ภูมิปัญญา

พาเด็กเที่ยวป่า...กับภูมิปัญญาท้องถิ่น

****************

พาเด็กเที่ยวป่า...กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกิจกรรมเฉพาะกิจที่ ครู กศน.ในศูนย์การเรียนชุมชน ...ตกปากรับคำเด็กๆ ในโครงการเด็กประถมกลับบ้าน ไปล่องไพรพร้อมๆ กับเรียนรู้วิถีชีวิตของคนและป่าผ่านภูมิปัญญาชาวบ้าน

...พวกเราเลือกวันหยุดที่อากาศเป็นใจ ท้องฟ้าโปร่งไร้เมฆฝน...ในการเที่ยวป่า โดมีพ่อเฒ่าลีบ่า เบียคอ เป็นไกด์นำทาง ตลอดระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงยอดดอย ต้องผ่านลำห้วย และแมกไม้นานาพันธุ์ ชวนให้เด็กๆ ตื่นเต้นที่จะเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแวะจับปลากันอย่างสนุกสนาน ซึ่งได้ปลามาจำนวนไม่น้อย แต่สำหรับครูอย่างผม ก็ต้องบอกว่าทุลักทุเลเหลือเกิน ไม่เพียงเท่านั้นเด็กๆ ยังช่วยกันเก็บหน่อไม้ตามกอไผ่อย่างชำนาญ บางจุดก็มีเห็ดป่าขึ้นถ้าเด็กๆ ไม่แน่ใจก็สอบถามกับผู้เฒ่า และผู้ใหญ่ที่ร่วมทางมาด้วยเป็นภาษาอาข่า ส่วนครูดอยก็คอยเสริมความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของเห็ดว่า ถ้าเราไม่รู้จักก็อย่านำมาปรุงอาหาร เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจถึงตายได้

ใกล้เที่ยงวัน พวกเราก็เดินทางถึงจุดหมาย...ลานกว้างกลางป่าเขาที่เต็มไปด้วยแมกไม้ อากาศเย็นสบาย พักเหนื่อยกันไม่เท่าไร ก็ช่วยกันทำอาหารแบบง่าย ๆ "คนในพื้นที่" พ่อครัวจำเป็นที่สอนให้เด็กๆ หุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งเด็กๆ ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะบางคนก็ไม่รู้มาก่อนว่าสามารถทำอย่างนี้ได้

"คนพื้นที่" ให้เด็กๆ ช่วยกันตักน้ำที่ใสสะอาดในลำห้วย มาเพื่อกรอกข้าวสารลงกระบอกไม้ไผ่ โดยมีลำปล้องที่โตซึ่งตัดเตรียมไว้แล้วปิดปากกระบอกด้วยใบตอง จากนั้นจึงก่อไฟ นำปล้องไม้ไผ่ไปพิงกับเตาไฟที่ทำขึ้นมาอย่างง่ายๆ

ขณะที่เด็กอีกกลุ่มก็เริ่มเหลาไม้ไผ่ เพื่อเสียบปลาที่หามาได้ มาย่างบนถ่าน ส่วนครูก็ใช้ไม้เสียบพริกและหมกกระเทียมเพื่อทำน้ำพริกอย่างง่าย ๆ โดยการใช้ครกที่ผมก็ไม่เคยใช้มาก่อน นั่นคือครกจากกระบอกไม้ไผ่โดยฝีมือ ของไกด์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสอนให้ประยุกต์วัสดุธรรมชาติมา เป็นภาชนะใส่อาหารอย่างง่าย ๆ เช่น ชาม และตะเกียบ

...ความประทับใจหนึ่งที่เกิดในกิจกรรมนี้ คือการสื่อสารแม้ว่าไกด์ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะพูดภาษาไทยไม่ถนัดนัก แต่เด็กๆ ก็ช่วยสื่อสารกันจนเข้าใจ ทำให้บรรยากาศสนุกสนานเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

เมื่ออาหารทุกอย่างพร้อมแล้วกลิ่นหอมของข้าว ที่หุงจากกระบอกไม้ไผ่ ถูกตักวางอยู่บนใบตอง ปลาปิ้ง เนื้อแห้งย่างที่นำมาจากบ้าน และน้ำพริกที่ช่วยกันทำ แต่ครูและเด็กๆ ยังไม่ได้ลงมือรับประทานแต่อย่างใดเพราะต้องรอผู้อาวุโสที่สุดในหมู่บ้านเปิดวงก่อน

"อาอี" สอนเด็กๆ ว่าวัฒนธรรมการกินของชาวอาข่าในอดีตที่ผ่านมาจะต้องให้ผู้สูงอายุ ผู้เฒ่าผู้แก่กินก่อนเด็กจึงจะกินตาม เด็กๆ สนใจและสอบถามเป็นการใหญ่ อีกสิ่งที่สังเกตเห็นพ่อเฒ่านั่งลงและใช้มือควานไปรอบๆ ตัว และเด็ดผักที่อยู่ในบริเวณมาจิ้มกินกับน้ำพริก ชาวอาข่าเชื่อว่าเวลาเข้าป่าถ้าจะกินผักให้นั่งลงและใช้มือควานหาผักและเก็บมากินได้อย่างปลอดภัย ซึ่งก็เป็นความรู้ใหม่อีกเช่นกัน

กิจกรรมพาเด็กเที่ยวป่า...สร้างความประทับใจหลายแง่มุม เด็กๆ ทุกคนก็บอกว่าอยากมาอีก เพราะได้รับความรู้ต่างๆ จากพ่อเฒ่าและผู้ใหญ่ที่ร่วมเดินทางมาด้วย ได้เรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้จากครู เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ใหญ่ก็ได้ฟังเด็กๆ พูดภาษาไทยและได้คำศัพท์ภาษาไทยไปหลายคำ

...การเรียนรู้ในวันนี้ จึงเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันไม่จำเป็นต้องนั่งในห้องสี่เหลี่ยม เด็กๆ ก็สามารถเรียนรู้ทักษะชีวิตโดยครูผู้ชำนาญการ ที่เรียกขานกันว่า "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ส่วนครูก็เป็นผู้อำนวยความสะดวกและเป็นสื่อกลางให้เด็กและผู้ใหญ่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เติบโตมาเป็นคนดีและนำความรู้ต่างๆ ไปร่วมกันพัฒนาชุมชนและสืบทอดความรู้และวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป