การขยายอาชีพในชุมชน ประเทศ และภูมิภาค 5 ทวีป
เรื่องที่ 2 : การขยายอาชีพในชุมชน ประเทศ และ ภูมิภาค 5 ทวีป
กลุ่มอาชีพใหม่
จากการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกทั้งในส่วนการรวมกลุ่มทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และประการสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทางสังคม ดังนั้น อาชีพในปัจจุบันจะต้องมีการพัฒนาวิธีการและศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งจะต้องคำนึงถึงบริบทภูมิภาคหลักของโลก หรือ “รู้ศักยภาพเขา” หมายถึง ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ทวีปออสเตเลีย ทวีปแอฟริกาและจะต้อง “รู้ศักยภาพเรา” หมายถึงรู้ศักยภาพหลักของพื้นที่ประเทศไทย คือศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ และศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้การประกอบอาชีพสอดคล้องกับศักยภาพหลักของพื้นที่และสามารถแข่งขันในเวทีโลก จึงได้กำหนดกลุ่มอาชีพใหม่ 5 กลุ่มอาชีพ คือ กลุ่มอาชีพใหม่ด้านการเกษตร กลุ่มอาชีพใหม่ ด้านพาณิชยกรรม กลุ่มอาชีพใหม่ด้านอุตสาหกรรม กลุ่มอาชีพใหม่ด้านความคิดสร้างสรรค์ และกลุ่มอาชีพใหม่ด้านบริหารจัดการและบริการ
1. กลุ่มอาชีพใหม่ด้านการเกษตร คือการพัฒนาอาชีพในด้านการเกษตรเกี่ยวกับการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ การประมง โดยนำองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยี/นวัตกรรม มาพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพหลักของพื้นที่ คือศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ ตามลักษณะภูมิอากาศ ศักยภาพของภูมิประเทศและทำเลที่ตั้งของแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีของแต่ละพื้นที่และศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ อาชีพใหม่ด้านการเกษตร เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่วนเกษตร ธุรกิจการเกษตร เป็นต้น
2. กลุ่มอาชีพใหม่ด้านพาณิชยกรรม คือการพัฒนาหรือขยายขอบข่ายอาชีพด้านพาณิชยกรรมเช่น ผู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่งให้แก่ผู้บริโภคทั้งมีหน้าร้านเป็นสถานที่จัดจำหน่าย เช่นห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ และการขายที่ไม่มีหน้าร้าน เช่น การขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
3. กลุ่มอาชีพใหม่ด้านอุตสาหกรรม คือการพัฒนาอาชีพที่อาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี/นวัตกรรม อาชีพเกี่ยวกับงานช่าง ซึ่งได้แก่ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ ช่างยนต์ ช่างประปา ช่างปูน และช่างเชื่อมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศและศักยภาพหลักของพื้นที่ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์โดยทั่วไป เช่น IC PCB ผู้ประกอบรถยนต์และยานยนต์ประเภทต่าง ๆ ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ประกอบชิ้นส่วนหรืออะไหล่รถยนต์ ผู้ให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ ผู้จัดจำหน่ายและศูนย์จำหน่ายรถยนต์ทั้งมือหนึ่งมือสอง ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรและเครื่องมือทุกชนิด เช่น เครื่องจักรกลหนัก เครื่องจักรกลเบา ผลิตอุปกรณ์หรือส่วนประกอบพื้นฐานของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น สายไฟ หลอดไฟ ฉนวนไฟฟ้า มอร์เตอร์ต่าง ๆ การผลิตอลูมิเนี่ยม ผลิตและตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก สเตนเลส ผู้ผลิตจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง สุขภัณฑ์ การก่อสร้าง อาคาร หรือ ที่อยู่อาศัย
4. กลุ่มอาชีพใหม่ด้านความคิดสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของโลกธุรกิจที่ไร้พรมแดนและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคม การแลกเปลี่ยนสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่ที่อยู่ห่างไกลนั้นเป็นเรื่องง่ายในปัจจุบันเมื่อข้อจำกัดของการข้ามพรมแดนมิใช่อุปสรรคทางการค้าต่อไป จึงทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีสิทธิเลือกสินค้าใหม่ได้อย่างเสรีทั้งในด้านคุณภาพและราคา ซึ่งการเรียนรู้และพัฒนาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้วในยุคโลกไร้พรมแดนกระทำได้ง่าย ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น ประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา ด้วยเหตุนี้ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจหลายประเทศจึงหันมาส่งเสริมการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ และหลีกเลี่ยงการผลิตสินค้าที่ต้องต่อสู้ด้านราคา โดยหลักการของเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือแนวคิดหรือแนวปฏิบัติที่สร้าง/เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนัก แต่ใช้ความคิด สติปัญญา และความสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเจริญเติบโตอย่างคุณภาพและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญา ภายใต้ปัจจัยสนับสนุนที่เอื้ออำนวยและระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ มุ่งปรับโครงสร้างและการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสาขาบริการที่มีศักยภาพบนพื้นฐานของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์และเมืองสร้างสรรค์ เพิ่มผลผลิตของภาคเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้เชิงสร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่ไปกับการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่เข้มแข็งและขยายตัวอย่างมีคุณภาพ
กลุ่มอาชีพใหม่ด้านความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นอาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้(Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom)และเทคโลโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Innovation) (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2553) ดังนั้น กลุ่มอาชีพใหม่ด้านความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นการต่อยอดหรือการพัฒนาอาชีพในกลุ่มอาชีพเดิม คือ กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม กลุ่มอาชีพพาณิชยกรรม กลุ่มอาชีพคหกรรม กลุ่มอาชีพหัตถกรรมและกลุ่มอาชีพศิลปกรรมกลุ่มอาชีพใหม่ด้านความคิดสร้างสรรค์ เช่น แฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ทรงผมสปาสมุนไพร การออกแบบสื่อ/ภาพยนตร์/โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้างแบบประหยัดพลังงาน เซรามิก ผ้าทอ จักสาน แกะสลัก รถยนต์พลังงานทางเลือก ขาเทียมหุ่นยนต์เพื่อคนพิการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตลาดน้ำอโยธยา เป็นต้น
5. กลุ่มอาชีพใหม่ด้านบริหารจัดการและบริการ เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ ธุรกิจภาพยนต์ ธุรกิจการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาทางธุรกิจงานอาชีพใหม่ทั้ง 5 กลุ่ม ในอนาคตจะมีการเติบโตทางธุรกิจมากขึ้น จึงมีความต้องการเจ้าหน้าที่ บุคคล พนักงาน เพื่อควบคุมและปฏิบัติงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือเป็นจำนวนมาก
การขยายอาชีพระดับโลก
หากเราจะมองไปที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักคิด นักพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเคมีอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ และอื่น ๆ ล้วนแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้จึงขยายขอบข่ายการผลิตออกไปยังประเทศที่ค่าจ้างแรงงานต่ำ และหันกลับมาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สร้างความสวยงามให้กับบ้านเมือง และชนบท สร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว หันมาพัฒนาการผลิตอาหาร พืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ในระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูง เพื่อสร้างพื้นฐานสุขภาพชีวิตประชาชนของเขาให้อยู่ดีมีสุขสู่การมีปัญญาอันล้ำเลิศ
ตัวอย่างที่ 1 การขยายขอบข่ายอาชีพจากเกษตรอินทรีย์
จากตัวอย่างเราจะเห็นว่า อาชีพปลูกพืชอินทรีย์เป็นอาชีพหลักที่สามารถขยายขอบข่ายออกไปเป็นอาชีพปศุสัตว์และประมง อาชีพแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาชีพท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และอาชีพจัดการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์