หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

Master of Nursing Science Program in Adult and Gerontological Nursing

หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565

คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

ภาษาอังกฤษ Master of Nursing Science Program in Adult and Gerontological Nursing

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็มภาษาไทย พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)

ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ Master of Nursing Science (Adult and Gerontological Nursing)

ชื่อย่อภาษาไทย พย.ม. (การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ)

ชื่อย่อภาษาอังกฤษ M.N.S. (Adult and Gerontological Nursing)


ปรัชญาหลักสูตร

คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เชื่อว่า การจัดการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะหลักในการดูแลหรือการจัดการรายกรณีผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีปัญหาสุขภาพซับซ้อนครอบคลุมทุกระยะของการเจ็บป่วยทั้งในภาวะเฉียบพลัน วิกฤต เรื้อรัง และระยะท้ายของชีวิต โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งสามารถพัฒนาระบบบริการพยาบาลหรือคุณภาพการพยาบาลที่สอดคล้องกับนโยบายทางด้านสุขภาพ ความต้องการทางด้านสุขภาพและบริบทของพื้นที่ การจัดการศึกษาพยาบาลระดับบัณฑิตศึกษาต้องมุ่งเน้นผลลัพธ์ และกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงโดยผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มหาบัณฑิตเกิดการพัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีสมรรถนะตามที่มาตรฐานวิชาชีพกำหนด และเป็นผู้นำการจัดการพยาบาลในคลินิก

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมหาบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ ดังนี้

1. มีความรอบรู้อย่างลึกซึ้งในเนื้อหาสาระของศาสตร์การพยาบาล ระบบบริการสุขภาพ การบริหารจัดการ กระบวนการวิจัย และแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

2. ปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนในภาวะเฉียบพลัน วิกฤติ เรื้อรัง และระยะท้ายของชีวิต และสามารถจัดการรายกรณีผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน โดยบูรณาการศาสตร์การพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานเชิงประจักษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้จรรยาบรรณ จริยธรรม กฎหมายวิชาชีพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

3. มีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ตัดสินเชิงคลินิก เพื่อแก้ไขปัญหาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน และพัฒนาคุณภาพการพยาบาล

4. มีความสามารถในการสอน ให้คำปรึกษา เสริมสร้างพลังอำนาจ สามารถพัฒนา จัดการ กำกับและประเมินผลลัพธ์ของการดูแลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. มีความสามารถในการทำวิจัย เพื่อส่งเสริมสุขภาพดีและแก้ไขปัญหาสุขภาพซับซ้อนของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุและพัฒนาคุณภาพการพยาบาล

6. มีภาวะผู้นำทางคลินิก ทำงานเป็นทีมร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ มีทักษะในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและเหมาะสมในการจัดการปัญหาและพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล และพัฒนาตนเองทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

7. มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะการตัดสินใจเชิงจริยธรรม มีความไวเชิงวัฒนธรรมในการปฏิบัติการพยาบาล จริยธรรมการวิจัย และจริยธรรมทางวิชาการ

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในหลักสูตร มหาบัณฑิตสามารถ

1. ประยุกต์ความรู้ศาสตร์การพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีปัญหาสุขภาพซับซ้อนในระบบบริการสุขภาพ

2. ปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนในภาวะเฉียบพลัน วิกฤติ เรื้อรัง และระยะท้ายของชีวิต โดยการจัดการรายกรณี สร้างแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลบนพื้นฐานแนวคิดทฤษฎีทางการพยาบาล หลักฐานเชิงประจักษ์ และความไวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้จรรยาบรรณ จริยธรรมและกฎหมายวิชาชีพ และบริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

3. แสดงออกถึงความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม

4. เลือกวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการสอน ให้คำปรึกษา และเสริมสร้างพลังอำนาจ ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อนและครอบครัว

5. ทำวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพและผลลัพธ์ที่ดีทางการพยาบาลสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีปัญหาสุขภาพซับซ้อนโดยคำนึงถึงจริยธรรมนักวิจัยและวิชาการ

6. แสดงออกถึงภาวะผู้นำ

7. ใช้ข้อมูลสารสนเทศ นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและเหมาะสมในการจัดการปัญหาและพัฒนาคุณภาพการพยาบาล

8. แสดงออกถึงพฤติกรรมคุณธรรม จริยธรรม


รูปแบบการสอน และวัน – เวลา ในการดำเนินการเรียนการสอน

ภาคทฤษฎี สอนแบบออนไซต์และออนไลน์ ในวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์

ภาคปฏิบัติ สอนแบบออนไลน์ในวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ (โดยเลือกแหล่งฝึกของวิทยาลัยที่เป็นสถานที่ในการดำเนินการสอน)

สถานที่ในการดำเนินการสอน

ภาคทฤษฎี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ (สถานที่หลัก) และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา

ภาคปฏิบัติ ผู้สมัครสามารถเลือกเรียนภาคปฏิบัติในแหล่งฝึกของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา

สถานที่ในการดำเนินการสอน

สถานที่หลัก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ

สถานที่ร่วมสอน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา


คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

1. สําเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์หรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสภาการพยาบาลรับรอง

2. มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้น 1 หรือการพยาบาลชั้น 1 ที่ไม่หมดอายุ

3. กรณีผู้เข้าศึกษาไม่มีสัญชาติไทย ผู้เข้าศึกษาต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์หรือเทียบเท่า และได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลโดยสภาวิชาชีพหรือองค์กรที่รับผิดชอบในประเทศของผู้สมัคร กรณีไม่มีระบบการให้ใบอนุญาตฯ ต้องมีใบรับรองการขึ้นทะเบียนในประเทศของผู้สมัคร หรือรับรองโดยหน่วยงานกำกับการดูแลวิชาชีพการพยาบาล (Nursing Regulatory Authority) ในประเทศของผู้สมัคร

4. มีประสบการณ์ในการทํางานพยาบาล/การศึกษาพยาบาล และ/หรือการบริหารการพยาบาลหลังจากสำเร็จการศึกษาอย่างน้อย 1 ปี

5. มีคุณสมบัติอื่นตามที่สถาบันการศึกษากําหนด

5.1 มีคะแนนเฉลี่ยสะสมของการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีสาขาพยาบาลศาสตร์หรือเทียบเท่า ไม่ต่ำกว่า 2.75

5.2 มีคะแนนภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่สถาบันพระบรมราชชนกกำหนด

5.3 ผู้ที่มีคุณสมบัตินอกเหนือจากเกณฑ์ข้อ 5.1 และ 5.2 อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าศึกษาตามดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร ที่มีความสอดคล้องกับคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กำหนด