ศูนย์เรียนรู้บ้านผึ้ง
หมู่ที่ 8 บ้านหูยาน ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง ประวัติหมู่บ้านหูยาน บ้านหูยานตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาท่อม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง บ้านหูยานเดิมแยกมาจากหมู่ที่ 6 มาประมาณ 20 ปี ซึ่งมีสะพานแขวนเชื่อม 2 ฝั่งคลอง ในสมัยก่อนวัดหูยานมีทวดหูยานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านมาบนบานกราบไหว้ เดิมเป็นวัดร้าง ภายในวัดมีเจ้าอาวาสเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนซึ่งท่านเจ้าอาวาสมีใบหูที่ยาน และมีอายุยืนยาว จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “หูยาน” ต่อมามีการบูรณะให้พระมาจำพรรษาในหมู่บ้าน และได้ให้ชาวบ้านได้มาปฏิบัติธรรม สะพานแขวน เป็นสะพานเก่าแก่ ในอดีตชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางการเดินทางผ่านคลองนาท่อม มีลักษณะเป็นสะพานไม้ที่มีสายสลิงเป็นตัวยึดสะพาน ลักษณะสะพานกว้างประมาณ 1.50 เมตร ยาวประมาณ80 เมตร บริเวณโดยรอบมีต้นไม้เล็กใหญ่นานาชนิด ปัจจุบันกำลังปรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไว้ถ่ายรูปให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้าน หนังโขนคน เป็นประเพณีการแสดงพื้นบ้านของบ้านหูยาน โดยใช้คนแต่งตัวเป็นโขน เป็นตัวละครหนังตะลุงต่าง ๆ เพื่อใช้แสดงในทุกช่วงเทศกาลของชุมชน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการ และอ่อนช้อย เป็นการแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ แต่ไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน โดยมีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอ และเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเอง และถืออาวุธ นอกจากโขนคนในชุมชนบ้านหูยานแล้วยังมีการเล่นหุ่นเงา และรำกลองยาวอีกด้วย หมู่บ้านจักรยาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ครอบครัวจักรยานสานฝันวันอาทิตย์” เป็นโครงการที่ชาวบ้านในชุมชนช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน การปั่นจักรยานจะปั่นในทุกวันอาทิตย์ โดยการปั่นจักรยานนี้ไม่ใช่แค่การปั่นเพื่อสุขภาพอย่างเดียว แต่เป็นการปั่นเพื่อชุมชนอีกด้วย เนื่องจากในการปั่นจักรยานทุกครั้งจะมีการพัฒนาชุมชนบ้านหูยานไปด้วย เช่น การปั่นจักรยานเก็บขยะในชุมชน การปั่นไปเยี่ยมเยือนผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน การปั่นไปปลูกต้นไม้ในชุมชน แม้แต่การปั่นไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เป็นโครงการที่เพิ่มความสามัคคี เพิ่มความเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกันและกันของคนในชุมชน อีกทั้งยังสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน หมู่บ้านผึ้งโพรง เป็นศูนย์การเรียนของชุมชนที่สอนการเลี้ยงผึ้ง การจับผึ้ง การแปรรูปน้ำผึ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่ ขนม เป็นต้น และทางหมู่บ้านหูยานเป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการดำเนินโครงการปลอดสารพิษในหมู่บ้าน โดยมีผึ้งโพรงที่เลี้ยงไว้เป็นเครื่องมือตรวจสอบควบคุมและกำกับไม่ให้มีการใช้สารเคมีในชุมชน การที่ใช้ผึ้งเป็นเครื่องมือชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัยจากสารเคมีต่าง ๆ เนื่องจากผึ้งจะมีการตอบสนองไวต่อสารเคมี และอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ดังนั้นหากมีการใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง จะไม่สามารถเลี้ยงผึ้งได้เลย ขณะเดียวกันก็ต่อยอดจากผลิตผลที่เหลือ เพื่อสร้างช่องทางตลาดสีเขียวรองรับผลผลิตที่ได้ เกิดกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปอาหาร สร้างรายได้ สร้างระบบเศรษฐกิจ และสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน