"โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ ให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการระยะที่ 1 ทั่วประเทศ 3,342 โรงเรียน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ รวมทั้งนายศุภชัย เจียรวนนท์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน และ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา พร้อมด้วยคุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเปิดการประชุมในครั้งนี้
เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี,พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส และคุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ "โครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา, ผู้บริหารองค์กรหลัก, ผู้บริหารภาคเอกชน, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 1 เข้าร่วมกว่า 3,500 คน
รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวถึงโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ว่า เป็นมิติใหม่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำให้มีสัมฤทธิผล และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องยอมรับว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ แตกต่างจากโครงการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) เนื่องจากการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะเป็นระบบมากขึ้น กระจายไปสู่วงกว้างมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นระบบการศึกษาทั้งระบบที่จะต้องมีการวางแผนงาน งบประมาณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่จะรองรับกับพลวัตรในศตวรรษที่ 21 โดยทักษะของเด็กในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย การเรียนรู้ 3R x 8C ตลอดชีวิต 3R คือ Reading-อ่านออก, (W)Riting-เขียนได้, (A)Rithenmatics-คิดเลขเป็น ในส่วนของโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) "สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชนกว่า 25 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดรับสมัครโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (ระดับประถมศึกษา-ขยายโอกาส นักเรียน 80-600 คน, ระดับมัธยมศึกษา นักเรียน 120-600 คน) เข้าร่วมพัฒนาตามโครงการ ซึ่งมีโรงเรียนสนใจสมัครกว่า 10,000 โรงเรียน และมีโรงเรียนผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 1 จำนวน 3,342 โรงเรียน ที่จะได้รับการพัฒนาตามโครงการภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลือของ School Partners จากภาคเอกชน 1,000 คน และมี School Sponsor จากภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนต่อไปด้วย สิ่งที่จะได้รับจากการเป็นต้นแบบโรงเรียนประชารัฐ มีหลายประการ คือ 1) ครู ได้รับความรู้และประสบการณ์จากกระบวนการจัดการ ตลอดจนได้รับการพัฒนา-การเรียนรู้ต่างๆ 2) โรงเรียน ได้รับการเติมเต็มจากภาคเอกชน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สื่อการเรียนการสอน ระบบฐานข้อมูล เป็นต้น 3) ผู้บริหาร ได้รับการพัฒนาคุณสมบัติและสมรรถนะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการ 4) ผู้ปกครอง ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น จึงฝากให้ผู้บริหารทุกคน ร่วมดำเนินงานตามบทบาทของภาครัฐใน 2 ส่วน ดังนี้ Do คือ สิ่งที่ต้องทำ : ขอให้ผู้บริหารทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โครงการและปฏิบัติตามแผนงานโครงการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดคือ การที่โรงเรียนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง นั่นก็หมายถึงความยั่งยืนนั่นเอง Don’t คือ สิ่งที่ไม่ควรทำ : ขออย่าได้ปัดความรับผิดชอบในการพัฒนาโรงเรียนไปให้โครงการโรงเรียนประชารัฐ รวมทั้งไม่ร้องขอรับการสนับสนุนอื่นตามความต้องการของตนเอง แต่ควรที่จะปฏิบัติตามแผนโครงการ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน ขอชื่นชมโครงการสานพลังประชารัฐ ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นมิติสำคัญและยิ่งใหญ่สำหรับภาคเอกชน ซึ่งโครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ทั้ง 3 ข้อ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพคน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมแบ่งปันและดำเนินโครงการสนับสนุนการศึกษา 3 โครงการ คือ 1) โครงการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการศึกษา 10 ด้าน ได้แก่ 2) โครงการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ CONNEXT Ed (School Partner Leadership Program) คือ โปรแกรมสร้างผู้นำควบคู่กับการขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐ โดยภาคเอกชนคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพที่จะทำงานร่วมกับโรงเรียน ซึ่งมีสัดส่วนผู้นำรุ่นใหม่ 1 คน ต่อ 3 โรงเรียน โดยจะดำเนินงานเป็นทีม ซึ่งหนึ่งทีมจะดูแลโรงเรียนประมาณ 15-20 แห่ง อีกทั้งในอนาคตมีแนวทางในการนำนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดย 1 โรงเรียนจะมีนักศึกษา 1-2 คนช่วยดูแล พร้อมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานไปพร้อม ๆ กันภายใต้การนำของผู้บริหารสถานศึกษา อีกทั้งไม่จำกัดเฉพาะผู้นำจากภาคเอกชน ผู้นำที่เป็นอาสาสมัครจากทุกภาคส่วนที่ผ่านการคัดเลือกก็สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จะดำเนินการคัดเลือกผู้นำรุ่นใหม่ตามโครงการ CONNEXT Ed ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ จะมี School Sponsor ที่เป็นผู้บริหารระดับ CEO หรือ CEO-1 ซึ่งจะเข้าไปเรียนรู้กับผู้บริหารสถานศึกษาและร่วมพัฒนาโรงเรียน โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้เรียนรู้และศึกษาปัญหาของโรงเรียนได้เร็วขึ้น ทางภาคเอกชนจะการสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนปีละ 500,000-1,000,000 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาทต่อปี ในเบื้องต้นจะมีการลงนาม MoU กับ 12 องค์กรที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะดูแลโรงเรียนทั้ง 18 ภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวคือภาคเอกชน 1 องค์กรจะดูแลสถานศึกษาใน 1-2 ภาค 3) โครงการมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศด้านงานวิจัย (Educational Hub) โครงการนี้จะนำไปสู่การเชื่อมต่อด้านการค้นคว้าวิจัยกับภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนในภูมิภาค, ประชาคมอาเซียน และทวีปเอเชีย สามารถเข้ามาเรียนหนังสือที่ประเทศไทยได้ อีกทั้งมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านของ Mega trends ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนและผสมผสานกันเพื่อการพัฒนาและสามารถนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในสังคม พร้อมทั้งสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ตลอดจนสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน
หลังจากนี้ไปผู้นำรุ่นใหม่จากภาคเอกชนจะทำการ Workshop กับผู้บริหารสถานศึกษา ด้วยการวางแผนสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งภาคเอกชนจะให้การสนับสนุนและประเมินผลความคืบหน้าและความสัมฤทธิ์ผลของโครงการในทุกไตรมาส อีกทั้งต้องกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) ที่จะเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป |