั้งอำเภอพิบูลย์รักษ์ จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึกด้วย


เจดีย์ศรีมหาธาตุ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น พระธาตุศรีเชียงขวัญ) องค์พระธาตุก่อสร้างด้วยอิฐดินเผา องค์พระธาตุปัจจุบันเป็นการก่อสร้างแทนองค์พระธาตุเดิมที่ปรักหักพัง โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนั้นยังมีการบรรจุสิ่งของมีค่าที่ประชาชนในท้องถิ่นนำมาบรรจุลงไปในองค์พระธาตุในขณะที่มีการก่อสร้าง จากการสอบถาม พระทรงชัย สีลรัฒใน เจ้าอาวาสในปัจจุบัน เล่าว่า พระธาตุองค์นี้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2476 - 2477 ในขณะที่ท่านมีอายุประมาณ 17 - 18 ปี


ลักษณะทั่วไป พระธาตุใหญ่ศรีมหาตุสร้างขึ้นโดยการก่ออิฐคือปูนภายนอกตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นปิดปร ะดับกระจกสี มียอดฉัตรเป็นโลหะมีค่า วัสดุสำคัญที่ใช้ในการก่อสร้างได้จากอิฐและปูนซึ่งได้มาจากกรรมวิธีการยัดโตแบบโบราณ กล่าวคือ อิฐได้จากดินในละแวกใกล้เคียงโดยตั้งเตาเผาภายในวัดนั่นเอง ส่วนปูนปั้นได้จากการขุดเอาหินปูนที่อยู่ในท้องนาระแวกนั้นมาเผา กรองให้ละเอียด นำมาผสมกับทรายจากแม่น้ำชี และใช้น้ำประสานจากกาวหนังควาย ที่ได้จากการเคี่ยวหนังวัวควายและยางบง (ต้นบงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มียางเหนียว) โดยนำวัสดุเหล่านี้มาผสมโขลกตำ ให้เข้ากันแล้วจะได้ปูนที่ใช้ในการก่อฉาบ ชาวบ้านเรียกว่า " ปูนคำชะทายโบก " ซึ่งใช้ส่วนผสม ปูน 5 ส่วน ทราย 7 ส่วน น้ำอ้อย 1 ส่วน ยางบง 9 ส่วน


รูปทรงขององค์พระธาตุ รูปทรงขององค์พระธาตุได้รับอิทธิพลจากพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม คือมีฐานสี่เหลี่ยมช้อนกันรวม 4 ชั้น ยอดพระธาตุทรงดอกบัวตูมลักษณะศิลปะแบบพื้นถิ่นอีสาน-ล้านช้าง ฐานโดยรอบทั้ง 4 ชั้นประดับด้วยรูปปั้นพระพุทธรูปและพระสาวกประทับยืนเรียงรายโดยรอบทั้ง 4 ทิศ


พระครูวินัยธรรมฮวด

หลวงปู่ฮวด เกิดวันพุธ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 พ.ศ. 2417 บิดาท่านชื่อ ขุนทการ (น้อย) มารดาชื่อแก่น มีพี่น้องด้วยกัน 4 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ถิ่นฐานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ด ครั้นต่อมาครอบครัวของท่านได้อพยพจากเมืองร้อยเอ็ด มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านงิ้วเหนือ ต.พลับพลา กิ่งอ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด บรรพชาเมื่ออายุ 12 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสระทอง มลฑลร้อยเอ็ด โดยเจ้าคณะจังหวัด พระครูเอกกุตตรสตาธิคุณ เป็นพระอุปัฌชาย์จารย์ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระทอง 7 ปี เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

การศึกษา จบการศึกษาทางปริยัติธรรม (ภาษาบาลีชั้นสูง) พระสูตร พระวินัย และพระปาฏิโมกข์

ธุดงค์กรรมฐาน ท่านออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาหลักธรรมตามรอยพระพุทธองค์ ธุดงค์ไปตามป่า ภูเขาและที่ที่สงบ (เขตพื้นที่ภาคอีสานและประเทศลาว)

อุปนิสัย ท่านมีนิสัยมักน้อย สันโดษ มีความเอื้อเฟื้อแก่เพื่อนสหธรรมิก และทุกชนชั้น รักความสงบ ชอบทำบุญ ทำกุศล เคร่งวิปัสนากรรมฐานเป็นกิจวัตรประจำวัน

อวสานแห่งชีวิต หลวงปู่ได้ละสังขาร ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เวลา 9.00 น. พ.ศ. 2485 นับเป็นการสูญเสียพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในสมัยนั้น หรือพระกรรมฐานรุ่นแรกๆ ของภาคอีสาน ต่อมาคณะลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้พร้อมเพรียงกันสร้างรูปเหมือนหลวงปู่ฮวดไว้สักการะ จนกระทั่งทุกวันนี้


ที่มา http://isan.tiewrussia.com/wat_yaisrimahathat/