วัดป่านาคำน้อย

วัดป่านาคำน้อย เดิมชื่อ วัดอุดมมงคลวนาราม เป็นนามที่ได้รับเมตตาประทานจากหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน แต่ต่อมาทางราชการมีแนวคิด เกี่ยวกับการตั้งชื่อวัดให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านที่ตั้งของวัด จึงได้ใช้นามว่า “วัดป่านาคำน้อย” ในปัจจุบัน


สถานที่ตั้งวัด อยู่ที่หมู่ 7 บ้านนาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี

รหัสไปรษณีย์ 41380 มีพื้นที่ในปัจจุบัน 1,350 ไร่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523

ประวัติการก่อตั้งวัด วัดป่านาคำน้อย ได้รับการตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2529 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2531 ตามบัญชีรายชื่อวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ 6 ประจำปี 2530 ลำดับที่ 36

วัดนาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอน้ำโสม (ในขณะนั้น) จังหวัดอุดรธานี ขนาดวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 14 วันที่ 22 มกราคม 2531 กองพุทธสถานกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เพื่อดำเนินตามแนวทางที่องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เมตตาชี้แนะไว้ว่า “สถานที่นี้เหมาะสำหรับผู้สนใจภาวนาเพราะเป็นป่า เป็นเขาสงบสงัด”

สภาพก่อนที่จะต้องเป็นวัด

ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก ขณะนั้นจำพรรษอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ได้ธุดงค์มาในเขตนี้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ ในขณะนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่านายูง และป่าน้ำโสม มีสภาพทรุดโทรม และเป็นพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทานไปแล้วหลายวาระ ประกอบกับเป็นพื้นที่สีชมพู อยู่ในเขตปฏิบัติการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย น่าจะได้รับการฟื้นฟูทั้งทางรูปธรรม และนามธรรม โดยที่ท่านพระอาจารย์ได้เคยวิเวกมาในแถบนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา หลายวาระด้วยกัน

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้ธุดงค์มาอีกรอบหนึ่ง ในครั้งนี้ ได้ธุดงค์มาปักกลด ณ บริเวณต้นสะท้อน ริมห้วยราง (ตรงบริเวณที่เป็นโรงครัวในปัจจุบัน) เห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะ น่าจะได้มีการจัดตั้งเป็นวัดปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จึงได้ชักชวนคณะศรัทธาญาติโยม หมู่เพื่อนสหธรรมิกพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า มาร่วมกันก่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

สภาพป่าภายในบริเวณวัด

เป็นป่าที่สมบูรณ์ประมาณ 600 ไร่ แต่ได้รับการปลูกเสริมเพิ่มเติม เช่น สัก ประดู่ มะค่า ยาง กระบาก ตะแบก ตะเคียนทอง เป็นต้น ปัจจุบันได้ปลูกเสริมจนเต็มพื้นที่ จึงสามารถมองเห็นสภาพป่าดั้งเดิมและปลูกเสริมใหม่เจริญเติบโตร่วมกัน

สัตว์ป่าภายในวัด

เนื่องจากพื้นที่นี้แต่เดิมเป็นป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น หมูป่า กระรอก ค่าง ลิง ชะนี งูจงอาง งูเห่า เหี้ย กระจง นิ่ม และนกชนิดต่าง ๆ

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด

ศาลาอเนกประสงค์ ขนาด 2 ชั้น พื้นที่กว้าง 16 เมตร ยาว 24 เมตร เป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม เป็นที่ฉันภัตตาหาร เป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกุฏิถาวร ประมาณ 15 หลัง และร้านพักพระประมาณ 40 หลัง โรงน้ำร้อน โรงครัว และที่พักฝ่ายอุบาสก อุบาสิกาจำนวน รวม 15 หลัง และถนนคอนกรีตเชื่อมโยงภายในวัดรวมเส้นทาง 4 กม.เศษ

ขยายและส่งเสริม สำนักและวัดปฏิบัติธรรม

เมื่อท่านพระอาจารย์ได้มาจำพรรษาในแถบนี้ รวมทั้งในแถบอื่นหลายวัดด้วยกัน เช่น วัดป่าภูก้อน วัดป่าบ้านเพิ่ม วัดป่าหลุบเลา วัดป่าแค วัดป่าบ้านก้อง วัดป่าวังแข้ อำเภอนายูง วัดป่าโคกสาคร อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น


วัดหมู่เพื่อนสหธรรมิก เช่น วัดป่ากุดสิม อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู วัดป่าบ้านใหม่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และท่านได้ตั้งวัดสาขา เช่น วัดป่าพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และสนับสนุน ศิษย์ที่เคยอยู่ในสำนักของท่านออกไปตั้งวัดหลายแห่ง หลายจังหวัดด้วยกัน อาทิ วัดป่าภูน้ำป๊อก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น วัดป่าชัยพฤกษ์ กิ่งอำเภอเอราวัณ วัดป่าอุดมมงคลญาณสัมปันโน (ห้วยซวก) อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย วัดป่าเทพมงคล อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย วัดป่าภูสวรรค์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย วัดป่าภูเขาวงศ์ วัดป่าภูพัง กิ่งอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู วัดป่าสุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น