วัดป่าบ้านตาด

การเดินทางไป วัดป่าบ้านตาด

1. เครื่องบิน

- มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ - อุดรธานี ทุกวัน วันละ 3 เที่ยวบินดังนี้

1. เวลา 06.50 น.

2. เวลา 12.30 น.

3. เวลา 18.15 น.

- มีเที่ยวบินระหว่างอุดรธานี - กรุงเทพฯ ทุกวัน วันละ 3 เที่ยวบินดังนี้

1. เวลา 08.40 น.

2. เวลา 14.25 น.

3. เวลา 20.05 น.

2. รถไฟ

- มีการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ - อุดรธานี ทุกวัน โดยออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ตามเวลาดังนี้

1. เวลา 06.00 น. ขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ - หนองคาย

2. เวลา 08.20 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพฯ - อุดรธานี

3. เวลา 18.30 น. ขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ - หนองคาย

4. เวลา 20.00 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพฯ - หนองคาย

5. เวลา 20.45 น. ขบวนรถด่วน กรุงเทพฯ - หนองคาย


- มีการเดินรถระหว่างอุดรธานี - กรุงเทพฯ ทุกวัน โดยออกจากสถานีรถไฟอุดรธานี ตามเวลาดังนี้

1. เวลา 07.26 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ หนองคาย - กรุงเทพฯ

2. เวลา 09.15 น. ขบวนรถเร็ว หนองคาย - กรุงเทพฯ

3. เวลา 18.35 น. ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ อุดรธานี - กรุงเทพฯ

4. เวลา 19.04 น. ขบวนรถเร็ว หนองคาย - กรุงเทพฯ

5. เวลา 20.02 น. ขบวนรถด่วน หนองคาย - กรุงเทพฯ


หมายเหตุ : กรุณาตรวจสอบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อนการเดินทาง


3. รถทัวร์


- มีรถบัสปรับอากาศออกจากบริษัททัวร์สายตะวันออกเฉียงเหนือหลายบริษัท ที่สถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม 10900


หมายเหตุ : ก่อนเข้าเมืองอุดรธานี ให้ลงบนถนนใหญ่ที่มีป้ายว่า " บ้านคำกลิ้ง " จะมีรถ SKY LAB ( รถมอเตอร์ไซด์ที่มีรถพ่วงสำหรับผู้โดยสารนั่ง ) เข้าไปถึงวัดใช้เวลาเพียง 10 นาที



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


luangta.com

วัดป่าบ้านตาด

วัดป่าบ้านตาด หรือ วัดเกษรศีลคุณ ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดย วัดป่าบ้านตาด ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ ประมาณ 16 กิโลเมตร ซึ่งหากมาตามทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-ขอนแก่น เมื่อรถวิ่งมาได้ประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณสี่แยกบ้านดงเค็ง ให้เลี้ยวไปทางแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึง วัดป่าบ้านตาด


วัดป่าบ้านตาด เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2498 หลังจากที่ชาวบ้านบริจาคที่ดินให้เป็นสถานที่ปฎิบัติธรรม พร้อมกับนิมนต์ให้ หลวงตามหาบัว มาพำนัก เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน หลังจากนั้น หลวงตามหาบัว จึงตกลงรับนิมนต์ชาวบ้านมาพำนักที่นี่เพื่อจะได้อยู่ดูแลโยมแม่ที่แก่ชรา พร้อมกับเริ่มสร้างและพัฒนา วัดป่าบ้านตาด และเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2513 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา และให้ชื่อว่า วัดเกษรศีลคุณ แต่ชาวบ้านจะรู้จักและเรียกกันในนาม "วัดป่าบ้านตาด"


หลวงตามหาบัว ได้พัฒนาและทำให้ วัดป่าบ้านตาด กลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ชาวบ้านให้ความเคารพ เลื่อมใสเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อปี 2540 หรือช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ หลวงตามหาบัว เจ้าอาวาส วัดป่าบ้านตาด ได้จัดทำโครงการทองคำช่วยชาติ ขอบริจาคเงินและทองคำเข้าคลังหลวง เพื่อเยียวยาทุนสำรองของประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการลดค่าเงินบาทในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากนั้นชื่อของ หลวงตามหาบัว และ วัดป่าบ้านตาด เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และก็มีญาติโยมและศิษยานุศิษย์ซื้อที่ดินถวาย หลวงตามหาบัว ให้สร้างเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน วัดป่าบ้านตาด มีเนื้อที่ประมาณเกือบ 300 ไร่


สถานที่ปฏิบัติธรรมที่ วัดป่าบ้านตาด เต็มไปด้วยความร่มรื่นของธรรมชาติ เงียบ สงบ บริเวณรอบ ๆ มีทั้งต้นไม้เขียวชอุ่ม ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีต มีประตูเข้า-ออกเป็นประตูใหญ่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าของวัดออกมาทำร้ายชาวบ้าน เพราะที่ วัดป่าบ้านตาด มีสัตว์ป่านานาชนิด ภายในบริเวณวัดมีศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่สูง 2 ชั้น ซึ่งด้านบนศาลานั้น คือ ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเป็นพระประธานของวัด ทั้งยังใช้เป็นที่แสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด และตู้ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านขวาขององค์พระประธานนั้น ก็คือ ที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัวรวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ ส่วนด้านล่างศาลานั้น ถูกใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า อันเป็นสถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นในแต่ละวัน

นอกจากนี้ภายในอาณาบริเวณ วัดป่าบ้านตาด ยังมีกุฏิถาวรอีกประมาณ 10 กว่าหลัง โดยเป็นกุฏิของหลวงตา ภิกษุสูงอายุ กุฏิของญาติโยม ซึ่งมาขออยู่พัก เพื่อปฏิบัติธรรมภาวนากันในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยสามารถพักได้ประมาณ 50 - 100 คน และได้ทำการจัดแยกเขตของพระภิกษุสามเณร ญาติโยมชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ หลวงตามหาบัว ได้จัดให้มีการสร้างกุฏิของพระภิกษุสามเณรสำหรับอยู่เพียงองค์เดียว โดยเน้นเรื่องความเรียบง่าย สามารถใช้บังแดด ลม ฝน และป้องกันสัตว์อันตรายได้เท่านั้น โดยทุกกุฏิจะมีทางสำหรับเดินจงกรม


แม้วันนี้ หลวงตามหาบัว ได้ละสังขารไปแล้ว แต่คำสอนของท่านยังคงอยู่ในใจลูกศิษย์ทั้งหลายอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของความรักชาติที่ท่านได้เป็นต้นแบบให้หลาย ๆ คนได้ทำตาม ถ้าวันนี้ใครที่ต้องการเดินทางไปกราบคารวะหลวงตามหาบัว ก็อย่าแปลกใจหากไม่พบป้ายชื่อวัด เพราะนั่นคือ ปริศนาธรรม ที่หลวงตามหาบัวได้ฝากไว้ให้เราได้คิด ตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาในวัดนี้....