วัฒนธรรม ประเพณี
ธุงใยแมงมุม ประเภทศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
ธุงใยแมงมุม
ธุงใยแมงมุม ความเป็นมา ธุง (ทุง)ภาษาอีสาน ตุง ภาษาล้านนา คำว่าตุงอีสานอาจสะท้อนถึงอิทธิพลวัฒนธรรมการเรียกตามภาษาถิ่นล้านนา จะอย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันมีการใช้ธุง และธุงใยแมงมุม หรือแม้แต่ตุงล้านนา ในการแขวนตามงานบุญประเพณีต่างๆมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูการสร้างสรรค์งานธุงอีสานอันมีอยู่แล้วตามแต่ละท้องถิ่นรวมไปถึงการใช้ธุงอีสานให้เหมาะสมตามจารีตประเพณี และปัจจุบันได้มีการนำมาประยุกต์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบต่างๆเช่น ของที่ระลึกของฝาก ของชำร่วย ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับตนเองครอบครัว และการสร้างอาชีพให้กับชุมชน และสามารถสืบสานความรู้ ภูมิปัญญาแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
ในปัจจุบันได้มีการผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีของธุงแต่ละท้องที่ ทำให้เราสามารถเห็น ธุง บางชนิดที่มีลักษณะที่สวยงามและลวดลายการประดิดประดอยให้สวยงามยิ่งขึ้น ตามแต่ละท้องถิ่นและ วัตถุประสงค์ในการสร้าง วัตถุประสงค์ของการตานธุงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จะไม่ตกนรก ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้ากลับมาเกิดในโลกมนุษย์ก็จะเป็นใหญ่เป็นโต ถ้าสร้างอุทิศให้ ผู้ตาย ผู้ตายก็จะพ้นจากการไปเป็นเปรตหลุดพ้นจากบาปกรรมที่ทำไว้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ ชาวล้านนานิยมสร้างธุงกันทุกชั้นวรรณะ ซึ่งรูปแบบของธุงจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคม ของเจ้าของพิธี พื้นฐานความเชื่อของคนในสังคม วัสดุและความสามารถของชาวท้องถิ่น ในการที่จะนำ เอาวัสดุ ที่มีมาประดับธุง โดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นนั้นนิยมสร้างธุงกันตามความเชื่อและ พิธีกรรมที่สืบทอดกันมาแต่ละท้องถิ่น วัตถุประสงค์เหมือนกันแต่วิธีการสร้างและรายละเอียด ในการสร้างนั้น ต่างกันตามวิถีการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น จึงจะเห็นได้ว่าแต่ละท้องถิ่นมีลวดลาย ของธุงที่มีความงดงามแตกต่างกันและความเชื่อของคนล้านนา ส่วนใหญ่มักจะสอดคล้องกับหลักคำสอน ของพระพุทธศาสนา
ธุงใยแมงมุม มีลักษณะสำคัญ คือ ทำด้วยเส้นด้ายหรือเส้นไหมผูกคล้ายใยแมงมุม ทั้งแบบสี่ด้านหรือหกด้าน ทำมาจากเส้นไหมหรือเส้นด้ายหลากหลายสีสันมัดกับไม้ไผ่เหลาแล้ว มัดและม้วนจนเป็นวงรอบคล้ายใยแมงมุมที่โยงไปโยงมา เมื่อเสร็จก็นำมาร้อยเข้าเป็นสายเดียวกันหรือตามรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบให้สวยงาม
ธุงใยแมงมุม ยังสะท้อนความเชื่อหลายอย่างด้วยกัน อาทิ แทนการเชื่อมโยงวิญญาณหลังความตาย รวมถึงเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุม ถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยเมตไตรยหรือสู่นิพพาน เป็นต้น
กรณีเนื้อหาเขียนด้วยตนเอง ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาววรัญญา มุลทากุล
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดยนางสาววรัญญา มุลทากุล
กรณีเนื้อหาเป็นการสัมภาษณ์ ข้อมูลเนื้อหา โดย นางสาววรัญญา มุลทากุล
เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาววรัญญา มุลทากุล
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาววรัญญา มุลทากุล