หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10

ข้อมูลทั่วไป :

หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 10 เป็นหมู่บ้านหมู่ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่มีบรรยากาศเย็นตลอดปี มีต้นไม้ใหญ่ที่สุดในภาคใต้, น้ำตกในบริเวณ ,ที่พักตากอากาศ ,หมอฝังเข็มรักษาโรค ,สมุนไพร,อาหารจีนและติดป่าบาลา-ฮาลา เหมาะแก่การท่องเที่ยวและเข้าค่ายอย่างยิ่ง

ความเป็นมา

จากการที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ได้ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธและสลายกองทัพมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามข้อตกลงนามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่าย (รัฐบาลไทย /รัฐบาลประเทศมาเลเซีย /พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 ณ โรงแรมลีการ์เดนส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กองทัพภาคที่ 4 โดยพลทหารราบที่ 5 ได้จัดทำโครงการรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยขึ้นเพื่อรองรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยมีระยะเวลาโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2533 – 2538 โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นมา เรียกว่า “หมู่บ้านรัตนกิตติ 2”

ต่อมาศาสตราจารย์ดอกเตอร์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัคราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระราชประสงค์จะทำการพัฒนา โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงภายในพื้นที่แนวชายแดนจึงได้โปรดเกล้า โปรดกระหม่อมทรงรับหมู่บ้าน “รัตนกิตติ 2” เข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และทรงพระราชทานชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น “หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2536 ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 8 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2547 “หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10” ได้แยกออกจาก หมู่ที่ 8 ตำบลอัยเยอร์เวง โดยได้จัดตั้งเป็น “หมู่ที่ 10 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา” ในปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้แก่อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ อนุสรณ์วีรชน แปลงสมุนไพร ค่ายจำลอง ต้นไม้ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคไต้ น้ำตกหมู่บ้านจุฬาภรณ์ เทศกาลผลไม้ เดินป่าดงดิบที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยรวมถึงการจัดเข้าค่ายของนักเรียนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการอยู่ใกล้ธรรมชาติ การท่องเที่ยวควบคู่กับการเรียนรู้ภาษาจีน โดยการเรียนรู้ผ่านในหมุ่บ้าน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ทั้งความรู้ทางภาษาและสนุกสนาน เรียกได้ว่า—ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว มีห้องอาหารที่ให้บริการครบครัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีรีสอร์ทที่สะอาดสะดวกที่พักมาตรฐาน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเป็นคณะกว่าร้อยคน

เส้นทางการเดินเข้าสู่ชุมชนและการคมนาคม

การขนส่งพืชผลทางการเกษตรและการเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน โดยเดินทางจากอำเภอเบตง – หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ด้วยรถยนต์ ใช้เวลาในการเดินทางโดยประมาณ 30 นาที ระยะทางโดยประมาณ 30 กิโลเมตร

เรื่องโดย :นางสาวนิซูไนด๊ะ มะกูวิง