ประวัติความเป็นมา

รำแม่มด หรือ เรือมมม็วด เป็นพิธีกรรมของคนเชื้อสายเขมร โดยมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ววิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ เพื่อคอยช่วยเหลือลูกหลาน และหากลูกหลานคนใดประพฤติผิดจารีตประเพณี หรือทำไม่ดี ก็จะได้รับการลงโทษจากบรรพบุรุษให้ได้รับความเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น เมื่อลูกหลานเจ็บป่วยจะบนบาน และหากหายก็จะแก้บนด้วยการเล่นแม่มด โดยจะประกอบพิธีในช่วงเดือน 3-4 หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ในพิธีจะเชิญครูมม็วด ซ็องเมิง (ผู้เป็นหลักเมือง) เชิญผู้นำชุมชน เชิญแขกมาร่วม เครื่องดนตรีที่ใช้ในการเล่น เลือกตามแต่ฐานะของเจ้าภาพ หากเป็นผู้มีฐานะดีจะเลือกวงดนตรีวงใหญ่ ประกอบด้วย กลองโทน 3 ใบ ซอด้วง 1 สาย ฆ้องขนาด 24 นิ้ว 1 ใบ กรับ 1 คู่ ขลุ่ยปีออร์(เปย) 1 เลา คนเจรียง (คนร้อง) 1-2 คน หากมีฐานะไม่ค่อยดีจะเลือกวงเล็ก ประกอบด้วย แคน 1 เต้า กรับ 1 คู่ คนเจรียง 1-2 คน โดยมากรำแม่มดจะทำเมื่อมีคนป่วยรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันไม่หาย การรำแม่มดจึงทำเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย และวิธีการรักษา