ประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์สมานสามัคคี สืบทอดประเพณีไทย

ประเพณีวันสงกรานต์ ตำบลพลิ้ว เป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นวันบำรุงพระพุทธศาสนาและวัดวาอารามในท้องถิ่น กิจกรรมอย่างหนึ่งในเทศกาลสงกรานต์ คือ การทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ กิจกรรมเหล่านี้ คือ การบำรุงพุทธศาสนาและการมอบงบประมาณให้วัดในท้องถิ่นของตนๆไว้ใช้จ่ายในการพัฒนาและปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดครั้งสำคัญ

สงกรานต์ หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมทีวันที่จัดสงกรานต์นี้นั้นจะมีการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ในปัจจุบันได้มีการกำหนดวันที่แน่นอน คือ ตั้งแต่ 13 – 15 เมษายน แต่เดิม วันขึ้นปีใหม่ไทย คือ วันเริ่มปีปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ. 2431 และได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483

กิจกรรมที่ประชาชนชาวตำบลพลิ้วจะร่วมกันทำในวันสงกรานต์นั้น เริ่มตั้งแต่ตอนเช้าจะทำบุญตักบาตรถวายพระ หลังจากตักบาตรเสร็จแล้วจึงเลี้ยงพระฉันเช้าที่ศาลาการเปรียญ และสรงน้ำพระพุทธรูป โดยนำดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาแล้วจึงนำน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ เพื่อแสดงความเคารพบูชาและสรงน้ำท่านในวันขึ้นปีใหม่

มื่อสรงน้ำพระพุทธรูปแล้วจึงจะสรงน้ำพระสงฆ์ โดยมากเป็นสมภารเจ้าวัด ซึ่งจะเป็นการสรงน้ำจริง ๆ เมื่อสรงเสร็จแล้วจึงครองไตรจีวรใหม่ที่อุบาสกอุบาสิกานำมาถวาย หลังจากนั้นท่านขึ้นธรรมาสน์เทศน์อำนวยพรปีใหม่ให้แก่ผู้ที่ไปสรงน้ำ รวมทั้งมีพิธีรดน้ำญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี

การทำบุญตักบาตร นับว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัดซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับการทำบุญ ในวันเดียวกันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการก่อเจดีย์ทรายอันเป็นประเพณีที่สำคัญในวันสงกรานต์อีกด้วย

การบังสุกุลอัฐิ สำหรับเถ้ากระดูกของญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มักทำที่เก็บเป็นลักษณะของเจดีย์ จากนั้นจะนิมนต์พระไปบังสุกุล

การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการที่เราไปอวยพรผู้ใหญ่ใที่ให้ความเคารพนับถือ อย่าง ครูบาอาจารย์ มักจะนั่งลงกับที่ จากนั้นผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำธรรมดารดลงไปที่มือ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด หากเป็นพระก็อาจนำเอาผ้าสบงไปถวายเพื่อให้ผลัดเปลี่ยนด้วย แต่หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง หรือผ้าขาวม้าไปให้เปลี่ยน มีความหมายกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในวันปีใหม่ไทย

แม้ว่าในช่วงสงกรานต์จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ แต่อย่างไรก็ยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย เพราะเรายังคงประเพณีสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวเอาไว้ เป็นวันที่ครอบครัวจะได้อยู่กันพร้อมหน้า และเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่ทำให้ทุกคนได้กลับมากราบไหว้ขอพรจากผู้อาวุโส และได้เห็นความสำคัญของคนสูงอายุในบ้านที่อาจจะละเลยกันไป เป็นอีกหนึ่งวันและเทศกาลของคนไทยที่มีความสำคัญอย่างมาก

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวปฏิญญา ผ่องแผ้ว

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย ปังปอนด์ ถ่ายภาพ
ข้อมูล TKP อ้างอิง
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1692869464114119&type=3