กล้วยหอมทอง

ที่สวนกล้วยหอมทองบ้านกุดหมากไฟ หมู่ 1 ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ของนายเอกพล พนมภูมิ อายุ 51 ปี ที่ผันชีวิตตัวเองจากลูกจ้างร้านอาหารในต่างประเทศมาเป็นเกษตรกรชาวสวน กว่า 5 ปี ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จนลูกค้าต้องวางเงินมัดจำผลผลิตในขณะที่มะม่วงกำลังออกดอก แต่เมื่อเดือนเมษายน 2559 พายุลูกเห็บถล่มทั้งอำเภอ มะม่วงได้รับความเสียหายหนัก ไม่มีผลผลิตส่งลูกค้า ในช่วงบำรุงรักษาต้นมะม่วง ก็ไม่มีรายได้อื่น จนสำนักงานเกษตรอำเภอหนองวัวซอ เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นแซมพืชหลัก ตนเลือกที่จะปลูกกล้วยหอมทอง เพียงปีเดียวก็ประสบความสำเร็จ สามารถจำหน่ายได้วันละ 5,000-7,000 บาท

นายเอกพล พนมภูมิ กล่าวว่า ตนปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้บนเนื้อที่ 5 ไร่เศษ ตามชาวบ้านในพื้นที่ ต่อมาได้นำกล้วยหอมทองมาปลูกบนที่ดิน 1 ไร่ 3 งาน แซมกับต้นมะม่วง ระยะห่าง 4*4 เมตร ขุดหลุมลึก 50*50 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 800 ต้นๆ ละ 25 บาท ลงทุนประมาณ 20,000 บาท ใช้เวลาปลูกอยู่ประมาณ 9 เดือน กล้วยหอมทองก็ให้ผลผลิต ในช่วงเดือน พ.ย. – ม.ค. กล้วย 1 เครือจะมีประมาณ 6-7 หวี หลังจากกล้วยแก่เต็มที่จะนำถุงมาคลุมกล้วยเอาไว้ เพื่อป้องกันแมลงและทำให้กล้วยมีลูกสวยงาม แล้วตัดเครือเพื่อนำมาแบ่งเป็นหวี นำไปล้างทำความสะอาด บ่มประมาณ 2-3 วัน หลังกล้วยสุกก็นำไปขายที่ตลาด ราคาหวีละ 80-100 บาท ตามขนาด มีรายได้ประมาณ 5,000-7,000 บาทต่อวัน ถ้าเป็นช่วงเทศกาลโดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีน จะขายได้ ประมาณ 10,000-15,000 บาท ถือเป็นรายได้ที่มากกว่าการปลูกมะม่วงเพียงอย่างเดียว สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการจำหน่ายหน่อกล้วยหอมทองอีก รวมรายได้จากมะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยหอมทอง และหน่อกล้วย ตลอดปีรวมกว่า 400,000 บาท ทั้งนี้ ตนยังเตรียมขยายพื้นที่เพื่อปลูกกล้วยเพิ่มเติม รองรับตลาดทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด และตลาดต่างประเทศ

ด้านนายวิชัย โคตรโมลี เกษตรอำเภอหนองวัวซอ กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้จำหน่ายเป็นหลัก เนื่องจากมีราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ปัจจัยความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่นในปีที่ผ่านมาจากพายุลูกเห็บ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองวัวซอ จึงเข้ามาแนะนำและส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชเสริม แซมพืชหลัก เกษตรกรหลายรายปรับเปลี่ยนปลูกพืชตามความถนัด โดยนายเอกพล พนมภูมิ สนใจปลูกกล้วยหอมทอง ไปดูงานตามสวนกล้วยหอมทองที่ประสบผลสำเร็จ เช่นที่ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี แล้วนำมาปลูก ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี พร้อมขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจ ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ ได้ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รองรับตลาดกล้วยหอมทอง ที่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า