ชุมชนท่าม่วง


สโลแกน ท่าม่วง ชุมชนลุ่มน้ำชี วิถีไทน้อย

ประวัติความเป็นมาแล้วตำนานเล่าขาน

บ้านท่าม่วงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ แบ่งการปกครองเป็น 3 หมู่บ้าน มีประมาณ 300 ครัวเรือน ชาวบ้านเล่าว่า บรรพบุรุษของชุมชนวัดท่าม่วง อพยพมาจากบ้านนาพังสวนมอน แขวงเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อประมาณปี พ.ศ.1990 สาเหตุการอพยพสืบเนื่องมาจากสงครามและความวุ่นวายในขณะนั้น ทำให้ประชาชนได้หลบหนีสงครามเข้ามายังฝั่งขวาแม่น้ำโขงในฝั่งไทยปัจจุบัน ระยะแรกได้สร้างบ้านเรือนอยู่ฝั่งขวาของลำน้ำชี ประมาณ 120 ปี ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อย ๆ และเป็นคุ้งน้ำ น้ำกัดเซาะเป็นประจำทุกปี จึงได้อพยพข้ามฝั่งลำน้ำชีมาสร้างบ้านเรือนอยู่ที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดอนสูงน้ำท่วมไม่ถึง เดิมเรียกว่า โนนหนามแท่ง โดยการนำของสุด-อำแดง และแก้ว-บัพภา ต้นตระกูลสุทธิประภาในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มที่มีนามสกุลสิริธร เดิมเป็นนามสกุลของข้าหลวงใหญ่สมัยนั้น ซึ่งชาวบ้านท่าม่วงเคารพนับถือ และได้มาก่อสร้างวัดที่สำคัญ 3 วัด คือวัดป่าหรือวัดศักดาราม วัดเหนือปัจจุบันร้างไปแล้ว และวัดท่าม่วง ซึ่งก่อสร้างในปี พ.ศ.2114


ของที่สะสมไว้จำนวนมากที่วัดท่าม่วง คือคัมภีร์ใบลานและสมุดข่อยโบราณ ซึ่งห่อไว้ด้วยผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ มัดเชือกเป็นเปลาะ ๆ ด้วยเทคนิคดั้งเดิม เป็นคลังต้นฉบับหนังสือโบราณที่มีจำนวนมาก และได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี ภายใต้การดูแลของท่านพระครูสุธรรมวรนาถ เจ้าอาวาสวัดท่าม่วง หลวงพ่อเป็นคนในท้องถิ่น แต่มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และเคยทำงานมาหลายอย่างก่อนในหลายจังหวัด ก่อนที่จะกลับมาบวชที่บ้านเดิม


ท่านอธิบายว่า ท่านเกิดความคิดว่า คนมีความรู้ไม่เคยมาสร้างบ้านตัวเอง มีแต่หนีเข้าเมือง ท่านจึงได้ตัดสินใจที่จะสร้างความก้าวหน้าให้กับบ้านเกิด การเก็บคัมภีร์ใบลาน เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างความรู้หลายอย่างให้กับชุมชนของท่าน ท่านเจ้าอาวาสจัดการคลังเก็บหนังสือโบราณด้วยตัวของท่านเอง คัมภีร์ใบลานที่เก็บไว้ท่านได้จัดทำระบบทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต และบางส่วนได้ทำไมโครฟิล์มเก็บไว้ นอกจากนี้ยังมีผ้าผะเหวดผืนงามประจำวัด ที่มีขนาดใหญ่ยาวหลายสิบเมตรอีกด้วย อย่างไรก็ดีห้องคัมภีร์แห่งนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าชมโดยทั่วไป กรุณาแจ้งความจำนงค์และสอบถามกับทางวัดก่อน


ปัจจุบัน(2554) ทางวัดและชุมชนได้ทำอนุรักษ์และทะเบียนคัมภีร์ใบลาน มีการแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่ เช่น พิธีกรรม ประเพณี โหราศาสตร์ ตำรายา ลำนิทานต่างๆ ฯลฯ พร้อมกับถอดผ้าห่อคัมภีร์ออกมาอนุรักษ์และแยกเก็บไว้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อสะดวกต่อการศึกษา อนึ่ง เพื่อให้คนในชุมชนและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอ่านอักษรธรรมหรืออักษรโบราณ การประยุกต์ใช้เรื่องราวในคัมภีร์ใบลานเพื่อการสืบทอดความรู้ในท้องถิ่น ทางวัดและชุมชนได้ร่วมกันจัดทำกิจกรรมต่างๆ โดยใช้คัมภีร์ใบลานเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ พร้อมๆ ไปกับการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่น และโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังเข้ามาช่วยในการปริวรรตและเรียบเรียงใบลานของวัด และในปี 2553 ได้พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ "ตำรายา วัดท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เล่มที่ 1 และเล่มที่ 2"