ศิลปวัฒนธรรม

พระธาตุดอนแก้ว (พระมหาธาตุเจดีย์)

สถานที่ตั้ง หมู่ที่ ๕ บ้านดอนแก้ว ตำบลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาดอนแก้วเป็นเกาะเล็กๆ กลางหนองหานน้อยกุมภวาปี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำลำปาวตำนานเล่าว่า พระอรหันต์กลุ่มหนึ่งจะไปนมัสการพระธาตุพนมได้มาพักแรมที่ดอนแก้วพระอรหันต์องค์หนึ่งอาพาธหนักถึงนิพพานพระอรหันต์ทั้งหลายที่เหลืออยู่จึงถวายเพลิงท่านและก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ ต่อมาประมาณพ.ศ. ๑๑ มีกลุ่มคนเข้ามาในดอนแก้วแล้วสร้างใบเสมาหินทรายล้อมรอบพระธาตุไว้ และปักรายรอบบริเวณดอนแก้ว จากการศึกษาพบว่าเป็นเสมาสมัยทวารวดีต่อมาชุมชนลาวได้อพยพจากเมืองร้อยเอ็ด เมืองชัยภูมิเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ดอนแก้วมีท้าวชินเป็นหัวหน้าชุมชนได้ปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ขึ้น (จากจารึกที่ฐานพระธาตุเป็นตัวลาวโบราณ) บอกว่าบูรณะเสร็จสิ้นปี พ.ศ.๒๔๔๑ ประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๗๑ มีชุมชนหลายกลุ่มเข้ามาอยู่ในดอนแก้วส่วนใหญ่เป็นลางเวียงจึงได้สร้างวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นที่ดอนแก้วให้ชื่อว่า “วัดมหาธาตุเจดีย์”


ลักษณะเด่น

พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง สร้างเป็นลักษณะสองชั้น ชั้นแรกกว้างด้านละ ๑๔ ม. สูง ๑.๒๕ ม. มีทางขึ้นลงด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตะวันตกชั้นที่๒ กว้างยาวด้านละ ๑๐ ม. สูง๑.๕๐ ม. มีทางขึ้นลง ๔ ด้าน และฐานขั้นนี้เป็นลานประทักษิณเจดีย์ แต่ละชั้นมีภาพสลักเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ เรื่องนรก สวรรค์

ประเพณีสำคัญ

ชาวบ้านดอนแก้วและชาวอำเภอกุมภวาปี จัดให้มีงานประเพณีที่วัด พระมหาธาตุเจดีย์ บ้านดอนแก้ว เป็นประจำทุกปี โดยการทำบุญสรงน้ำ ในวันเสาร์-อาทิตย์แรก หลังประเพณีวันสงกรานต์


ใบเสมา

มีกลุ่มใบเสมาปักรอบ ๆ ตามคดีนิยม เพื่อแสดงเขตสถานศักดิ์สิทธิ์ ประมาณ พ.ศ. ๑๑ มีกลุ่มคนเข้ามาในดอนแก้ว แล้วสร้างใบเสมาหินทรายล้อมรอบพระธาตุไว้ และปักรายรอบบริเวณดอนแก้ว

“พระมหาธาตุเจดีย์” หรือชื่อเรียกที่คุ้นหูของคนทั่วไปว่า “พระธาตุดอนแก้ว” นั้น ประดิษฐานอยู่กลางวัดมหาธาตุเจดีย์ บ้านดอนแก้ว หมู่ที่ ๕ ตำบลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นเจดีย์ลักษณะทรงสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม สูงประมาณ ๑๘ วา ด้านทิศเหนือและทิศใต้ กว้าง ๖ วา ๒ ศอกทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กว้าง ๖ วาเศษ มีบันไดขึ้นลง ๒ ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตกองค์พระธาตุมีลักษณะการสร้าง ๒ ชั้น แต่ละชั้นมีภาพสลักเกี่ยวกับพุทธประวัติเรื่องนรก-สวรรค์วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นหินทรายรูปทรงสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ ศอก รอบนอกฉาบด้วยปูน สันนิษฐานว่า คงเป็นการซ่อมแซมในภายหลังรอบองค์พระธาตุเจดีย์มีใบเสมาและเสาหินตั้งอยู่ทั้ง ๘ ทิศ มีลักษณะ ๘ เหลี่ยมบ้าง แบนบ้าง สูงตั้งแต่ ๒-๔ เมตร ปัจจุบันศิลปกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ห่างองค์พระธาตุเจดีย์ ๑๕-๒๐ เส้น ซึ่งก็ยังปรากฏอยู่ทั้งภายในและภายนอกวัด เข้าใจว่าเสาหินเหล่านี้คงเป็นเขตวัดหรือเขตเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในยุคก่อนโน้นแต่เสาหินเหล่านี้ได้ชี้ชัดลงไปให้เห็นว่า ในยุคก่อนโน้นชุมชนแห่งนี้ต้องมีความเจริญรุ่งเรืองมากและเป็นธรรมดาอยู่เองเมื่อวัดและบ้านมีความเจริญ ย่อมจะมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และเรื่องนี้อาจจะโยงไปผูกพันกับ “หนองหาน” อันเป็นที่มาของ “ผาแดง-นางไอ่” อมตะนิทานพื้นบ้านอีสานก็เป็นไปนักโบราณคดีบางคนสันนิษฐานว่า พระธาตุดอนแก้ว ตลอดทั้งใบเสมาและเสาหินที่ปรากฏอยู่นั้นสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ หรือประมาณ ปี พ.ศ.๑๑๐๐-๑๓๐๐ เพราะวัสดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นหินทราย รวมทั้งภาพแกะสลักก็เป็นช่างในสมัยทวาราวดีตอนปลายสมัย ลพบุรีตอนต้น จึงแสดงว่า ศิลปกรรมเหล่านี้มีมาก่อนปราสาทหินพิมาย ปราสาทเขาพนมรุ้ง หรือแม้แต่ปราสาทเขาพระวิหาร โดยมีทั้งตำนานและหลักฐานอ้างอิงจารึกไว้เพราะดูจากสภาพภูมิประเทศแล้ว หมู่บ้านดอนแก้วแห่งนี้ ไม่มีแหล่งหินทรายที่ใช้ในการก่อสร้างเลย ผู้สร้างเอามาจากที่ใด เอามาได้อย่างไร ย่อมเป็นเรื่องที่อนุชนรุ่นหลังต้องศึกษาค้นคว้าหาคำตอบให้ได้ นอกจากนั้นคนรุ่นหลังก็ควรหวงแหนและอนุรักษ์ศิลปกรรมอันล้ำค่าต่อไปอีกนานเท่านาน

“ดอนแก้ว” ธาตุพระอรหันต์ ตำนานกล่าวไว้ ได้มีพระอรหันต์คณะหนึ่ง เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม ขากลับมาพระอริยเจ้าคณะนี้ได้เดินธุดงค์ผ่านหมู่บ้านดอนแก้วเหมือนขาไป แต่ยังไม่ทันพ้นหมู่บ้าน พระอรหันต์รูปหนึ่ง

เกิดอาพาธขึ้นมาอย่างกะทันหัน และได้ละสังขารลงที่นี่ พระอรหันต์ที่เดินธุดงค์มาด้วย จึงช่วยกันจัดการประชุมเพลิง และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิท่านไว้ เมื่อปี พ.ศ.๑๑ หลังสร้างองค์พระธาตุพนมเสร็จ ๓ ปีจากนั้น เหล่าพระอรหันต์ก็เดินธุดงค์ต่อไปต่อมาเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดความผันผวน องค์พระเจดีย์ใหญ่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างมานาน ขณะนั้นได้มีพระธุดงค์ชาวเขมรรูปหนึ่ง ชื่อ “หลวงปู่อุ้ม” เดินธุดงค์ผ่านมาพบองค์พระเจดีย์มีสภาพปรักหักพังหมู่บ้านดอนแก้วก็ร้างไม่มีคนอยู่อาศัย “หลวงปู่อุ้ม” จึงได้ชักชวนชาวบ้านใกล้เคียงช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ จนมีลักษณะงดงาม เป็นสถานที่หลอมรวมใจของชาวบ้านในปัจจุบันนับแต่ ปี พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นต้นมา ผู้คนจากชัยภูมิและโคราชได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งในบริเวณบ้านดอนแก้วมากขึ้น และมีการปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุเจดีย์กันหลายครั้ง เพื่อให้องค์พระธาตุเจดีย์มีความเข้มแข็งคงทนมากขึ้นกว่าเดิม ครั้งสุดท้ายมีการบูรณะกันอีกในปี พ.ศ.๒๕๑๓“ดอนแก้ว” ชุมชนโบราณแห่งนี้ มีลักษณะคล้ายกับเมืองโบราณสมัยทวาราวดีโดยทั่ว ๆ ไป ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบตัวเมือง และมีศาสนสถานที่สำคัญอยู่นอกตัวเมือง คือ พระมหาธาตุเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มใบเสมาปักรอบ ๆ ตามคดีนิยม เพื่อแสดงเขตสถานศักดิ์สิทธิ์ คล้าย ๆ กับการปักใบเสมา “เมืองฟ้าดาดสูงยาง” อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เยื้ององค์พระธาตุไปทางทิศตะวันตกจะพบเห็นภาพสลักเป็นลวดลายธรรมชาติบางส่วนและจารึกภาษามอญที่มีสภาพลบเลือนไปมากแล้วอีกบางส่วนจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วพอจะชี้ให้เห็นว่า ชุมชนโบราณบ้านดอนแก้วนั้นมีประวัติความเป็นมาแสนยาวนาน ถึงแม้จะมีการสับเปลี่ยนของกลุ่มผู้คนที่เข้ามาอาศัยอยู่เป็นช่วง ๆ จนไม่สามารถสืบสานความเป็นมาอย่างต่อเนื่องจากปากสู่ปากได้ แต่ในด้านแหล่งโบราณคดีที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำคัญและความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีในปี พ.ศ.๒๕๑๓ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมี นายไพโรจน์ อังสนากุล เป็นผู้นำได้พากันมาตรวจสอบอายุของใบเสมาและเสาหิน ตลอดทั้งองค์พระธาตุเจดีย์ ในที่สุดนักศึกษาคณะโบราณคดีก็ชี้ออกมาว่า ศิลปกรรมดังกล่าวมีอายุไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๒ กรมศิลปากรได้มาปักหมุดรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ และปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถานแห่งชาติ”ไว้แล้วนอกจากนั้น การค้นคว้าหาหลักฐานของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันราชภัฏอุดรธานี พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถาน ก็ได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญในยุคต่อมาต้องเข้าไปศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลกันต่อไปอีกเพราะศิลปกรรมดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

ตำแหน่งที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขต องค์การบริหารส่วนตำบลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

การเดินทาง : จากจังหวัดอุดรธานีตามทางหลวงหมายเลข ๒ อุดรธานี - ขอนแก่น ถึงทางพาดกุมภวาปี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอกุมภวาปี ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอ เดินทางเข้าสู่เกาะดอนแก้วประมาณ ๑ กิโลเมตร