BBL ( Brain Based Learning ) คืออะไร?
BBL ( Brain Based Learning ) หมายถึง การเรียนรู้ ที่ใช้โครงสร้างและหน้าที่ของสมองเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ โดยไม่สกัดกั้นการทำงานของสมอง แต่เป็นการส่งเสริมให้สมองได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ ที่สุด ภายใต้แนวคิดที่ว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ทุกคนมีสมองพร้อมที่จะทำเรียนรู้มาตั้งแต่กำเนิด
BBL (Brain Based Learning) เป็นการ การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เป็นการนำองค์ความรู้เรื่องสมองมาใช้เป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยมีที่มาจากศาสตร์การเรียนรู้ 2 สาขาคือ
1.ความรู้ทางประสาทวิทยา (Neurosciences) ซึ่งอธิบายที่มาของความคิดและจิตใจของมนุษย์โดยเฉพาะในด้านที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับทักษะการเรียนรู้ อันได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ ความเข้าใจ และความชำนาญ โดยผ่านทฤษฎีว่าด้วยการทำงานของสมองเป็นสำคัญ
2.แนวคิด ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theories) ต่างๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ และกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอย่างไร
การบูรณาการองค์ความรู้ทั้ง2 สาขาเข้าด้วยกันทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ตั้งอยู่บนฐานของการพิจารณาว่าปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้สมองมีการเปลี่ยนแปลงสมองมีปฏิกิริยาตอบรับต่อการเรียนการสอนแบบใด และอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่การจัดกิจกรรมระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และที่สำคัญคือการออกแบบและใช้เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ โดยเน้นว่าต้องทำให้ผู้เรียนสนใจ เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการจดจำตามมา และนำไปสู่ความสามารถในการใช้เหตุผล เข้าใจความเชื่อมโยงสัมพันธ์ในทุกมิติของชีวิต
5 ขั้นตอนการเรียนรู้แบบ BBL ( Brain Based Learning ) เป็นขั้นตอนและวิธีการออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมองที่คุณครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ผู้เรียนมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ ได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ และสรุปการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้
BBL (Brain Based Learning) เป็นการเรียนรู้ตามหลักการทำงานของสมอง ครูและผู้ปกครองสามารถจัดสภาพแวดล้อม และขั้นตอนของกิจกรรม ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนง่าย ๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบที่สมองสามารถรับรู้ จดจำและนำไปใช้ได้ ตามขั้นตอนเหล่านี้
Brain Gym กิจกรรมเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ เบิกบานพร้อมเรียนรู้
Present แนะนำและให้ความรู้ โดยให้เด็กมีส่วนร่วมเสมอ
Learn Practice ลงมือปฏิบัติ เด็ก ๆ ได้ใช้ประสาทสัมผัสในการลงมือทำ
Summary แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้ สรุปร่วมกัน
Apply นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมอื่นต่อไป
กุญแจดอกที่ 1 : สนาม BBL (Playground)
ปรับสนามให้เด็กได้ออกกำลังกายด้วยรูปแบบการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ประมาณ 15 - 20 นาทีต่อวัน เพื่อให้ร่างกายส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างประสิทธิภาพ
Make : สร้างสนามที่มีฐานหลากหลาย สนุกสนาน ตื่นเต้น ให้เด็กได้วิ่ง ปีน โหน ลอด กระโดด ฯลฯ โดยมีวัสดุกันกระแทกสำหรับป้องกัน
Move : จัดเวลาให้เด็กได้เล่นสนาม วันละ 15 - 20 นาทีทุกวัน โดยมีครูคอยดูแล หากมีนักเรียนมากอาจจัดให้มีการเล่นเป็นรอบ ๆ
สนาม BBL กระตุ้นสมองเด็กได้ดี เพราะ
1) เลือดสูบฉีด อะดรีนาลีนหลั่งมากขึ้น ทำให้ความจำดีขึ้น
2) ลดระดับความเครียด จากคอร์ติซอล เพราะเมื่อมีคอร์ติซอลมาก สมรรถนะในการเรียนรู้จะลดลง
3) เพิ่มระดับโดปามีน สารแห่งความสุข ทำให้มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่น อยากรู้ อยากเรียน และมีสมาธิ มากขึ้น
4) เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ความแข็งแกร่ง และศักยภาพในการเรียนรู้ของสมอง
5) ระดับเซโรโทนินจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไม่โมโหง่าย มีความตั้งใจ และมีสติดีขึ้น
6) กระตุ้นการทำงานของเซโรโทนิน ทำให้กระฉับกระเฉง ลดความก้าวร้าว ไม่ซึมเศร้า
สิ่งที่ควรมี
1) มีฐานการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย มีเครื่องเล่นหลากรูปแบบ ให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายในท่วงท่าต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายเกิดการพัฒนาในทุกส่วน
2) ให้เด็กได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง 15 - 20 นาทีต่อวัน เพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีด
3) ครูควรดูแลความปลอดภัยในการเล่นอย่างใกล้ชิด ควรตรวจดูความปลอดภัยของอุปกรณ์ วัตถุแปลกปลอม และสัตว์ที่มาอยู่อาศัย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ครูควรตั้งกฎกติกาการเล่นฐานที่มีความเสี่ยง เช่น ไม่ให้เด็กที่มีความพร้อมไม่มากพอมาเล่น
4) สร้างสนาม BBL โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ปูพื้นสนามด้วยทรายหรือหญ้าเพื่อความปลอดภัย หากใช้ยางรถยนต์เป็นวัสดุ ควรเจาะรูหรือใส่ทรายเพื่อป้องกันน้ำขัง สนามที่มีการปีนหรือโหนจะต้องยึดพื้นอย่างแน่นหนาและแข็งแรง สามารถรองรับทั้งน้ำหนักของวัสดุและเด็ก รวมถึงแรงที่เกิดจากกากการเล่น
ที่มา : https://www.facebook.com/photo?fbid=1120929221632247&set=pcb.1120929764965526
กุญแจดอกที่ 2 : ห้องเรียน BBL (Classroom Climate)
เปลี่ยนห้องเรียนให้มีสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ มีสีสัน เพื่อเปลี่ยนสมองเด็กให้สามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
Color : ปรับปรุงห้องไม่ให้ดูโทรมและเก่า ทาสีหรือตกแต่งให้สดใส
Corner : จัดมุมอ่าน (Reading corner) ไว้ทุกห้องเรียน
Clean : รักษาความสะอาด จัดอุปกรณ์และสื่อต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ
Clear : นำสิ่งของที่ไม่เป็นประโยชน์ออกจากห้องเรียน และจัดหาความรู้ที่เป็นประโยชน์มานำเสนอ
ห้องเรียน BBL มีส่งผลต่อเด็กอย่างไร
1) ห้องเรียน คือ สังคมเล็กๆ สังคมหนึ่ง ที่เด็กเข้ามาอยู่ร่วมกัน สิ่งแวดล้อมในห้องเรียนนี้ถูกจัดอย่างไร ย่อมมีส่วนสำคัญในการกระตุ้น และ shape ชีวิตสังคมแห่งการเรียนรู้ของเด็ก
2)ห้องเรียน คือ ครูคนที่สองของเด็ก เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องเรียน พื้นที่แห่งนี้ คือ ที่ที่เด็กจะเรียนทักษะอันหลากหลายผ่านสิ่งแวดล้อมที่ถูกจัดไว้ ถ้าห้องเรียนแห้งแล้ง ทักษะที่เด็กจะเรียนรู้ย่อมลดลง
3)กระตุ้น Social Climate สิ่งแวดล้อมของห้องเรียน (Classroom Climate) เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่เด็ก ครูจึงต้องคิดค้นวิธีการออกแบบห้องเรียน เพื่อจะพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน (Learning Behavior)
4)Active Function การนำความรู้และ Skill ทั้งหลาย มาจัดไว้บนบอร์ด (Board) และมุม (Corner) ต่างๆ จะช่วยตอบโจทย์ความสนใจของเด็ก ช่วยให้ชั่วโมงแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะเด็กๆ ย่อมซึบซับ สังเกต อ่าน ลงมือทำ สนทนากัน ผ่าน Active Function ต่างๆ แทนที่จะเป็นการนั่งเรียนแบบ Passive Learning
แนวคิดในการปรับ
1) ปรับห้องเรียนเปลี่ยนสภาพแวดล้อม : โรงเรียนควรกำหนดวันทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big cleaning day) เป็นวันที่แน่นอนทุก 2-3 เดือน โดยให้ครู เด็ก และผู้ปกครอง ได้มีส่วนร่วมในการดูแลห้องเรียนร่วมกัน
2) ปรับสีผนังห้องเรียน : ให้มีสีสันที่มีผลกระตุ้นให้สมองอยากเรียนรู้ สีสันที่ดีจะทำให้ครูสามารถควบคุมชั้นเรียนได้ง่ายขึ้นด้วย
3) ปรับปรุงโต๊ะและเก้าอี้ : ให้อยู่ในสภาพร้อมใช้งาน ควรใช้สีโทนอ่อน หลีกเลี่ยงสีโทนเข้มซึ่งทำให้สมองปิดการเรียนรู้
4) จัดโต๊ะเรียน : ให้สอดคล้องกับวิธีการสอน เช่น หากสอนแบบจัดกิจกรรมควรจัดเป็นโต๊ะกลุ่มเพื่อให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน หากสอนแบบบรรยายควรจัดเป็นแบบเรียงหน้ากระดาน การจัดโต๊ะเรียนที่ดีจะช่วยให้การสอนของครูได้ผลมากขึ้น
5) การจัดห้องเรียน : ควรมีมุมการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะมุมอ่าน (Reading corner) เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับนักเรียน โดยครูสามารถใช้เวลาในมุมนี้อ่านเพิ่มเติมให้นักเรียนฟัง และให้นักเรียนได้ใช้มุมนี้อ่านหนังสือที่ตนเองชอบโดยไม่ต้องรอเวลาไปห้องสมุด
6) ใช้กระดานเคลื่อนที่ : กระดานเคลื่อนที่จะทำให้ผู้เรียนได้ใกล้ชิดกับเนื้อหามากขึ้น ครูสามารถนำเสนอเนื้อหาโดยการติดบัตรภาพ บัตรคำ สื่อการสอนต่าง ๆ และผลงานนักเรียน ฯลฯ เพราะการใช้แค่เพียงกระดานดำหรือไวท์บอร์ดไม่เพียงพอต่อการดึงดูดความสนใจของนักเรียน
7) ควรมีบอร์ดให้ความรู้ : เพื่อนำเสนอความรู้ใหม่ ๆ สวยงาม สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียน
จัดแสดงผลงานนักเรียนเป็นประจำ : เพราะจะมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยควรติดเป็นผลงานใหม่ในพื้นที่ที่จัดสรรไว้
ที่มา : https://www.facebook.com/photo?fbid=1120929221632247&set=pcb.1120929764965526
กุญแจดอกที่ 3 : กระบวนการเรียนรู้แบบ BBL (Learning Process)
กระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยกิจกรรม ที่ทำให้สมองตื่นตัว รู้สึกสนใจ ถูกท้าทายให้คิด ค้นหา ลองผิดลองถูก เรียนรู้ และจดจำ
One : กระตุ้นสมองด้วยกิจกรรม ขยับกาย ขยายสมอง ทุก ๆ ต้นชั่วโมง เพื่อให้สมองน้อย (Cerebellum) แข็งแรง สนับสนุนการทำงานของสมองใหญ่ (Cerebrum) ซึ่งเป็นส่วน คิด จำ และให้เหตุผล
Two : กระตุ้นสมองทั้งสองซีก ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุกสนาน
Four : กระตุ้นสมองทั้ง 4 ส่วน ส่วนรับภาพ ส่วนสัมผัส ส่วนรับเสียง และส่วนหน้า โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ใช้ทั้ง 4 ส่วน ผ่านการเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้เคลื่อนไหว และได้ใช้ประสาทสัมผัส เพื่อกระตุ้นให้สมองคิดและเรียนรู้ได้ดีขึ้น
การจัดกระบวนการเรียนรู้แบ่งเป็น 5 ขั้น
1) ขั้นอุ่นเครื่อง (Warm-up)
2) ขั้นนำเสนอความรู้ (Present)
3) ขั้นลงมือเรียนรู้ - ฝึกทำ - ฝึกฝน (Learn - Practice)
4) ขั้นสรุปความรู้ (Summary)
5) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ (Apply)
ที่มา : https://www.facebook.com/photo?fbid=1120929221632247&set=pcb.1120929764965526
กุญแจดอกที่ 4 : หนังสือ แบบฝึกหัด และใบงาน (Brainy Books)
ใช้หนังสือและใบงานที่มีการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง เพื่อช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการคิดทีละขั้นอย่างเป็นระบบ จนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาประกอบเป็นความเข้าใจ (Concept) ในที่สุด
1) หนังสือเรียนแบบ BBL
- มีภาพประกอบความเข้าใจ
- มีสีสันสวยงาม จัดรูปเล่มน่าอ่าน
- หนังสือมีขั้นตอน ค่อยๆ เรียน ไปสู่การฝึกซ้ำจนคล่อง
- ตื่นเต้น เข้าใจง่าย จดจำง่าย กระตุ้นให้เกิดทักษะการคิด
- หนังสือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน (Interactive) เพื่อกระตุ้นการอ่าน
2) หนังสือแบบฝึกหัด BBL
- ขนาดตัวหนังสือ เนื้อหา และความยากง่าย เหมาะสมสอดคล้องกับวัย
- มีภาพประกอบมากพอ และเหมาะสมกับเนื้อหา
- ไม่น่าเบื่อ ท้าทายให้นักเรียนอยากรู้ อยากลอง และอยากทำ
- ใช้ Graphic Organizers เพื่อให้สมองสร้าง (Construct) ความรู้ได้ง่าย
3) ใบงาน BBL
- ออกแบบใบงานเป็นขั้นตอน (Step by Step)
- ใช้อุปกรณ์เข้าช่วย (Worksheet Kits) เช่น ข้อมูลเคลื่อนที่ได้ ออกแบบให้เล่นเป็นเกมส์ และใช้ของใกล้ตัว (ที่เด็กสนใจหรือชอบ)
- ใช้ Graphic Organizers ช่วยจัดระบบความคิดและข้อมูล
5 หลักในการเลือกหนังสือและออกแบบใบงาน
1) หนังสือมีสีสันสวยงาม รูปเล่มน่าอ่าน มีขนาดพอเหมาะกับวัย
2) หนังสือมีภาพประกอบชัดเจน สวยงาม ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่าย
3) หนังสือที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น ชวนให้สังเกต หรือลองทำ
4) หนังสือที่มีการนำเสนอที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย เหมาะกับวัย
5) หนังสือที่มีเนื้อหาและแบบฝึกหัดน่าสนใจ น่าอ่าน และน่าลงมือทำ
ที่มา : https://www.facebook.com/photo?fbid=1120929221632247&set=pcb.1120929764965526
กุญแจดอกที่ 5 : สื่อและนวัตกรรมที่กระตุ้นสมอง (Resources & Innovations)
ใช้สื่อนวัตกรรมที่แปลกใหม่ มีสีสัน น่าตื่นเต้น และน่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนุกสนานและพึงพอใจกับการเรียน มีความสนใจและตั้งใจที่จะเรียนเนื้อหาที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้ควรมีจำนวนสื่อและอุปกรณ์มากพอสำหรับนักเรียนทุกคน
Learning tools : เตรียมสื่อ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าเป็นรายปี ไม่ควรเตรียมแบบวันต่อวัน
Learning board : มีกระดานเคลื่อนที่สำหรับชั้นเรียนอนุบาลและประถมทุกห้อง
Learning cards : ควรมีบัตรภาพ บัตรคำ และแถบประโยค เพื่อประกอบการสอน
4 หลักของสื่อและนวัตกรรมกระตุ้นสมอง
1) ใช้ "สื่อของจริง" เพราะสามารถสัมผัสได้ ทำความเข้าใจได้ง่าย และอยู่ในชีวิตประจำวัน (จำเป็นมากสำหรับเด็กปฐมวัย)
2) ใช้ "สถานที่และเหตุการณ์จริง" เช่น พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ป่า ภูเขา บึง คลอง ฯลฯ หรือสถานที่ใช้สอยของมนุษย์ เช่น ตลาด โรงพยาบาล วัด เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยครูควรออกแบบสื่อการสอนทั้งก่อนและหลังการลงภาคสนาม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่และมีเป้าหมาย
3) ใช้ "กระดานเคลื่อนที่" เพื่อนำเสนอความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การ์ด ชาร์ต และอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
4) ใช้ "บัตรคำ บัตรตัวเลข ชาร์ต" เป็นสื่อการเรียนรู้ เพื่อเป็นตัวช่วยให้สมองของเด็กคิดเห็นเป็นภาพ สร้างความเข้าใจ และเกิดการจดจำในระยะยาว
ที่มา : https://www.facebook.com/photo?fbid=1120929221632247&set=pcb.1120929764965526
การจัดการเรียนรู้ BBL
จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้ประกาศนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ - ๒๕๖๙ เร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ รัฐจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม สานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนเป็นที่ประจักษ์ ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” มุ่งสร้าง “การศึกษาเท่าเทียม” ผ่านเครือข่ายการศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๑ ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการอ่านออกเขียนได้ ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาตัวเอง และการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น ปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเกิดจากประเด็นสำคัญ คือ นักเรียนมีปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และลายมือไม่สวยเป็นจำนวนมาก ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานและหัวใจหลักของการศึกษาในทุกวิชา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๑ จึงกำหนดนโยบายให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยจัดทำโครงการ BBL Smart School กิจกรรมการเรียนรู้ Brain - based Learning สู่โรงเรียนยั่งยืน เพื่อสนองนโยบายเร่งด่วนที่จะลดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียน และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการอ่าน การเขียนภาษาไทย การคัดลายมือในทุกระดับชั้น ให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ลายมือสวย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งจัดกระบวนการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะ และเกิด การเรียนรู้อย่างอย่างยืน “Brain-based Learning in Education for Achieving Sustainable Development Goals in Schools”