ชื่อวิชา ที่ 1

ระดับ ประถมศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564

ใบความรู้ที่ 1 หน่วยที่ 1

ใบความรู้

เรื่อง วัฎจักรชีวิตของมนุษย์

ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์ประกอบไปด้วยการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตที่ทุกคนหลีกไม่พ้น ดังนั้นควรเรียนรู้และปฏิบัติตนด้วยความไม่ประมาท

1. การเกิด

ทุกคนเกิดมาจากพ่อซึ่งเป็นเพศชาย และแม่ซึ่งเป็นเพศหญิงโดยธรรมชาติได้กำหนดให้เพศหญิงเป็นคนอุ้มท้องตามปกติประมาณ 9 เดือน จะคลอดจากครรภ์มารดา เจริญเติบโตเป็นทารก แล้วพัฒนาการเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยชรา ตามลำดับ ร่างกายของคนเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามวัย

2. การแก่

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เช่น เมื่ออยู่ในช่วงชราร่ายกายจะเสื่อมสภาพลง ผิวหนังเหี่ยวย่น การเคลื่อนไหวช้าลง คนส่วนใหญ่เรียกว่า “คนแก่”

3. การเจ็บ

การเจ็บป่วยของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ คนส่วนใหญ่มักเคยเจ็บป่วย บางคนเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือมาก จนต้องรับการรักษาจากแพทย์ ถ้าไม่ดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ร่างกายย่อมอ่อนแอและมีโอกาสจะรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าบุคลที่รักษาสุขภาพสม่ำเสมอ

4. การตาย

ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น เกิดแล้วต้องตายด้วยกันทุกคน แต่การตายนั้น ต้องถึงวัยที่ร่างกายเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ เมื่ออยู่ในวัยหนุ่มสาวจึงควรดูแลรักษาสุขภาพและดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาณ

การเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัย

การเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ จะเริ่มตั้งแต่เกิด ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ช่วงวัย โดยแต่ละวัยจะมีลักษณะและพัฒนาการเฉพาะของวัย

การเจริญเติบโต (Growth) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในขนาดรูปร่าง สัดส่วนตลอดจนกระดูก กล้ามเนื้อ และอวัยวะทุกส่วนของร่างกายตามลำดับขั้น

พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ทุกส่วนที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจผสมผสานกันไปเป็นขั้นๆ จากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่ง ทำให้เกิดการเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ช่วงวัย ดังนี้

1. วัยทารก (Infancy) ตั้งแต่เกิด – 2 ปี

เด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่รวดเร็วมากในขวบปีแรกเป็น 2 เท่าจากแรกเกิด ปีถัดมาพัฒนาการจะเพิ่มขึ้นเพียง 30 % จากนั้นจะเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ ตามแผนของการพัฒนา วัยทารกจะสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ในระดับเบื้องต้น เช่น รู้จักสำรวจ ค้นหา ทำความเข้าใจ และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว รู้จักใช้อวัยวะสัมผัสสิ่งต่างๆ วัยนี้ต้องอาศัยการเลี้ยงดูเอาใจใส่มากที่สุด

2. วัยเด็ก (Childhood) ตั้งแต่ 3-12 ปี

การเจริญเติบโตในวัยนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกระดูกกล้ามเนื้อ และการประสานกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ความแตกต่างระหว่างบุคคลและเพศตรงกันข้าม จะปรากฏชัดเจน โดยวัยเด็กแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

2.1 วัยเด็กตอนต้น (3-5 ปี) รู้จักใช้ภาษา หัดพูด กินข้าว ล้างมือ รู้จักสังเกต อยากรู้ อยากทดลอง และเล่น

2.2 วัยเด็กตอนกลาง (6-9 ปี) เริ่มไปโรงเรียนต้องปรับตัวเข้ากับคนแปลกหน้า และทำความเข้าใจกับระเบียบของโรงเรียน รู้จักเลือกตัดสินใจ รับผิดชอบการทำงานของตนเองได้

2.3 วัยเด็กตอนปลาย (10-12 ปี) เพศชาย-หญิง จะแสดงความแตกต่างชัดเจนในด้านพฤติกรรมและความสนใจ เด็กหญิงจะโตกว่าเด็กชาย มีทักษะการใช้ภาษาที่ดีขึ้น ทำตามคำสั่งได้ เรียนรู้บทบาทที่เหมาะสมกับเพศของตน และจะเล่นเฉพาะกลุ่มที่เพศเดียวกัน

3. วัยรุ่น (Adolescence) อายุระหว่าง 13-20 ปี

วัยนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจและต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับตัวให้เข้ากับสังคม บางครั้งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางเพศ เริ่มให้ความสนใจกับเพศตรงกันข้าม เริ่มมองอนาคต คิดถึงการมีอาชีพของตน คิดถึงครอบครัว อยากรู้ อยากเห็น อยากแสดงความสามารถ บางครั้งแสดงออกในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ การให้แนะนำที่เหมาะสม

4. วัยผู้ใหญ่ (Adulthood) อายุระหว่าง 21-60 ปี

วัยนี้ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว มีรูปร่างสมส่วน ร่างกายแข็งแรง แต่เนื่องจากความเจริญเติบโตและพัฒนาการทางกาย และใจของแต่ละคนต่างกัน เช่นคนที่เป็นลูกคนโต ต้องดูแลน้องๆ ก็อาจจะเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าน้องคนเล็ก หรือคนที่กำพร้าพ่อแม่ ก็ย่อมเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าคนที่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ชิด สรุปได้กว่าวัยนี้ เป็นวัยที่มีความเจริญด้านต่างๆ ทั้งด้านความสนใจ ทัศนคติ และค่านิยม โดยเฉพาะเรื่องอาชีพ การเลือกคู่ครอง และการมีชีวิตครอบครัว เป็นวัยที่มีพละกำลัง มีความสามารถในการทำงานมากที่สุด เพราะเป็นวัยที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ เพื่อครอบครัวและประเทศชาติ

5. วัยชรา (Old Age) อายุ 60 ปีขึ้นไป

วัยนี้เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมทั้งสมองในทางเลื่อมลง จึงประสบปัญหาสุขภาพมากกว่าวัยอื่น มีอาการหลงลืม มักจะจำเรื่องราวในอดีต เหมาะที่จะเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น เพราะเป็นผู้ที่ประสบการณ์มาก่อน วัยนี้มักมีอารมณ์ค่อนข้างเครียด โกรธ และน้อยใจง่าย

ใบความรู้

เรื่อง โครงสร้างหน้าที่และการทำงานของอวัยวะภายนอก ภายใน ที่สำคัญของร่างกาย

อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกาย

อวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน

อวัยวะภายนอก เป็นอวัยวะที่มองเห็นได้ เช่น ตา หู จมูก ปากและผิวหนัง อวัยวะเหล่านี้มีหน้าที่การทำงานต่างกัน

อวัยวะภายใน เป็นอวัยวะที่อยู่ในร่างกายที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย โดยอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายในมีการทำงานที่สัมพันธ์กัน หากส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง หรือได้รับอันตรายก็อาจมีผลกระทบต่อส่วนอื่นได้

1. อวัยวะภายนอก มีดังนี้

1.1 ตา เป็นอวัยวะที่ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เพราะถ้าไม่มีดวงตา สมองจะไม่สามารถรับรู้และจดจำสิ่งที่อยู่รอบตัว นอกจากนั้นตายังแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ เช่น ดีใจ เสียใจ ตกใจ

ส่วนประกอบของตา ที่สำคัญมีดังนี้

(1) คิ้ว เป็นส่วนประกอบที่อยู่เหนือหนังตาบน ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดกับดวงตา โดยป้องกันสิ่งสกปรก เหงื่อ น้ำ และสิ่งแปลกปลอมที่อาจไหลหรือตกมาจากหน้าผาก หรือศีรษะ เข้าสู่ดวงตาได้

(2) หนังตา และเปลือกตา ทำหน้าที่เปิดปิดตา เพื่อรับแสง และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตา และจะตา โดยอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งอันตรายเข้ามาใกล้ตา

(3) ขนตา เป็นส่วนประกอบที่อยู่หนังตาบน หนังตาล่าง ทำหน้าที่ป้องกันอันตราย เช่นฝุ่นละออง ไม่ให้ทำอันตรายแก่ตา

(4) ต่อมน้ำตา เป็นส่วนประกอบของตาที่อยู่ในเบ้าตา ทางด้านหางคิ้วบริเวณหนังตาบน ทำหน้าที่ซับน้ำตา มาช่วยให้ตาชุ่มชื้น และขับสิ่งสกปรกออกมากับน้ำตา

1.2 หู เป็นอวัยวะรับสัมผัสที่ทำให้ได้ยินเสียงต่างๆ เช่น เสียงเพลง เสียงพูดคุย การได้ยินเสียง ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน ถ้าหูผิดปกติไม่ได้ยินเสียงใดเลย สมองไม่สามารถแปลความได้ว่าเสียงต่างๆ เป็นอย่างไร

ส่วนประกอบของหู

ส่วนประกอบของหูแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน

(1) หูชั้นนอกประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

· ใบหู ทำหน้าที่รับเสียงสะท้อนเข้าสู่รูหู

· รูหู ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของเสียง ให้เข้าไปสู่ส่วนต่างๆ ของรูหู ภายในรูหูจะมีต่อมน้ำมัน ทำหน้าที่ผลิตไขมันทำให้หูชุ่มชื้น และดักจับฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาภายในรูหู และเกิดเป็นขี้หู นอกจากนั้น ภายในรูหูยังมีเยื่อแก้วหู ซึ่งเป็นเยื่อแผ่นกลมบางๆ กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นนอก กับหูชั้นกลาง ทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงผ่านหูชั้นกลาง

(2) หูชั้นกลาง มีลักษณะเป็นโพรง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่ กระดูกรูปค้อน กระดูกรูปทั่ง และกระดูรูปโกลน เป็นกระดูกชิ้นนอกติดอยู่กับหูชั้นใน กระดูกทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าว ทำหน้าที่รับคลื่นเสียงต่อจากเยื่อแก้วหู

(3) หูชั้นใน มีลักษณะเป็นรูปหอยโข่ง เป็นส่วนที่อยู่ด้านในสุด ทำหน้าที่ขับคลื่นเสียงโดยผ่านประสาทรับเสียงส่งต่อไปยังสมอง และสมองก็แปลผลทำให้รู้ว่าเสียงที่ได้ยินคือเสียงอะไร

1.3 จมูก เป็นอวัยวะรับสัมผัส ทำหน้าที่หายใจเอาอากาศเข้าและออกจากร่างกาย และมีหน้าที่รับกลิ่นต่างๆ ถ้าจมูกไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จะไม่ได้กลิ่นอะไรเลย หรือทำให้ระบบการหายใจและการออกเสียงผิดปกติ

ส่วนประกอบของจมูก

จมูกเป็นอวัยวะภายนอกที่อยู่บนใบหน้า ช่วยเสริมให้ใบหน้าสวยงาม จมูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

(1) สันจมูก เป็นส่วนที่มองเห็นจากภายนอก เป็นกระดูกอ่อน ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับอวัยวะภายในจมูก

(2) รูจมูก รูจมูกมี 2 ข้าง ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอากาศ ที่หายใจเข้าออก ภายในรูจมูกมีขนจมูกและเยื่อจมูก ทำหน้าที่กรองฝุ่นและเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่หลอดลมและปอด

(3) ไซนัส เป็นโพรงอากาศครอบจมูกในกะโหลกศีรษะ จำนวน 4 คู่ ทำหน้าที่พัดอากาศเข้าสู่ปอด และปรับลมหายใจให้มีอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะ

1.4 ปากและฟัน เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ใช้ในการพูด ออกเสียง และรับประทานอาหาร โดยฟันของคนเราจะมี 2 ชุด คือ ฟันน้ำนมและฟันแท้

(1) ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรก มีทั้งหมด 20 ซี่ เป็นฟันบน 10 ซี่ ฟันล่าง 10 ซี่ ฟันน้ำนมเริ่มงอกเมื่ออายุประมาณ 6-8 เดือน จะงอกครบเมื่ออายุ 2 ขวบ ถึง 2 ขวบครึ่ง และจะค่อยๆ หลุดไปเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ

(2) ฟันแท้ เป็นฟันชุดที่สอง ที่เกิดขึ้นมาแทนฟันน้ำนมที่หลุดไป ฟันแท้มี 32 ซี่ ฟันบน 16 ซี่ ฟันล่าง 16 ซี่ ฟันแท้จะครบเมื่ออายุประมาณ 21- 25 ปี ถ้าฟันแท้ผุหรือหลุดไป จะไม่มีฟันงอกขึ้นมาอีก

หน้าที่ของฟัน

ฟัน มีหน้าที่ในการเคี้ยวอาหาร เช่น ฉีก กัด บดอาหารให้ละเอียด ฟันจึงมีหน้าที่และรูปร่างต่างกันไป ได้แก่ ฟันหน้า มีลักษณะคล้ายลิ่ม ใช้กัดตัด ฟันเขี้ยว มีลักษณะปลายแหลม ใช้ฉีกอาหาร และฟันกราม มีลักษณะแบน กว้าง ตรงกลางมีร่องใช้บดอาหาร

1.5 ผิวหนัง เป็นอวัยวะรับสัมผัส ทำให้รู้สึก ร้อน หนาว เจ็บปวด เพราะภายใต้ผิวหนังเป็นที่รวมของเซลล์ประสาทรับความรู้สึก นอกจากนั้นผิวหนังยังทำหน้าที่ปกคลุมร่างกาย และช่วยป้องกันอวัยวะภายในไม่ให้ได้รับอันตราย และยังช่วยระบายความร้อนภายในร่างกายทางรูเหงื่อตามผิวหนังอีกด้วย

ส่วนประกอบของผิวหนัง แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้

(1) ชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นบนสุด เป็นชั้นที่จะหลุดเป็นขี้ไคล แล้วมีการสร้างขึ้นมาทดแทนขึ้นเรื่อยๆ และเป็นผิวหนังชั้นที่บ่งบอกความแตกต่างของสีผิวในแต่ละคน

(2) ชั้นหนังแท้ เป็นผิวหนังที่หนากว่าชั้นหนังกำพร้า เป็นแหล่งรวมของต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน และเซลล์ประสาทรับความรู้สึกต่างๆ

2. อวัยวะภายใน

อวัยวะภายในเป็นอวัยวะที่อยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็น อวัยวะภายในเหล่านี้มีมากมายและทำงานประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบ

2.1 ปอด ปอดเป็นอวัยวะภายในอย่างหนึ่ง อยู่ในระบบหายใจ ปอดมี 2 ข้าง ตั้งอยู่บริเวณทรวงอกทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา จากต้นคอลงไปจนถึงอก ปอดมีลักษณะนิ่มและหยุ่นเหมือนฟองน้ำ ขยายใหญ่เท่ากับซี่โครงเวลาที่ขยายตัวเต็มที่ มีเยื่อบางๆ หุ้ม เรียกว่า เยื่อหุ้มปอด ปอดประกอบด้วยถุงลมเล็กๆ จำนวนมากมาย เวลาหายใจเข้าถุงลมจะพองออกและเวลาหายใจออกถุงลมจะแฟบ ถุงลมนี้ประสานติดกันด้วยเยื่อประสานละเอียดเต็มไปด้วยเส้นเลือดฝอยมากมาย เลือดดำจะไหลผ่านเส้นเลือดฝอยเหล่านั้น แล้วคายคาร์บอนไดออกไซด์ออก และรับเอาออกซิเจนจากอากาศที่เราหายใจเข้าไปในถุงลมไปใช้ในกระบวนการเคมีในการสันดาปอาหารของร่างกาย กระบวนการที่เลือดคายคาร์บอนไดออกไซด์ และรับออกซิเจนขณะที่อยู่ในปอดนี้ เรียกว่า การฟอกเลือด

หน้าที่ของปอด

ปอดจะทำหน้าที่สูบและระบายอากาศ ฟอกเลือดเสียให้เป็นเลือดดี การหายใจมีอยู่ 2 ระยะ คือ หายใจเข้าและหายใจออก หายใจเข้า คือ การสูดอากาศเข้าไปในปอดหรือถุงลมปอด เกิดขึ้นด้วยการหดตัวของกล้ามเนื้อกะบังลม ซึ่งกั้นอยู่ระหว่างช่องอกกับช่องท้อง เมื่อกล้ามเนื้อกะบังลมหดตัวจะทำให้ช่องอกมีปริมาตรมากขึ้น อากาศจะวิ่งเข้าไปในปอด เรียกว่าหายใจเข้า เมื่อหายใจเข้าสุดแล้ว กล้ามเนื้อกะบังลมจะคลายตัวลง กล้ามเนื้อท้องจะดันเอากล้ามเนื้อกะบังลมขึ้น ทำให้ช่องอกแคบลง อากาศจะถูกบีบออกจากปอด เรียกว่า หายใจออก ปกติผู้ใหญ่หายใจประมาณ 18-22 ครั้งต่อนาที ผู้ที่มีอายุน้อยการหายใจจะเร็วขึ้นตามอายุ

2.2 หัวใจ เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ ภายในเป็นโพรง รูปร่างเหมือนดอกบัวตูม มีขนาดราวๆ กำปั้นของเจ้าของ รอบๆ หัวใจมีเยื่อบางๆ หุ้มอยู่เรียกว่า เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งมีอยู่ 2 ชั้น ระหว่างเยื่อหุ้มทั้งสองชั้นจะมีช่อง ซึ่งมีน้ำใสสีเหลืองอ่อนหล่ออยู่ตลอดเวลา เพื่อมิให้เยื่อทั้งสองชั้นเสียดสีกัน และทำให้หัวใจเต้นได้สะดวกไม่แห้งติดกับเยื่อหุ้มหัวใจ หัวใจตั้งอยู่ระหว่างปอดทั้งสองข้าง แต่ค่อนไปทางซ้ายและอยู่หลังกระดูกซี่โครงกับกระดูกอก โดยปลายแหลมชี้เฉียงลงทางล่าง และชี้ไปทางซ้าย ภายในหัวใจจะมีโพรง ซึ่งภายในโพรงนี้จะมีผนังกั้นแยกออกเป็นห้องๆ รวม 4 ห้อง คือ ห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง สำหรับห้องบนจะมีขนาดเล็กกว่าห้องล่าง

หน้าที่ของหัวใจ

หัวใจมีจังหวะการบีบตัว หรือที่เราเรียกว่าการเต้นของหัวใจ เพื่อสูบฉีดเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงร่างกายตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่คลายตัวหัวใจห้องบนขวาจะรับเลือดดำมาจากทั่วร่างกาย และจะถูกบีบผ่านลิ้นที่กั้นอยู่ลงไปทางห้องล่างขวา ซึ่งจะถูกฉีดไปยังปอดเพื่อคายคาร์บอนไดออกไซด์และรับออกซิเจนใหม่กลายเป็นเลือดแดง ไหลกลับเข้ามายังหัวใจห้องบนซ้ายและถูกบีบผ่านลิ้นที่กั้นอยู่ไปทางห้องล่างซ้าย จากนั้นก็จะถูกฉีดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ถ้าเราใช้นิ้วแตะบริเวณเส้นเลือดใหญ่ เช่น ข้อมือ หรือข้อพับต่างๆ เราจะรู้สึกได้ถึงจังหวะการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งเราเรียกว่า ชีพจร

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นอวัยวะที่บอกได้ว่าคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่ ถ้าหากหัวใจหยุดเต้นก็หมายถึงว่า คนคนนั้นเสียชีวิตแล้ว การเต้นของหัวใจนั้น ในคนปกติหัวใจจะเต้นประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาที

หัวใจต้องทำงานหนักตลอดชีวิต ทั้งเวลาหลับและตื่น เวลาที่หัวใจจะได้พักผ่อนบ้างก็คือตอนที่เรานอนหลับ หัวใจจะเต้นช้าลง เราจึงต้องระมัดระวังรักษาหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยอย่าให้หัวใจต้องทำงานหนักมากจนเกินไป

2.3 กระเพาะอาหาร มีรูปร่างเหมือนน้ำเต้า คล้ายกระเพาหมู มีความจะประมาณ 1 ลิตร อยู่ต่อหลอดอาหารและอยู่ในช่องท้องค่อนไปทาด้านซ้าย

หน้าที่สำคัญของกระเพาะอาหาร คือ มีหน้าที่ในการย่อยอาหารที่มีขนาดเล็กลง และละลายให้เป็นสารอาหาร แล้วส่งอาหารที่ย่อยแล้วไปยังลำไส้เล็ก แล้วลำไส้เล็กจะดูดซึมไปใช้ประโยชน์แก่ร่างกายต่อไป ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ที่เรียกว่ากากอาหารจะถูกส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่ เพื่อขับถ่ายออกจากร่างกายเป็นอุจจาระต่อไป สิ่งที่ช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารก็คือ น้ำย่อยซึ่งมีสภาพเป็นกรด น้ำย่อยในกระเพาะจะมีเป็นจำนวนมากเมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร ถ้าไม่รับประทานอาหารให้ตรงเวลาน้ำย่อยจะกัดเนื้อเยื่อในบริเวณกระเพาะได้เช่นกัน อาจจะทำให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ วิธีที่จะช่วยป้องกันได้ก็คือ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา งดรับประทานอาหารที่มีรสจัด

2.4 ลำไส้เล็ก มีลักษณะเป็นท่อกลวงยาวประมาณ 6 เมตร ขดอยู่ในช่องท้องตอนบน ปลายบนเชื่อมกับกระเพาะอาหาร ส่วนปลายล่างต่อกับลำไส้ใหญ่

หน้าที่สำคัญของลำไส้เล็ก คือ ย่อยอาหารต่อจากกระเพาะอาหาร จนอาหารมีขนาดเล็กพอที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

2.5 ลำไส้ใหญ่ เป็นอวัยวะที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ใหญ่ของคนมีความยาวประมาณ 1.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น3ส่วน คือ

(1) กระเปาะลำไส้ใหญ่ เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนแรก ต่อจากลำไส้เล็ก ทำหน้าที่รับกากอาหารจากลำไส้เล็ก

(2) โคลอน (Colon) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ยาวที่สุดประกอบด้วยลำไส้ใหญ่ขวา ลำไส้ใหญ่กลาง และลำไส้ใหญ่ซ้าย มีหน้าที่ดูดซึมน้ำและพวกวิตามินบี12 ที่แบคที่เรียในลำไส้ใหญ่สร้างขึ้น และขับกากอาหารเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนต่อไป

(3) ไส้ตรง เมื่อกากอาหารเข้าสู่ไส้ตรงจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายขึ้น เพราะความดันในไส้ตรงเพิ่มขึ้นเป็นผลทำให้กล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนักด้านใน ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระออกทางทวารหนักต่อไป

หน้าที่ของลำไส้ใหญ่

(1) ช่วยย่อยอาหารเพียงเล็กน้อย

(2) ถ่ายระบายกากอาหาร ออกจากร่างกาย

(3) ดูดซึมน้ำและสารอิเล็คโตรลัยต์ เช่น โซเดียม และเกลือแร่อื่น ๆ จากอาหารที่ถูกย่อยแล้ว ทีเหลืออยู่ในกากอาหาร รวมทั้งวิตามินบางอย่างที่สร้างจากแบคทีเรีย ซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินเค ด้วยเหตุนี้จึงเป็นช่องทางสำหรับให้น้ำ อาหารและยาแก่ผู้ป่วยทางทวารหนักได้

(4) ทำหน้าที่เก็บอุจจาระไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรที่จะถ่ายออกนอกร่างกาย

1.5 ไต เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในระบบขับถ่าย จะขับถ่ายของเสียจากร่างกายออกมาเป็นน้ำปัสสาวะ ไตของคนเรามี 2 ข้าง มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดง ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร อยู่ติดผนังของท้องด้านหลักต่ำกว่ากระดูกซี่โครงเล็กน้อย

หน้าที่สำคัญของไต คือ กรองของเสียออกจากเลือดแดง แล้วขับของเสียออกนอกร่างกายในรูปของปัสสาวะ

ใบความรู้

เรื่อง การดูแลรักษาป้องกัน ความผิดปกติของอวัยวะสำคัญของร่างกาย อวัยวะภายนอกและภายใน

การดูแลรักษาป้องกัน ความผิดปกติของอวัยวะสำคัญของร่างกาย อวัยวะภายนอกและภายในมีความสำคัญของร่างกาย จำเป็นต้องดูแลรักษาให้สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะถ้าอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดความบกพร่องหรือเกิดความผิดปกติ ระบบการทำงานนั้นก็จะบกพร่องก็จะบกพร่องหรือผิดปกติด้วย มีวิธีการง่าย ๆ ในการดูแลรักษาอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้ะการออกเสียงผิดปกติ

่นต่างๆ

1. การดูแลรักษาตา

ตามีความสำคัญ ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ จึงควรดูแลรักษาตาให้ดีด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

1. ไม่ควรใช้สายตาจ้องหรือเพ่งสิ่งต่างๆ มากเกินไป ควรพักสายตาโดยการหลับตา หรือมองออกไปยังที่กว้างๆ หรือพื้นที่สีเขียว

2. ขณะอ่านหรือเขียนหนังสือ ควรให้แสงสว่างอย่างเพียงพอ และควรวางหนังสือให้ห่างจากตาประมาณ 1 ฟุต

3. ไม่ควรอ่านหนังสือขณะอยู่บนยานพาหนะ เช่น รถ หรือรถไฟที่กำลังแล่น

4. ดูโทรทัศน์ให้ห่างจากจอภาพไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของขนาดจอภาพ

5. เมื่อมีฝุ่นละอองเข้าตา ไม่ควรขยี้ตา ควรใช้วิธีลืมตาในน้ำสะอาด หรือล้างด้วยน้ำยาล้างตา

6. ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจติดโรคตาแดงจากผู้อื่นได้

7. หลีกเลี่ยงการมองบริเวณที่แสงจ้า หรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย

8. อย่าใช้ยาล้างตาเมื่อไม่มีความจำเป็น เพราะตามธรรมชาติน้ำในเปลือกตาทำหน้าที่ล้างตาดีที่สุด

9. บริหารเปลือกตาบนและเปลือกตาทุกวันด้วยการใช้นิ้วชี้รูดกดไปบนเปลือกตาจากคิ้วไปทางหางตา

2. การดูแลรักษาหู

หูมีความสำคัญต่อการได้ยิน ถ้าหูผิดปกติจนไม่สามารถได้ยินเสียงต่างๆ การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ราบรื่นเกิดอุปสรรค ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาหูให้ทำหน้าที่ให้ดีอยู่เสมอ

1. หลีกเลี่ยงแหล่งที่มีเสียงดังอึกทึก ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรป้องกันตนเอง โดยหาอุปกรณ์มาอุดหู หรือครอบหู เพื่อป้องกันไม่ให้แก้วหูฉีกขาด

2. ไม่ควรแคะหูด้วยวัสดุใดๆ เพราะอาจทำให้หูอักเสบเกิดการติดเชื้อ

3. เมื่อมีแมลงเข้าหู ให้ใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันพาราฟิลหยอดหู ทิ้งไว้สักครู่แมลงจะตาย แล้วจึงเอียงหูให้แมลงไหลออกมา

4. ขณะว่ายน้ำ หรืออาบน้ำ พยายามอย่าให้น้ำเข้าหู ถ้ามีน้ำเข้าหูให้เอียงหูให้น้ำออกมาเอง

5. เมื่อเป็นหวัดไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะเชื้อโรคอาจผ่านเข้าไปในรูหู เกิดอักเสบติดเชื้อกลายเป็นหูน้ำหนวก และเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับหู ควรปรึกษาแพทย์

3. การดูแลรักษาจมูก

จมูกเป็นอวัยวะรับสัมผัสที่มีความสำคัญ ทำให้ได้กลิ่น และหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่ปอด ควรดูแลรักษาจมูกให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติด้วยวิธีดังนี้

1. หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย

2. ไม่ควรแคะจมูกด้วยวัสดุแข็ง เพราะอาจทำให้จมูกอักเสบ

3. ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ ถ้าเป็นหวัดเรื้อรัง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรปรึกษาแพทย์

4. ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับจมูก ควรปรึกษาแพทย์

4. การดูแลรักษาปากและฟัน

1. ควรแปรงฟันให้ถูกวิธีหลังอาหารทุกมื้อ หรือควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

2. ไม่ควรกัดหรือฉีกของแข็งด้วยฟัน และควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุก 6 เดือน

3. ออกกำลังเหงือกด้วยการถู นวดเหงือก ตอนเช้า และกลางคืนก่อนนอน โดยการอมเกลือหรือเกลือป่นผสมสารส้มป่นประมาณ 5 นาที แล้วนวดเหงือก

4. รับประทานผัก ผลไม้สดมากๆ และหลีกเลี่ยงรับประทานลูกอม ช็อคโกแลตและขนมหวานๆ

5. การดูแลรักษาผิวหนัง

1. อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังจากอาบน้ำเสร็จ ควรเช็ดตัวให้แห้ง

2. สวมเสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และไม่รัดรูปจนเกินไป

3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า และระมัดระวังในการใช้เครื่องสำอาง

4. เมื่อผิวหนังผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

6. การดูแลรักษาปอด มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

1. ควรอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเทได้เสมอ หลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่ที่มีฝูงชนแออัด

2. ควรหายใจทางจมูก เพราะในจมูกมีขนจมูกและเยื่อเสมหะซึ่งจะช่วยกรองฝุ่นละออง และเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปในปอด หลีกเลี่ยงการหายใจทางปาก

3. ไม่ควรนอนคว่ำนานๆ จะทำให้ปอดถูกกดทับทำงานไม่สะดวก

4. ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะจะส่งผลให้เป็นอันตรายต่อปอด

5. ควรนั่งหรือยืนตัวตรง ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เพราะจะทำให้ปอดขยายตัวไม่สะดวก

6. ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อป้องกันการเป็นหวัด

7. ควรบริหารปอด ด้วยการหายใจยาวๆ วันละ 5-6 ครั้งทุกวัน ทำให้ปอดขยายตัวได้เต็มที่

8. ควรระวังการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากภายนอก เช่น หน้าอก แผ่นหลัง เพราะจะกระทบกระเทือนไปถึงปอดด้วย

9. ควรพักผ่อนให้เต็มที่ การออกกำลังกายหรือการเล่นใดๆ อย่าให้เกินกำลังหรือเหนื่อยเกินไป เพราะจะทำให้ปอดต้องทำงานหนักจนเกินไป

10. ควรตรวจสุขภาพ หรือเอ็กซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

7. การดูแลรักษาหัวใจ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้

1. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และวัย ไม่หักโหมเกินไป เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานมาก อาจเป็นอันตรายได้

2. ไม่ดื่มน้ำชา กาแฟ สูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้น เพราะมีสารกระตุ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักจนอาจเป็นอันตรายแก่กล้ามเนื้อหัวใจได้

3. ไม่รับประทานยา ที่จะกระตุ้นในการทำงานของหัวใจโดยไม่ปรึกษาแพทย์

4. การนอนคว่ำ เป็นเวลานานๆ จะส่งผลทำให้หัวใจถูกกดทับทำงานไม่สะดวก

5. ไม่ควรนอนในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือสวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป จะทำให้ระบบการทำงานของหัวใจไม่สะดวก

6. ระมัดระวังไม่ให้หน้าอกได้รับความกระทบกระเทือน เพราะอาจเป็นอันตรายกับหัวใจได้

7. ไม่ควรวิตกกังวล กลัว ตกใจ เสียใจมากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ

8. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดไขมันเกาะภายในเส้นเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จะเป็นอันตรายได้

9. เมื่อเกิดอาการผิดปกติของหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์

8. การดูแลรักษากระเพาะอาหารและลำไส้ ควรปฏิบัติดังนี้

1. ควรรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ ไม่แข็ง ไม่เหนียว หรือย่อยยาก หรือมีรสจัดเกินไป เพราะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักหรือทำให้เกิดเป็นแผลได้

2. ควรให้ร่างกายอบอุ่น ในเวลานอนต้องสวมเสื้อผ้าหรือห่มผ้าเสมอ เพื่อมิให้ท้องรับความเย็นจนเกินไป จนอาจเกิดอาการปวดท้อง

3. ควรควบคุมอารมณ์ เพราะความเครียด ความวิตกกังวล ก็ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามาก

4. เคี้ยวอาหาร ให้ละเอียดก่อนกลืน และไม่รีบรับประทาน เพราะจะทำให้อาหารย่อยยาก 5. ไม่ควรสวมเสื้อผ้าคับหรือรัดเข็มขัดแน่นเกินไป จะทำให้กระเพาะอาหารทำงานไม่สะดวก

6. ไม่ควรรับประทานจุบจิบ เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารต้องทำงานอยู่เสมอไม่มีเวลาพัก

7. ควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่ปล่อยให้หิวมาก หรือรับประทานอาหารมากเกินไป จะทำให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนัก หรือเกิดอาการอาหารไม่ย่อย แน่นท้องได้

8. ไม่รับประทานของหมักดอง จะทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องร่วงได้

9. ปฏิบัติตนตามหลักสุขนิสัยที่ดี โดยรักษาความสะอาดมือ ภาชนะและอาหรที่รับประทานเพื่อป้องกันเชื้อโรคจะเป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหารได้

10. ควรรับวัคซีนป้องกันโรค เมื่อเกิดโรคติดต่อระบาดในชุมชน เช่น อหิวาตกโรค บิด พยาธิต่างๆ ท้องร่วง

9. การดูแลรักษาไต ควรปฏิบัติดังนี้

1. ควรรับประทานอาหาร น้ำ เกลือแร่ ให้เหมาะสมตามสภาวะของร่างกาย

2. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือรับประทาน ยาที่มีผลเสียต่อไต เช่น ยาซัลฟา ยาแก้ปวด และแก้อักเสบต่อเนื่องเป็นเวลานาน

3. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเอาไว้นานๆหรือสวนปัสสาวะ

4. ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรรักษาเพราะจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต

5. เมื่อเกิดอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นโรคไต เช่น เท้า ตัว หรือหน้าบวม ปัสสาวะเป็นสีคล้ำเหมือนสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

6. ควรตรวจสุขภาพ ตรวจปัสสาวะ อย่างน้อยประจำปีละ 1-2 ครั้ง