วัฒนธรรมภูไทบ้านนายูง

“สืบฮอยต๋า ว่าฮอยปู่ ฮีตปู่มิเฮ้ออย่า ฮีตย่ามิเฮ้อเส”

ชาวผู้ไทยบ้านนายูง เป็นชนชาวผู้ไทย ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองแถน บริเวณสิบสองจุไท ตอนเหนือของ สปป.ลาว ต่อมาชาวผู้ไทย ได้อพยพข้ามมาอยู่ฝั่งขวาลุ่มแม่น้ำโขงด้าน จ.มุกดาหาร และอพยพเรื่อยมาตาม จ.นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ส่วนชาวผู้ไทย ต.นายูง ต.หนองนกเขียน อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานีได้อพยพมาจาก ลุ่มน้ำชี บ้านท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งมีพระยาสุวรรณภักดี (อัญญาหลวง) เป็นผู้ปกครอง มาถึงลำน้ำปาว และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านนายูง และสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน

การจัดงานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทย หรืองาน “สืบฮอยต๋า ตาฮอยปู่ ฮีตปู่มิเฮ้ออย่า ฮีตย่ามิเฮ้อเส” คือสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี จากปู่ย่า-ตายาย อย่าได้ละเลย จะจัดในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี โดยจะนำวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวผู้ไทยมาแสดง ซึ่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี โดยวัตถุประสงค์ของงานเพื่อเป็นการเผยแพร่ และอนุรักษ์สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะของชนชาวผู้ไทย และให้ชนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต

เริ่มจากตื่นเช้า ทุกคนจะแต่งชุดชนเผ่าผู้ไทยไปวัดโพธิ์ชัย บ้านนางยูง เพื่อกราบไหว้สาอัญญาหลวง หรืออัฐิเจ้าพระยาสุวรรณภักดี ที่เคารพนับถือ เพื่อขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งถือปฏิบัติเป็นประเพณี สืบทอดกันมาตราบชั่วกาลนาน สมกับคำที่ว่า “สืบฮอยตา ว่าฮอยปู่ ฮีตปู่มิเฮออย่า ฮีตย่ามิเฮอเส” สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี จากปู่ย่า-ตา ยาย อย่าได้ละเลย โดยจะได้จำลองพิธี “สู่ขวัญข้าว” เปิดประตู้เล้า หรือยุ้งฉางของตนเอง เพื่อบูชาพระแม่โพสพให้มาเลี้ยงลูกหลาน และข้าวในนามีความอุดมสมบูรณ์

ประเพณี “เหยา” เป็นพิธีกรรมความเชื่อในการนับถือผี (คล้ายกับรำผีฟ้า) เป็นการเสี่ยงทายเมื่อมีการเจ็บป่วย หากผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วไม่หาย ก็จะมาหาหมอเหยา เพื่อแก้ผี เพราะเชื่อว่าผู้ที่เจ็บป่วยเพราะทำผิดผี โดยมีเครื่องเซ่นไหว้ ข้าวสาร ไข่ เหล้า มีดพร้า เงินโบราณที่บรรพบุรุษมอบให้ และดอกไม้แดงขาว เมื่อยกคายแล้ว ก็เริ่มการรักษาด้วยการเป่าแคน และมีคำร้องเป็นภาษาผู้ไทย มีผีปู่ ย่า ตา ยาย ผีนา ผีฟ้า จะมาเข้าสิงร่างหมอเหยา ช่วยรักษาผู้ป่วย เมื่อหายแล้วก็จะมีการฉลอง บางคนหมอเหยารักษาหายแล้ว ก็จะมาขอสืบทอดเป็นหมอเหยาเพื่อไปรักษาคนอื่นต่อไป


ส่วนอาหารการกินก็จะเป็นอาหารชาวอีสานทั่วไป แต่จะเน้นเป็นปลา และสัตว์น้ำอื่น เพราะตั้งรกรากอยู่ใกล้กับแม่น้ำ แต่จะมีอาหารหวานที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยคือ “โล้งมะอูบ” ภาษาไทยคือ “กวนฟักทอง” วิธีทำคือนำฟักทองนึ่ง ข้าวเหนียวนึ่ง กะทิ มะพร้าวขูด และน้ำตาล มากวนใส่กันในหม้อ แล้วนำไปถวายพระ และกินเป็นขนมหวาน

"คำว่า “ผู้ไทย” เป็นภาษาเขียนตามพจนานุกรม ส่วนคำว่า “ภูไท” คือภาษาพูด แต่ทั้งสองคือชนเผ่าเดียวกัน วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ทั้งหมดที่จัดขึ้น ก็เพื่อสืบสานไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักรากเหง้าของชนเผ่าผู้ไทย และรู้สึกภูมิในความเป็นชาวผู้ไทย ซึ่งเมื่อก่อนเด็กและวัยรุ่นสมัยใหม่ อายที่จะพูดภาษาผู้ไทยแต่พอมาทุกวันนี้ เขาจะรู้สึกภูมิใจ ที่มีคนมาฝึกพูดผู้ไทย ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี บางอย่างได้บรรจุในการเรียนการสอน เช่นการทำและการเสงกลองแต้ การทอผ้า ซึ่งหากใครสนใจวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าผู้ไทย สามารถมาดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ชาวผู้ไทย โรงเรียนบ้านนายูง ต.นายูง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี"

นอกจากนี้ยังมีวิถีชีวิตที่ยังสืบทอดต่อกันมาคือการทอผ้าใช้เอง โดยทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย ตามแต่ฐานะ แต่จะเน้นสีดำ โดยการแต่งกายผู้หญิงจะสวมซิ่นสีดำ เสื้อแขนกระบอกสีดำ ผ้าสะไบสีแดงลายไส้ปลาไหล สะพายขมอง หรือ ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ เพื่อใส่สิ่งของแทนกระเป๋า มวยผมด้วยผ้าสีขาวและทัดดอกไม้ ส่วนผู้ชายสวมโสร่งผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย สวมเสื้อสีดำ คาดเอวด้วยผ้าขาวม้าลายไส้ปลาไหล นอกจากนี้ยังมีการ “อยู่คำ” หรือการอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ซึ่งจะมีการนำสมุนไพรมาต้มให้อาบและดื่ม ส่วนอาหารจะมีการคลำ หรือการงดเว้นอาหารที่แสลง จะกินได้แต่ปูและปลาเท่านั้น