ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกระเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้

คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีกระแสพระราชดำรัสถึง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วัตถุประสงค์โครงการ

ช่วยให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลัดลงทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งสามารถช่วยลดระดับน้ำท่วมสูงสุด 5-6 เซนติเมตร และ ลดระยะเวลาน้ำท่วมลงได้ 1-2 วัน

ลักษณะโครงการ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 ให้ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตร เพื่อย่นระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลลัดลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อันจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลได้อย่างดี โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานรับสนองพระราชดำริ ดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ จากเดิมที่มีสภาพตื้นเขินมีความกว้างเพียง 12 เมตร ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ก่อสร้างประตูระบานน้ำบริเวณต้นคลองด้านทิศเหนือขนาดกว้าง 14 เมตร จำนวน 4 บาน ขุดคลองด้านเหนือประตูระบายน้ำกว้าง 65 เมตร ความยาวรวม 600 เมตร

  • ก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณต้นคลองด้านทิศเหนือกว้าง 14.00 เมตร จำนวน 4 บาน
  • ขุดคลองด้านเหนือประตูระบายน้ำกว้าง 65 เมตร ท้ายประตูระบายน้ำกว้าง 66 เมตร
  • ความยาวคลอง 600 เมตร
  • ระดับก้นคลองอยู่ที่ - 7.0 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • ระดับหลังคันคลอง +2.65 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

การปิด-เปิด บานระบาย

  • ช่วงฤดูแล้งจะปิดบานเพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลกลับเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำทะเลกำลังขึ้นจะปิดบาน และเมื่อน้ำทะเลกำลังลงจะเปิดบาน

ผู้ได้รับประโยชน์

พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ ที่ได้รับ 161.4 ล้านบาท/ปี และประโยชน์ทางอ้อมอื่น ๆ ทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วม ลดการสูญเสียทรัพย์สินและเวลา ในการเดินทาง ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าสูบน้ำ ของระบบป้องกันน้ำท่วมเดิม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดินที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงลดภาระการบริหารงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเฉพาะหน้า ของภาครัฐได้อีกด้วย

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกังหันพลังน้ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสกับนายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 รับสั่งว่า “…โครงการคลองลัดโพธิ์จะทำประโยชน์ได้อย่างมหัศจรรย์มีพลังงานมหาศาล จะใช้เป็นพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลอง ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วยหรือไม่…”

จากพระราชกระแสในครั้งนั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 กรมชลประทานจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ และออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบผลิตกระแสไฟฟ้าตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จ โดยใช้หลักการพลังงานจล จากความเร็วของกระแสน้ำไหลมาปั่นกังหัน ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกังหันลม และหลักการชลศาสตร์ จนออกแบบเป็นกังหันหมุนตามแนวแกน และกังหันแบบหมุนขวางการไหล จากการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ เฉลี่ยแล้วใช้งบประมาณกิโลวัตต์ละ 2 แสนบาท เพราะมีอุปกรณ์บางส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่โครงการที่ 2 ที่ กรมชลประทาน และ มก.นำไปประยุกต์ใช้ คือประตูระบายน้ำบรมธาตุ จ.ชัยนาท โดยจะติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 4 ชุด โดยใช้วัสดุภายในประเทศทั้งหมด ได้กำลังผลิตรวมกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลวัตต์ ลดต้นทุนเหลือกิโลวัตต์ละ 1 แสนบาท