ชุมชนมหาธาตุ

เมืองเก่าบ้านสิงห์ท่ายโสธร

สโลแกน

พระธาตุอานนท์ศักดิ์สิทธิ์ วิถีชีวิตอีสาน ล้ำเลิศศิลปบั้งไฟเอ้ ปลาส้มอินทรีย์ ของดีขนมไทย





คำขวัญ

พระแก้วบุษยรัตน์คู่บ้าน พระธาตุพระอานนท์คู่เมือง ลือเลื่องหลวงพ่อสิงห์ฤทธิ์ บูชาพระสุกศักดิ์สิทธิ์ บั้งไฟเอ้สวยงาม

เมืองเก่าบ้านสิงห์ท่าน่าชม ปลาส้มอินทรีย์ ของดีลอดช่องยโสธร





ประวัติความเป็นมาชุมชนมหาธาตุ

เมืองเก่าบ้านสิงห์ท่ายโสธร

ประวัติความเป็นมา

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ พระธาตุพระอานนท์ แห่งเดียวในโลก และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านช้าง เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองยโสธร ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร พระธาตุยโสธร หรือพระธาตุอานนท์ เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม รูปแบบได้รับอิทธิพลของศิลปะลาว ที่สร้างขึ้นในยุคทวาราวดี ได้รับการบูรณะครั้งแรกเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับประวัติการตั้งเมืองและประวัติของวัดมหาธาตุฉบับหนึ่งว่า บูรณะเมื่อ ราว พ.ศ. ๒๓๒๑ โดยเจ้าฝ่ายหน้า เจ้าคำสิงห์ เจ้าคำม่วง และเจ้าก่ำ ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระเจ้าตา พระเจ้าวอ ราว พ.ศ.๒๓๑๔ มาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้

ตำนานเล่าขาน

๑. พระธาตุอานนท์

พระธาตุพระอานนท์ ออกแบบอย่างประณีต มีรูปแบบต่างจากพระธาตุอิสานทั่วไป องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวด้านละ ๘ เมตร สูง ๒๕.๓๐ เมตร พระธาตุค่อนข้างสูงแต่คั่นจังหวะให้ดูเล็กลงด้วยบัวคว่ำบัวหงายหยักซ้อนกันขึ้นไปในช่วงล่าง ซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน (คือพระอานนท์) มียอดซุ้มโค้งแบบหน้านาง ตกแต่งลายปูนปั้นทางเพิ่มมุม ส่วนยอดเป็นทรงดอกบัวเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรวดทรงบัวเหลี่ยมของพระธาตุองค์อื่นๆ คือได้ยกกระเปาะยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน แต่ชั้นฐานถึงส่วนยอดช่วงล่างได้เสริมยอดปลี ทำเป็นรูปแบบจำลองอาคารซ้อนกันขึ้นไป บนสุดเป็นยอดฉัตรตามตำนานพื้นบ้านกล่าวว่า พระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นโดยผู้ทรงศีลชาวลาว และเจ้าบ้านพื้นถิ่นเดิม ทั้งยังมีอิทธิพลต่อรูปแบบการก่อสร้างธาตุตาดทอง และพระธาตุหนองสามหมื่น ด้านหน้าองค์พระธาตุมีธาตุขนาดเล็กเป็นธาตุบรรจุอัฐิ พญาวิชัยราชขัตติยวงศา (อดีตเจ้าบ้านสิงห์ท่า) ลักษณะพระธาตุได้รับอิทธิพลศิลปะจากหลวงพระบาง


๒. พระพุทธบุษยรัตน์

พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง ประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองยโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยล้านช้าง ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๙ นิ้ว เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองยโสธร ความเป็นมา เดิมเป็นแก้วผลึกไส อยู่ภายในถ้ำนครจำปาสัก ท่านเจ้าเมืองได้นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป สองปาง สี่องค์ องค์ที่หนึ่งคือ พระแก้วจำปานคร ประดิษ,ฐานอยู่วังนครจำปาสัก องค์ที่สอง นำทูลเกล้ารัชกาลที่ ๒ คือพระแก้วจักรพรรดิ์ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ องค์ที่ ๓ มอบให้พี่ชายเจ้าคำผง เมืองอุบลราชธานี คือพระแก้วบุษราคัม องค์ที่ ๔ พระแก้วหยดน้ำค้าง พ.ศ. ๒๓๕๗ พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสิงห์) ถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ รัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชทานนามว่า พระแก้วบุษยรัตน์ ต่อมา รัชกาลที่ ๓ พระราชทานกลับคืนเพื่อเป็นมิ่งมงคลแก่ชาวยโสธร

๓. หอไตรกลางน้ำ

หอไตรกลางน้ำ เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานที่มีมากที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่ตรงกลางสระด้านทิศเหนือของพระธาตุ ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป เป็นอาคารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวมีความยาวกว่าด้านกว้างอยู่ ๑ ช่วงเสา เป็นอาคารทรงเตี้ยแจ้ หลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ เป็นศิลปกรรมแบบลาวหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม และเสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนัง มีลวดลายรดน้ำ ปิดทอง ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบภาคกลาง โดยช่างหลวงจากพระนคร กรุงรัตนโกสินทร์ แห่งเดียวในภาคอีสานสามารถเดินทางไปชมความงดงามใกล้ๆ ของหอไตร

ที่ตั้ง อาณาเขต สภาพพื้นที่