ตักบาตรดอกไม้ชาวไทยเชื้อสายรามัญ-มอญ 

บทความตักบาตรดอกไม้ชาวไทยเชื้อสายรามัญ-มอญ  ชุมชน ตำบลเจ็ดริ้ว             อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร


            ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) เป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ เป็นการปฏิบัติและแสดงความคารวะนอบน้อม อีกทั้งขอขมาลาโทษ หากมีเหตุอันใดพลาดพลั้งไป ซึ่งเป็นการกระทำล่วงเกินต่อพระพุทธศาสนา และพระภิกษุสงฆ์ ขอให้อานิสงส์แห่งการถวายดอกไม้จึงมีขึ้น เมื่อพระภิกษุได้รับบิณฑบาตแล้ว และได้นำไปบูชาพระพุทธและปูชนียสถานในวัดต่อไป

                   พิธีกรรมของการตักบาตรดอกไม้ จะจัดในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา หลังจากมีการทำบุญใส่บาตรในตอนเช้าแล้ว ชาวบ้านจะรีบจัดอาหารไปถวายพระที่ในท้องที่นั้นๆ และในเวลา 13.00 น. พระสงฆ์จะเดินลงจากศาลาการเปรียญสู่พระอุโบสถ โดยชาวบ้านจะนั่งเรียงรายสองข้างทาง จากศาลาการเปรียญถึงหน้าประตูพระอุโบสถ ทุกคนจะมีดอกไม้ ธูป เทียน วางอยู่ในพานหรือถาดจำนวนมาก และยังมีผ้า ขันใส่น้ำ เมื่อพระท่านเดินผ่านมาต่างก็ถวายดอกไม้ ธูป เทียน และผ้าที่เตรียมไว้ปูรองให้พระเดินและล้างเท้าพระสงฆ์ทั้งหมดด้วยอาการที่เคารพนอบน้อม ขบวนพระสงฆ์จากศาลาการเปรียญถึงพระอุโบสถ จึงเป็นภาพที่งดงาม และน่าศรัทธาเลื่อมใสมาก พระสงฆ์ทั้งหมดจะไปร่วมทำพิธีปวารณาที่พระอุโบสถ ชาวบ้านจะมารวมกันที่หน้าพระอุโบสถ พร้อมกับทำพิธีขอสมาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การถวายของแด่พระสงฆ์นี้คนมอญต่างท้องที่อาจมีผิดแผกไปบ้าง แต่เดิมจะถวายธูป และเรียกเป็นภาษามอญว่า "ชวนธูป” แต่ในปัจจุบันถวายทั้งธูป เทียน และดอกไม้ แต่บางแห่งก็ถวายดอกไม้อย่างเดียว เมื่อมีงานประเพณีดังกล่าว ชาวบ้านจะแต่งกายตามธรรมเนียมรามัญ (มอญ) ซึ่งมีความเป็นระเบียบสวยงามมีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากวัฒนธรรม ประเพณีที่กล่าวแล้ว ยังมีวัฒนธรรมการละเล่นของชาวรามัญอีกมากมาย โดยงานจะจัดขึ้น ณ วัดบางกระเจ้า หมู่ที่ 6 และ วัดวิสุทธาราม หมู่ที่ 4

 

ผู้ให้ข้อมูล / เครดิตภาพ   สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร

ที่มา / ภาพถ่าย     สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร

ผู้เรียบเรียง               นางสาววีรญาพร ทองสุข