กระดาษสาบ้านท่าล้อ

ประวัติและความเป็นมา

เมื่อสมัยโบราณหมู่บ้านท่าล้อมีการค้าขายติดต่อจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลำพูน เชียงใหม่ จะต้องใช้ล้อวัวล้อควาย (ภาษาถิ่น แปลว่า เกวียนซึ่งมีวัวหรือควายเทียมเกวียน) ในการขนส่งสินค้าต่าง ๆ สมัยนั้นชาวบ้านก็จะนำล้อวัวล้อควายมาพักจอดตามริมฝั่งแม่น้ำแม่ตุ๋ยเป็นประจำเปรียบเสมือนท่ารถในปัจจุบัน ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกประชุมเพื่อตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านท่าล้อ หรือภาษาถิ่นออกเสียงว่า ต้าล้อ จนถึงปัจจุบัน ในอดีตหมู่บ้านท่าล้อจะมีประชากรอยู่ประมาณ 30-40 ครัวเรือน มีแม่น้ำแม่ตุ๋ยไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ปัจจุบันบ้านท่าล้ออยู่ในตำบลบ่อแฮ้วและมีประชากรประมาณ 420 ครัวเรือน

หมู่บ้านท่าล้อเป็นหมู่บ้านที่มีการทำกระดาษสามาเป็นเวลาช้านาน จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของ บรรพบุรุษที่ได้สืบทอดสู่ลูกหลานซึ่งการทำกระดาษสาของหมู่บ้านท่าล้อนี้ยังคงความเป็นเอกลักษณ์และความเป็นธรรมชาติตามแบบฉบับของภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมหลายชั่วอายุคน กระดาษสาที่ชาวบ้านผลิตขึ้นแต่โบราณนั้นเป็นกระดาษสาที่ไม่ผ่านการฟอกสีหรือเป็นกระดาษสาสีขาวธรรมชาติไม่มีการแต่งสีและมีลวดลายตามเส้นใยธรรมชาติจากปอสา ในอดีตเมื่อชาวบ้านทำกระดาษสาแล้วก็จะนำไปขายที่ตลาดในตัวเมือง ผู้ซื้อจะนำกระดาษสาไปทำสายชนวนพลุตะไล ดอกไม้ไฟ กระดาษที่พ่อค้าหมูนำไปเช็ดมีดและเขียงหรือเอาไปทำเป็นหนังสือธรรมะที่เรียกว่า ปั๊บสา (ภาษาถิ่น แปลว่า พับกระดาษสา) แต่ถ้าหากขาย ไม่หมดก็จะนำไปฝากไว้ที่ร้านค้าเครื่องสังฆภัณฑ์เพื่อฝากขายทำให้คนทั่วไปจะเข้าใจว่ากระดาษสาสามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้าสังฆภัณฑ์

ในปี 2525 หมู่บ้านท่าล้อได้มีการจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมกระดาษสา เริ่มแรกมีสมาชิก 10 คนประธานกลุ่มในสมัยนั้นคือ ป้าพัดหรือนางสมพัด แก้วบุญ สาเหตุที่ชาวบ้านได้ก่อตั้งกลุ่มหัตถกรรมกระดาษสาเนื่องมาจากมีความต้องการของกระดาษสาเพิ่มมากขึ้นจากที่ผลิตใช้เองในครัวเรือนก็เริ่มนำไปขายที่ตลาดมากขึ้นจนสามารถยึดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงตกลงกันรวมกลุ่มเพื่อช่วยกันผลิตกระดาษสาโดยการทำกันเป็นกลุ่มและนัดพบกันที่บ้านของป้าพัดเพื่อช่วยกันทำกระดาษสา ในสมัยนั้นกระดาษสาที่ชาวบ้านผลิตนั้นยังคงเป็นแบบโบราณหรือกระดาษสาแผ่นใหญ่สีขาวไม่ฟอกสีไม่แต่งเติมสีเน้นลวดลายธรรมชาติของเยื่อปอสา กระบวนการทำก็ยังคงใช้อุปกรณ์แบบโบราณ ชาวบ้านจะใช้ค้อนทุบปอสาให้ละเอียดด้วยค้อนแล้วเอาไปแตะเป็นแผ่นบาง ๆ บนแท่นปูนแล้วรอจนแห้งก็จะได้กระดาษสา ส่วนมากแล้วจะได้กระดาษสาประมาณ 100-200 แผ่นต่อวัน เมื่อทำแล้วชาวบ้านในกลุ่มก็จะช่วยกันหาบไปขายที่ตลาด เงินที่ได้ก็จะนำมาแบ่งกัน กลุ่มหัถกรรมกระดาษสาดำเนินมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันโดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 16 คน ประธานกลุ่มคือ ลุงจู หรือ นายจู ณ ลำปาง โดยที่คุณลุงจูยังได้คิดค้นกระดาษสาในรูปแบบต่างๆด้วยการทดลองผลิตกระดาษสาผสมเส้นใยอื่นๆเช่น กระดาษสาผสมใยกล้วย กระดาษสาผสมฟางข้าวและกระดาษสาผสมหญ้าคา เป็นต้น และทำการสอนให้กับสมาชิกในกลุ่มเพื่อเป็นการเผยแพร่และประยุกต์กระดาษสาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น การคิดค้นของลุงจูทำให้ความต้องการกระดาษสาจากหลายจังหวัดในประเทศเพิ่มมากขึ้น การผลิตกระดาษสาจากเดิมที่ผลิตเพียงกระดาษสาแผ่นใหญ่สีขาวไม่ฟอกสีก็หันมาผลิตกระดาษสาผสมใยกล้วย หญ้าคา และฟางข้าวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มหัตถกรรมจะผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ กระดาษสาที่ได้รับความนิยมและสั่งซื้อมากคือกระดาษสาจากเยื่อสา100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีเยื่ออื่นเจือปน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของทางหมู่บ้านที่สามารถสร้างความแตกต่างจากหมู่บ้านอื่นๆได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อกล่าวถึงกระดาษสา 100 เปอร์เซ็นต์ต้องนึกถึงหมู่บ้านท่าล้อ

ตั้งแต่นั้นมากระดาษสาของหมู่บ้านท่าล้อนี้ก็ได้ถือว่าเป็นกระดาษทำมือหรือ Hand-made paper จึงทำให้มีความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านได้ทำขึ้นนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย อาทิเช่น กระดาษทำร่ม ดอกไม้ประดิษฐ์ โคมไฟ พัด ว่าว บัตรอวยพรต่างๆ กระดาษวาดภาพ กระดาษห่อของขวัญและกระดาษที่ใช้ในโรงพยาบาล เป็นต้น

กลุ่มหัตถกรรมกระดาษสาบ้านท่าล้อได้รับการแนะนำเทคนิคการผลิตจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ โดยจากเดิมที่มีการผลิตด้วยมือก็หันมาใช้เครื่องจักรที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ทำให้ผลิตกระดาษสาได้รวดเร็วขึ้นและปริมาณมากขึ้นนอกจากนี้ทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมยังส่งครูช่างมาสอนเทคนิคการผลิตจากเดิมที่เน้นสีจากธรรมชาติก็แต่งเติมสีสันให้มีความสวยงามจากสีย้อมผ้าฟอกสีด้วยไฮโดรเจนหรือคลอรีนและสีจากดอกไม้ธรรมชาติทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ในปี2527-2530 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของกระดาษสา เพราะว่าเมื่อสามารถผลิตได้มากขึ้นคำสั่งซื้อก็มากขึ้นไปด้วยมีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผลิตภัณฑ์ดอกไม้จากกระดาษสาของไทยเป็นที่ต้องการของประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงดังกล่าวนี้ทางหมู่บ้านก็ได้มีการตั้งร้านค้าสาธิตผลิตภัณฑ์ที่บ้านของลุงจู เพื่อเป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์กระดาษสาของทางหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันต้นปอสาที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษสานั้นเหลือเพียงไม่กี่ต้นที่ริมแม่น้ำแม่ตุ๋ย โดยที่กลุ่มหัตถกรรมนั้นได้สั่งซื้อปอสามาจากที่อื่นๆ เช่น สุโขทัย แพร่ น่าน ลาว และพม่า ในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 เกิดน้ำท่วมแหล่งผลิตกระดาษสาของกลุ่มหัตถกรรมทำให้เครื่องจักรเสียหายกระดาษสาที่ผลิตไว้ก็ลอยไปกับกระแสน้ำถือได้ว่าเหตุการในครั้งนั้นทำให้ชาวบ้านมีความเสียใจเป็น อย่างมากเพราะกระดาษสาทุกแผ่นที่ผลิตไว้หายไปเพียงชั่วข้ามคืน หลังจากนั้นลุงจูและชาวบ้านท่าล้อก็รวบรวมกำลังใจหันมาผลิตกระดาษสาด้วยมืออีกครั้ง